ประเด็นร้อน

รัฐดัน ก.ม.ปราบโกง 4 ชั่วโคตร ฟันขรก.-ญาติรับสินบน สกัดกิ๊ก-คู่รักแอบรับเงินใต้โต๊ะ

โดย ACT โพสเมื่อ Sep 12,2017

  - - สำนักข่าวเดลินิวส์ - -

 

ปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในภาครัฐ มีผลพวงจากการที่นักการเมือง ข้าราชการ หรือผู้บริหารองค์กร อาศัย สถานการณ์กระทำการโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง จนมีผลต่อการตัดสินใจในโครงการภาครัฐใหญ่น้อย ทำให้ไขว้เขวในหน้าที่รับผิดชอบ งบประมาณที่มาจากเงินภาษีของคนทั้งประเทศเกิดการใช้สอยอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เกิดการรั่วไหล กลายเป็นมะเร็งร้าย ที่ฝังตัวและกัดกินประเทศไทยมายาวนาน

 

          วิกฤติการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยก็มีรากฐานจากการ ทุจริตคอร์รัปชั่น การก้าวเข้ามาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 57 นอกจากมีเจตนาเพื่อยุติปัญหาวิกฤติ ความขัดแย้งทางการเมืองในขณะเดียวกันยังมุ่งเน้นความสำคัญของปัญหาการ ทุจริตคอร์รัปชั่น

 

          โดยมีมาตรการออกมา อาทิ การใช้อำนาจตามมาตรา 44 หรือการขับเคลื่อนผ่านกลไกภาครัฐปกติในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่ได้แถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ข้อ 10 การส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาลและการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ ตลอดจนยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นวางใจในระบบราชการ

 

          ต่อมาได้มีการประกาศให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็น "วาระแห่งชาติ" พร้อมชักชวนให้ข้าราชการและประชาชนทั่วประเทศประกาศเจตนารมณ์ "ต่อต้านการทุจริตและสร้างจิตสำนึกไทยไม่โกง" อีกด้วย

 

          ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 60 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. ...พร้อมส่งต่อให้ สนช. ได้พิจารณาและรับหลักการในวาระแรกโดยทันที

 

          เหตุผลที่จำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้นก็เพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเข้มงวด ให้การบริหารงานของรัฐเป็นไปด้วยความโปร่งใส เปิดเผย เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ประกอบกับต้องให้ประชาชนปราศจากความเคลือบแคลงสงสัยในความซื่อสัตย์สุจริตและความรับผิดชอบของผู้มีหน้าที่ในการบริหารงานของรัฐ

 

          "เนื้อหาหลักนอกจากเป็นการงัดกฎหมายมาจัดการกับบุคลากรที่ทุจริตในวงราชการ ยังเชื่อมโยงเอาผิดกับผู้มีประโยชน์ทับซ้อนที่ผูกพันในระดับครอบครัวและเครือญาติ ถึง 4 ชั่วโคตร ตั้งแต่ 1.ผู้สืบสันดาน 2.บุพการี 3.คู่สมรสของบุตร และ 4.พี่น้องและบุตรบุญธรรมคู่สมรส ไฮไลต์สำคัญ คือ กิ๊ก เมียน้อย ภรรยาหรือสามีนอกกฎหมายที่ซุกไว้หากตรวจสอบความสัมพันธ์ได้ก็มีความผิดไปด้วย"

 

          ร่าง พ.ร.บ. 4 ชั่วโคตรนี้ มีเนื้อหารวมทั้งสิ้น 29 มาตรา อาทิ ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรับของขวัญ ของที่ระลึก เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ในการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติงานตามตำแหน่งหน้าที่ของตนหรือตามที่ได้รับมอบหมาย และกำหนดห้ามคู่สมรสและญาติของเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย

 

          ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ยังไม่ถึง 2 ปี เป็นกรรมการ ที่ปรึกษา หรือดำรงตำแหน่งอื่นในธุรกิจของเอกชนซึ่งเคยอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของตน และรับเงินหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นจากธุรกิจของเอกชนดังกล่าวเป็นพิเศษ และกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องแสดงข้อมูลและรายได้จากการดำรงตำแหน่งการประกอบอาชีพ วิชาชีพหรือกิจกรรมอื่น ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นต้น

 

          พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ อดีต ส.ว. และหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ บอกว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ผ่านที่ประชุมกรรมาธิการไปแล้ว 2 ครั้ง ยังมีหลายคนไม่เข้าใจคิดว่าถูกร่างขึ้นมาเพื่อนำไปใช้รังแกใครหรือไม่ อันที่จริงที่ผ่านมาสังคมไทยไม่ใช่เฉพาะในแวดวงข้าราชการเท่านั้นที่กินอยู่กันฉันสามีภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส บางกลุ่มหย่าขาดกันโดยนิตินัย หรือเรียกง่าย ๆ ว่า "หย่าการเมือง" ทั้งที่คู่สามีภรรยาก็มีผลประโยชน์ร่วมกันอยู่

 

          อีกทั้งมีข้าราชการบางกลุ่มบางรายใช้อำนาจรัฐไปรังแกคนอื่น พอมีกฎหมายห้ามรับสินบนรับเงินใต้โต๊ะ ก็เลี่ยงไปไหว้วานญาติพี่น้องเป็นทางผ่านเข้ามารับผลประโยชน์แทนตัวเอง มีหลายกรณีเช่นกันที่บรรดาญาติพี่น้องของข้าราชการแอบอ้างหน้า ที่การงานไปแสวงหาประโยชน์โดยที่เจ้าตัวไม่รู้เรื่อง

 

          จึงสมควรต้องมีการกำหนดบทลงโทษทั้งพวกที่แอบอ้างและพวกที่เป็นทางผ่านในการรับผลประโยชน์ให้ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย และเป็นที่ มาของการกำหนดนิยาม คำว่า "ญาติ"  ให้ชัดเจนในร่าง พ.ร.บ. 4 ชั่วโคตรฉบับนี้

 

          ที่สำคัญการตรากฎหมายฉบับนี้ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เป็นไปตามมติสหประชาชาติ ซึ่งถือว่าการกระทำการของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีลักษณะผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest) เป็นการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างหนึ่ง รวมถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 หรือ UNCAC2003 ก็มีบทบัญญัติกรณีนี้เอาไว้อย่างชัดเจน

 

          "ขอยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นประโยชน์ต่อคนไทยทุกคน" พล.อ.อ.วีรวิท ระบุ

          และปัญหาคอร์รัปชั่นของไทยจะดีขึ้นในสายตาชาวโลก หรือไม่ ต้องใช้กฎหมายฉบับนี้ของรัฐบาลประยุทธ์เป็นตัวชี้วัด และต้องถือว่าเป็นอีกหนทางในการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตลอด 3 ปีที่ได้เดินหน้าพยายามกำจัดมะเร็งร้ายให้หมดไปจากประเทศไทย.

 

          ม.44 กำราบนักการเมือง-ขรก.

          เดือน พ.ค. 58-เดือน ก.ย. 59 คสช.ได้ใช้ ม.44 สั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ระหว่างถูกตรวจสอบกรณีทุจริตหรือประพฤติมิชอบไปอีกหลายต่อหลายครั้ง ดังนี้ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 58 จำนวน 45 คน, วันที่ 25 มิ.ย. 58 รวม 71 คน, วันที่ 5 ม.ค. 59 รวม 59 คน, วันที่ 21 ก.ค.59 รวม 60 คน, วันที่ 26 ก.ค. 59 จำนวน 1 คน, วันที่ 25 ส.ค.59 และ วันที่ 2 ก.ย. 2559 รวม 21 คน รวมที่ถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงนั้นไปทั้งสิ้น 259 คน

 

          อาทิ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพ มหานคร, นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายก อบจ.เชียงใหม่, นายพรชัย โควสุรัตน์ นายก อบจ.อุบลราชธานี เป็นต้น.

 

          ผลการขับเคลื่อนกลไกปราบทุจริต

          3 มิ.ย. 57 คสช. แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.)

          24 พ.ย. 57 จัดตั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติทุกหน่วยงานภาครัฐ

          15 ธ.ค. 57 แต่งตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ประสาน คสช.-รัฐบาล-ภาคประชาชน

          8 มิ.ย. 58 รัฐบาลประกาศให้การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นเป็น "วาระแห่งชาติ"

          1 ส.ค. 60 ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. ...

          17 ส.ค. 60 สนช. รับหลักการในวาระแรก และหลังจากนี้จะมีผลออกมาอย่างไรก็ต้องดูตามกระบวนการที่จะเกิดขึ้นต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน


Follow LINE: http://bit.ly/2vDtGHV
Follow Facebook: http://bit.ly/2x3oArO