ประเด็นร้อน

ประชาชน-ภาครัฐ-เอกชน 3 โจทย์ใหญ่ปฏิรูปคอร์รัปชัน

โดย ACT โพสเมื่อ Sep 07,2017

  - - สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ - -

 

ดารากร วงศ์ประไพ


          ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันถือเป็นปัญหาที่ฝังลึกอยู่ในสังคมไทยมาเป็นเวลานานและมีอยู่ทั่วไปในทุกระดับ ขณะเดียวกันผลการจัดอันดับโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เกี่ยวกับภาพลักษณ์การคอร์รัปชันปีที่ผ่านมาพบว่า ไทยหล่นจากอันดับที่76 ไปอยู่อันดับที่ 101 จาก175 ประเทศทั่วโลก

 

          ทุกวันที่ 6ก.ย.ของทุกปี องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(แห่งประเทศไทย) ได้กำหนดให้เป็น“วันต่อต้านคอร์รัปชัน” เพื่อกระตุ้นให้สังคมไทยเกิดความตื่นตัวในการต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชัน ที่ยิ่งนับวันจะยิ่งมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบที่สลับซับซ้อนมากขึ้น ขณะที่การขับเคลื่อนแผนปฏิรูปในขณะนี้ถูกจับตาจากภาคส่วนต่างๆถึงทิศทางที่จะเกิดขึ้น

 

          เจษฎ์ โทณวณิก ในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ อธิบายว่า ประเด็นสำคัญที่สุดคือการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ ตั้งแต่การทำความเข้าใจถึงปัญหาและพิษภัยของการทุจริตคอร์รัปชัน รวมทั้งการช่วยกันเป็นหูเป็นตาก็ในเรื่องดังกล่าว

 

          ขณะเดียวกันการทำงานร่วมกันของภาคส่วนต่างๆทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาคเอกชน ก็จะสามารถช่วยกันหาวิธีเพื่อไม่ให้ภาคเอกชนไม่เข้าไปเป็นส่วนในการก่อให้เกิดทุจริตคอร์รัปชันได้ รวมทั้งในส่วนของภาคราชการที่จะต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาในการดำเนินกิจการต่างๆให้เป็นไปอย่างโปร่งใส รวมทั้งภาคการเมืองโดยประชาชนต้องเริ่มตั้งแต่การเลือกผู้แทนทั้งระดับท้องถิ่นหรือในประดับประเทศ ที่จะต้องไม่เลือกคนที่เคยมีประวัติในเรื่องการทุจริตให้เข้ามามีอำนาจ

 

          ในส่วนที่2 คือในส่วนของภาครัฐทั้ง ภาคการเมืองซึ่งขณะนี้เรามีกฎหมายต่างๆทั้งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ซึ่งก็มีจัดไว้พอสมควรแล้ว โดยสิ่งที่สำคัญคือการนำกฎหมายมาใช้ให้ได้ผลจริงอาจจะยังขาดตกบกพร่องซึ่งภาคการเมืองก็ต้องทำให้ได้

 

          ขณะเดียวกันในส่วนของราชการจะต้องมีกฎหมายที่คุ้มครองการทำหน้าที่ของข้าราชการเพื่อให้ข้าราชการคิดทุจริตอันอาจเกิดจากการบีบบังคับโดยนักการเมือง หรือจากภาคเอกชนที่มีอำนาจในทางเศรษฐกิจมากกว่า ในการบีบบังคับให้ทำสิ่งไม่ดี เพราะถ้าไม่มีกฎหมายคุ้มครองต่อไปเมื่อเขาทำอะไรแล้วถูกบีบบังคับหรือแก้โดยนักการเมืองนำมาใช้ในทางไม่ดีก็จะทำให้ข้าราชการเสียกำลังใจ

 

          ในทางกลับกันหากข้าราชการเหล่านี้ไปทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของนักการเมืองหรือเข้าไปร่วมกับภาคเอกชนในการทุจริตประพฤติมิชอบการลงโทษก็ต้องลงโทษหนัก สามารถดำเนินการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้อย่างแท้จริง

 

          ในส่วนของ ภาคเอกชนควรจะมีการออกกฎหมายที่จะมาบังคับให้มากขึ้นเพราะบางครั้งอาจจะไม่ได้เกิดทุจริตโดยตรงเช่นการจ่ายสินบน แต่อาจจะมาในรูปของการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมหรือการใช้การเอื้อประโยชน์ในทางการค้าในบางรูปแบบซึ่งจะต้องมีกฎหมายที่สามารถดำเนินการในส่วนนี้ได้อย่างเข้มงวดมากขึ้น เพราะการทุจริตในรูปแบบของทุจริตการเมืองขณะนี้เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ

 

          จึงต้องมีแนวทางที่ทำให้ภาคเอกชนคิดที่จะประกอบธุรกิจในทางสุจริต การได้ผลประโยชน์ทางการค้าต้องได้มาโดยชอบไม่ใช้การร่วมมือกับภาครัฐหรือประชาชนบางกลุ่ม

 

          นอกจากนี้ในส่วนของภาคประชาสังคมหรือเอ็นจีโอ ก็ต้องทำหน้าที่ในการประสานงานภาครัฐมากขึ้นและสามารถดึงประชาชนทั้งหลายให้มีความเป็นตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง ก็จะทำให้วงจรการทุจริตประพฤติมิชอบถูกบีบลงให้สามารถเป็นเรื่องที่ทำได้ยากขึ้น ก็จะทำให้การทุจริตลดน้อยถอยลง

 

          ทั้งนี้ประเด็นการแก้ปัญหาการทุจริตในภาครัฐซึ่งก่อนหน้านี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ออกมาเสนอแนวคิดการเพิ่มขอบเขตข้าราชการในการยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้น มองว่าก็มีความเป็นไปได้ แต่สิ่งที่จะเป็นประเด็นปัญหาของการให้ข้าราชการยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้นมีอยู่ 3 ประการคือ

 

1.เมื่อยื่นแล้วเปิดเผยหรือไม่ เพราะหากต้องเปิดเผยก็จะต้องเกิดความวุ่นวายเป็นอย่างมาก

 

2.ใครจะเป็นคนดำเนินการเก็บรวบรวมและ

 

3.หากเป็นข้าราชการทั้งหมดรายละเอียดก็จะเยอะมากซึ่งข้าราชการจะต่างกับนักการเมืองตรงที่ว่าไม่มีใครมาช่วยดูข้อมูลในส่วนนี้ให้ นอกจากนี้หากข้าราชการไปทำธุรกิจส่วนตัวนอกเวลาราชการหรือได้รับมรดกก็จะต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ตรงนี้เป็นระยะเวลานาน ดังนั้นแนวคิดดังกล่าวจึงมีความเป็นไปได้แต่ก็อาจจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ

 

          อย่างไรก็ดีการจัดตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้อย่างศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนั้น จะได้ผลหรือไม่เราต้องมองว่าคดีทุจริตลดลงหรือไม่แต่ถ้าจะมีการตั้งศาลทุจริตมากขึ้นเรื่อยๆก็จะกลายเป็นว่า มีการแก้ปัญหาที่ไม่ได้ผล ดังนั้นการจะต้องว่ามีศาลที่มีประสิทธิภาพอย่างเดียวคงไม่ได้

 

          "การทำงานร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ จะสามารถช่วยกันหาวิธี ไม่ให้เกิดทุจริตได้"

 

 

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน


Follow LINE: http://bit.ly/2vDtGHV
Follow Facebook: http://bit.ly/2x3oArO