ประเด็นร้อน

เปิดศักราชใหม่"กรมศุลกากร" เพิ่มความสะดวกสบายธุรกิจรับไทยแลนด์ 4.0

โดย ACT โพสเมื่อ Nov 20,2017

- - สำนักข่าวไทยรัฐ - -

 

หนึ่งในแนวทาง "การปฏิรูปประเทศของรัฐบาล" คือการปฏิรูปหน่วยงานราชการให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โละล้างพฤติกรรมการทำงานแบบเช้าชามเย็นชามทุจริตคอร์รัปชันให้หมดไป

         

"กรมศุลกากร" 1 ในหน่วยงานที่ในอดีตเคยถูก "เพ่งเล็ง" มากที่สุดในเรื่องการให้บริการการนำเข้า-ส่งออก และความล่าช้าของระเบียบพิธีการศุลกากรเป็นอีกหน่วยงานที่กำลังเดินหน้าปฏิรูปอย่างเต็มที่ และวันนี้ได้ประกาศชัดเจนว่า กำลังจะ "เปลี่ยนไป" หลังจากได้ "ยกเครื่อง" พ.ร.บ.กฎหมายศุลกากรใหม่ พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย. 2560 เป็นต้นมาแทน "พระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469" ที่ใช้มายาวนานกว่า 91 ปี

         

โดยมุ่งสนองนโยบายของรัฐบาลในการปฏิรูปกฎเกณฑ์อันล้าสมัยลดการทุจริตคอร์รัปชันและยังสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกรองรับนโยบาย"ไทยแลนด์4.0"

         

"ทีมเศรษฐกิจ" สัมภาษณ์ นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ถึงการปฏิรูปกฎหมายศุลกากรฉบับใหม่นี้จะพลิกโฉมหน้าของกรมศุลกากรสนองนโยบายของรัฐบาล

         

ย้อนรอยเส้นทางยกเครื่อง "ก.ม.ศุลกากร"

         

"พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากที่กฎหมายเดิมถูกใช้มาอย่างยาวนานถึง 91 ปี  โดยไม่ได้มีการปรับปรุงเนื้อหากันมากนัก ทำให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรต้องใช้กฎหมายที่ล้าหลังไม่เอื้ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ "อธิบดีกรมศุลกากรได้ย้อนรอยถึงการยกเครื่องแก้ไขกฎหมายศุลกากรฉบับล่าสุด

         

พร้อมระบุว่า การยกร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ก็ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปแล้วกรมฯไม่ได้อยู่ในฐานะ จะจัดเก็บภาษีได้เป็นกอบเป็นกำ เช่น ในอดีตบทบาทและหน้าที่ใหม่ของเราคือ การดูแลสังคมเช่นการปราบปรามยาเสพติดและการป้องกัน ไม่ให้สินค้าหนีภาษีเล็ดลอดเข้ามาในประเทศเป็นต้น

         

ขณะเดียวกัน ก็มีบทบาทในการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและประชาชนเป็นหลัก "จึงเป็นที่มาของการลดใช้กฎหมายและต้องแก้ไขทุกอย่างให้ทันสมัยมากขึ้น สาระหลักของการยกเครื่องกฎหมายศุลกากรนั้นประกอบด้วย 1.การประเมินอากรถูกต้องแม่นยำและรวดเร็ว 2.การนำเทคโนโลยีใหม่ๆหรือ "ไอที" เข้ามาใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการและ 3.การพัฒนาเขตปลอดอากร(FreeZone)"

         

มุ่งเน้นปราบปรามทุจริต

         

อธิบดีกรมศุลกากรได้อรรถาธิบายถึงหลักการของกฎหมายศุลกากรฉบับใหม่ว่าในประเด็นที่ 1.เรื่องการประเมินอากรถูกต้องแม่นยำ

         

และรวดเร็วนั้นในอดีตเป็นข้อครหาที่กรมศุลกากรถูกโจมตีอย่างหนักทั้งจากผู้ประกอบการและนักการเมืองว่า การประเมินอากรศุลกากรนั้นต่างหวังผลประโยชน์จากเงินสินบนนำจับมากเกินไป

         

ตัวอย่างเช่นแต่เดิมผู้ประกอบการ จ่ายค่าปรับจำนวน 100 ล้านบาทจะถูกแบ่งออกเป็น2ส่วนใหญ่ๆคือ45%หรือ45ล้านบาทจะนำส่งเข้าคลังที่เหลือ 55% หรือ 55 ล้านบาท จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ผู้ชี้เบาะแสจะได้รับเงินรางวัลไป 30 ล้านบาท และส่วนที่สองคือเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมที่จะได้เงินรางวัลไป 25 ล้านบาท

         

วิธีการนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมเพราะมองว่า เจ้าหน้าที่จับกุมต้องการเงินสินบนนำจับมากกว่า จึงมีการวิ่งเต้นจ่ายเงินใต้โต๊ะให้แก่เจ้าหน้าที่ ทำให้เกิดช่องโหว่เกิดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตามมา

         

"แต่กฎหมายใหม่จะระบุอย่างชัดเจนว่า ส่วนแบ่งเงินรางวัลสูงสุดของเจ้าหน้าที่จะได้รับเงินไม่เกิน 20% หรือสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท  นอกจากนี้ยังกำหนดให้เจ้าหน้าที่ที่จับกุมต้องเป็นผู้รวบรวมเอกสารและชี้ข้อมูลความผิดของผู้ประกอบการในการเสียภาษีไม่ครบถ้วน ด้วยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ผู้ถูกจับกุมต้องเป็นผู้ชี้แจงนำเอกสารหลักฐาน ส่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอง"

         

ที่สำคัญกฎหมายใหม่ยังกำหนดระยะเวลาการประเมินภาษีอากรเอาไว้อย่างชัดเจน โดยเจ้าหน้าที่ต้องประเมินภาษีที่ถูกเปรียบเทียบปรับให้แล้วเสร็จ ภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ผู้ประกอบการยื่นใบขนสินค้าจากเดิม ไม่มีกำหนดระยะเวลา ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่า ผู้ประกอบการเสียภาษีไม่ครบถ้วนถูกต้องตามที่สงสัย ก็สามารถทำรายงานเสนอต่ออธิบดีกรมศุลกากรขอขยายเวลาในการพิจารณาคดี เพื่อประเมินภาษีต่อไปได้อีก 2 ปี  และในกรณีที่พบว่า ผู้ประกอบการกระทำความผิดจริงแต่เอกสารหลักฐานมีจำนวนมาก อาจขอขยายระยะเวลาทำสำนวนไปได้อีก 5 ปี

         

ส่วนกรณีผู้ถูกจับกุมและถูกเรียกเบี้ยปรับเงินเพิ่มเห็นว่า ไม่ได้รับความยุติธรรมก็สามารถขออุทธรณ์กับกรมศุลกากรได้ โดยกฎหมายใหม่ให้อำนาจกรมศุลกากรตั้งคณะกรรมการอุทธรณ์ขึ้นมา ทั้งหมด 3 ชุด ประกอบด้วยคณะกรรมการอุทธรณ์ทางด้านพิกัด คณะกรรมการอุทธรณ์ทางด้านกฎหมาย และคณะกรรมการอุทธรณ์ ทางด้านราคาสินค้าจากเดิมที่มีอยู่เพียงชุดเดียว แต่ต้องรับผิดชอบคดีความนับพันๆคดี

         

ขานรับนโยบาย "ไทยแลนด์4.0"

         

ส่วนหลักการที่ 2 การนำเทคโนโลยีหรือไอทีเข้ามาใช้ในการทำงานของเจ้าหน้าที่นั้น มีวัตถุประสงค์หลักคือ 1.ความสะดวกสบายให้แก่ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกสินค้า 2.ประหยัดเวลาและ 3.ลดการทุจริตของเจ้าหน้าที่เพราะระบบไอที จะทำให้เจ้าหน้าที่พบผู้ประกอบการหรือชิปปิ้ง(ตัวแทนออกของ) น้อยที่สุด!

         

ทั้งนี้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมากรมศุลกากรได้เริ่ม "โครงการพันธมิตรศุลกากร" เปิดให้ผู้นำเข้าสินค้ารายใหญ่ เช่นกลุ่ม เหล็ก รถยนต์ อุปกรณ์ไอที อิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก รวมถึงหอการค้าต่างประเทศรวมกว่า 325 บริษัท เข้ามาทำงานร่วมกันและเป็นพันธมิตรกับกรมศุลกากรในการสร้างความโปร่งใสและทำงานไปพร้อมๆกัน

         

ล่าสุดในปีงบประมาณ 2561 กรมศุลกากรได้เปิดตัว "แอพพลิเคชั่น" "HS Check" หรือ Harmonised System:HS ซึ่งเป็นการนำพิกัดศุลกากรทั้งหมดบรรจุไว้บนมือถือ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบพิกัดภาษีได้ล่วงหน้าว่าของที่จะนำเข้ามา จะมีปัญหาหรือไม่และเสียภาษีจำนวนเท่าไหร่?

         

"แอพดังกล่าว จะมีรูปภาพสินค้าแสดงให้เห็นพร้อมคำวินิจฉัยในอดีตเป็นตัวอย่าง เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการรับทราบว่า สินค้าที่ตัวเองนำเข้าจะเสียภาษีนำเข้ากี่เปอร์เซ็นต์ และคำวินิจฉัยเก่า จะช่วยทำให้ผู้ประกอบการไม่ถูกเจ้าหน้าที่ หรือตัวแทนออกของ (ชิปปิ้ง) ตุกติกเรียกเก็บภาษีและค่าบริการอย่างไม่เป็นธรรม"

         

นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังได้ร่วมมือกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จัดการและควบคุมการขนส่งสินค้าขาออก โดยระบบตู้คอนเทนเนอร์ ผ่านท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือกรุงเทพ ด้วยการบูรณาการระบบการทำงานของ 2 หน่วยงาน ณ จุดเดียว

         

โดยได้นำระบบตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Matching) เชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบ National  Single Window:NSW เพื่อลดเอกสารลดขั้นตอนการทำงานลดปัญหาการจราจรและลดระยะเวลาการให้บริการต่อตู้เหลือเพียง 20 วินาที จากเดิมประมาณ 3-5 นาที ต่อหนึ่งใบขนสินค้าเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งสามารถจะลดภาระค่าใช้จ่ายและค่าเสียเวลาลงได้ปีละกว่า 2,500 ล้านบาท และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ถึงปีละกว่า 3,500 ล้านบาท

         

"วันที่ 1 ม.ค. 2561 นี้ กรมศุลกากรพร้อมจะเปิดให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์อีก 3 รูปแบบคือ 1.Pre-Arrival หรือระบบการตรวจปล่อยและชำระค่าภาษีสินค้าล่วงหน้า ที่ด่านสนามบินและท่าเรือ 2.e- Transhipment หรือการถ่ายลำสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการนำระบบไอทีเข้ามาช่วยในการขนถ่ายลำ เพื่อยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางการถ่ายลำสินค้าระหว่างประเทศ และ 3.การอำนวยความสะดวกในการส่งออกสินค้าผ่านท่าเรือแหลมฉบังกับท่าเรือคลองเตย ซึ่งจะเป็นการตรวจสินค้าในจุดเดียว"

         

ผุด "ฟรีโซน" ดึงอาลีบาบา-ลาซาด้า

         

สำหรับหลักการที่ 3 การพัฒนาเขตปลอดอากร (FreeZone) จะมุ่งเน้นไปที่ "โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี)" ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัด ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งรัฐบาลมีเป้าหมายให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อสนับสนุนนักลงทุนที่ลงทุนทางด้านนวัตกรรม

         

โดยกรมศุลกากรจะนำเทคโนโลยีด้านไอทีมาใช้ เพื่อให้อีอีซีเป็นเขตปลอดอากรอย่างแท้จริง โดยวัตถุดิบจะไม่มีภาระภาษีและไม่ต้องขอใบอนุญาตตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงกระบวนการผลิตในเขตอีอีซี" เขตปลอดอากรจะมีรูปแบบสอดคล้องกับ e-Commercepark ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลในการทำให้อีอีซีเป็นจุดที่นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจเลือกที่จะลงทุนได้อย่างรวดเร็ว ล่าสุด lazada และ alibaba ได้ตัดสินใจที่จะเข้ามาลงทุนเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นกรมศุลกากรต้องมีระบบการกำกับดูแลที่ดี เนื่องจากสินค้าที่อยู่ใน e-Commercepark มีเป็นหมื่นๆรายการและถูกขนย้ายเข้ามาทั้งทางเครื่องบินรถยนต์และรถไฟจากทั่วทุกมุมโลก"

         

ทั้งนี้กรมศุลกากรจะนำเทคโนโลยีที่เรียกว่า "e-Lock"ซึ่งเป็นกุญแจอิเล็กทรอนิกส์ที่ล็อกตู้คอนเทนเนอร์ โดยจะเปิดตู้ได้ก็ต่อ เมื่อใช้คีย์การ์ดถอดรหัส e-Lock ที่มีอยู่เฉพาะต้นทางและปลายทางเท่านั้นเพื่อไม่ให้มีการเปิดตู้ระหว่างเส้นทางเดินรถ วิธีการนี้จะทำให้ผู้ประกอบการในเขตปลอดอากรไม่ต้องเขียนใบขนสินค้าอีกต่อไป

         

ขณะที่รายการของวัตถุดิบหรือสินค้าที่จะส่งเข้าเขตปลอดอากรจะถูกส่งด้วย PreArrival จากต้นทางและเมื่อสินค้าเข้าสู่เขตอีอีซีแล้ว ก็จะถูกนำไปแปรรูปกลายเป็นสินค้าใหม่ ซึ่งในกรณีที่สินค้าถูกส่งออกไปยังต่างประเทศก็จะให้ระบบ e-Lock ตั้งแต่ต้นทางและเปิดได้ เฉพาะด่านท่าเรือ หรือสนามบินเท่านั้น

         

นายกุลิศกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า "แผนงานที่ได้วางไว้นี้ยังต้องใช้เวลาในการปรับปรุงโดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาของตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร ได้วางระบบอิเล็กทรอนิกส์และไอที เพื่อรองรับอนาคตเพื่อปฏิรูปให้ข้าราชการกรมศุลกากรเข้าสู่ยุค4.0ซึ่งขณะนี้ผ่านพ้นไปได้เกือบทั้งหมดแล้วยังติดขัดก็เพียงเทคนิคทางด้านการปฏิบัติ"

         

ส่วนผลการจัดอันดับ DoingBusiness หรือความยากง่ายในการทำธุรกิจที่ธนาคารโลกประกาศไปเมื่อปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา โดยประเทศไทยได้รับการปรับอันดับดีขึ้นจาก อันดับที่ 46 มาอยู่ที่ 26 ดีขึ้นถึง 20 อันดับ แต่ทางด้านกรมศุลกากรกลับถูกปรับลดอันดับลงจาก อันดับที่ 56 ลงมาเป็น 57 ได้คะแนน 84 เท่าเดิมโดยมีหมายเหตุว่า To Be Continued (ติดตามต่อไป)นั้น "ยืนยันว่า การพัฒนาด้านอิเล็กทรอนิกส์และไอทีของเราเดินมาถูกทางแล้ว แต่ที่ยังล่าช้าเพราะกฎหมายเดิมไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิรูปข้าราชการศุลกากรธนาคารโลก จึงใส่ To Be Continued ไว้เพราะยังรอผลในทางปฏิบัติ

         

มั่นใจว่าภายใต้ พ.ร.บ.ศุลกากรใหม่ และการเปิดตัวบริการใหม่ๆที่ทันสมัยมากขึ้นหลายบริการในวันปีใหม่ 1 ม.ค. ที่จะถึงนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน!!!

 

 

 

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw