ประเด็นร้อน

วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti-corruption Day)

โดย ACT โพสเมื่อ Dec 08,2017

- - สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ - -

 

โดย : ฐนยศ คีรีนารถ

         

ท่านทั้งหลาย คอร์รัปชัน (Corruption) “นับวันจะเป็นภัยพิบัติร้ายแรงของโลก” เลวร้ายยิ่งกว่าภัยพิบัติที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เพราะเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ไม่เลือกสถานที่และเวลา ทั้งไม่มีฤดูกาล เป็นอุปสรรคในการพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของมวลมนุษยชาติทั้งมวล

         

ปัญหาคอร์รัปชัน นับวันจะรุนแรงและซับซ้อนรูปแบบมากยิ่งขึ้น ทั่วโลกจึงศึกษาค้นคว้าหาหนทางป้องกันและปราบปรามอย่างจริงจังและเร่งด่วนเป็นที่สุด

         

United Nations Office on Drug and Crime หรือ UNODC และ United Nations Development Programme หรือ UNDP เป็นหน่วยงานของสหประชาชาติว่าด้วยความร่วมมือกัน “ต่อต้านคอร์รัปชัน” (Anti-corruption) ซึ่งริเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2556 ที่ประชุมประเทศสมาชิก 168 ประเทศ มีมติร่วมกันกำหนดให้วันที่ 9 ธ.ค.ของทุกปี เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti-corruption Day) และถือเอาคำขวัญเป็นวลีว่า “Zero Corruption 100% Development” พร้อมเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมมือกันปราบปรามคอร์รัปชันให้หมดสิ้นโดยเร็ว

         

ไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องผจญภัยกับปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน เป็นลำดับต้น ๆ ของโลก ดัชนีคอร์รัปชันในสังคมไทย ปี 2559 อยู่อันดับที่ 101 ของโลก เป็นอุปสรรคในการใช้งบประมาณของแผ่นดินพัฒนาประเทศชาติอย่างรุนแรง ทั้งเป็นต้นเหตุให้คนในชาติแตกแยก ขาดความสามัคคี แยกพวก แยกถิ่น แยกภาค เพราะผลประโยชน์ขัดแย้งไม่ลงตัว นับว่าเป็นภัยพิบัติอย่างร้ายแรง

         

ปัจจุบัน รัฐบาลและคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช. โดยความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ได้ตรากฎหมายหรือบัญญัติกฎหมายออกมาใช้บังคับหลายฉบับ เพื่อป้องกันปราบปรามและลงโทษผู้กระทำความผิด ฐานทุจริตคอร์รัปชันอย่างรุนแรง เช่น ให้พิจารณาและพิพากษาคดีลับหลังจำเลย กรณีจำเลยซึ่งเป็นนักการเมืองหลบหนีไม่ไปศาล หรือให้คดีไม่มีอายุความ หรือไม่ขาดอายุความ

         

แต่ท่านผู้มีความรู้ดีทั้งหลายย่อมทราบดีอยู่แล้วว่า ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นกฎหมายหลักฉบับหนึ่ง ในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ยังมีจุดอ่อน หรือช่องว่าง หรือจุดด้อยอันควรจะได้รับการพิจารณาแก้ไขอย่างเร่งด่วน กล่าวคือ

         

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 บัญญัติให้ เจ้าพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับสินบน มีความผิด มีโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปี ถึงประหารชีวิต และมาตรา 144 บัญญัติให้ ผู้ใด ให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน มีความผิด มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี กล่าวคือ มีความผิดและต้องรับโทษทั้งเจ้าพนักงานผู้รับสินบนและประชาชนผู้ติดสินบน คือเป็นความผิดและลงโทษ “ทั้งหนูทั้งแมว” จึงร่วมกันปกปิด ปิดบัง ซ่อนเร้นวิธีดำเนินการ เพื่อ “หลบหนีความผิดทั้งคู่”

         

หลักการสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว มีหลายวิธี เช่น

         

1 บัญญัติกฎหมาย หรือแก้ไขกฎหมายให้เอาโทษเฉพาะเจ้าพนักงานผู้รับสินบนฝ่ายเดียว เพราะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องรักษากฎหมายอย่างเคร่งครัด และกำหนดให้ฝ่ายผู้ติดสินบนก็เป็นความผิด แต่ไม่เอาโทษตามทฤษฎี เจ้าพนักงานมีหน้าที่รักษากฎหมายยิ่งกว่าประชาชนทั่วไป หรือ

         

2 บัญญัติกฎหมายหรือแก้ไขกฎหมาย ให้กันผู้ติดสินบนไว้เป็นพยาน ไม่ต้องถูกดำเนินคดี โดยถือว่ายังเป็นผู้กระทำความผิด เพราะเป็นการกระทำมิชอบและผิดศีลธรรม ตามทฤษฎี การกันผู้ร่วมกระทำความผิดไว้เป็นพยานเพื่อปราบปรามลงโทษผู้กระทำความผิดแท้จริง หรือ

         

3 บัญญัติกฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายให้ฝ่ายเจ้าพนักงานที่รับสินบน หรือฝ่ายผู้ติดสินบน ที่เปิดเผยข้อมูลหลักฐานการทุจริตต่อเจ้าพนักงานก่อน ให้ไม่ต้องรับโทษ ตามทฤษฎี “ผู้เปิดเผยความผิดก่อน สมควรได้รับยกเว้นโทษ” ซึ่งเป็นที่นิยมในหลายประเทศ และ

         

4 บัญญัติกฎหมายหรือแก้ไขกฎหมาย ให้ประชาชนผู้มีหลักฐานการชำระภาษีประจำปี เป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย ให้มีอำนาจฟ้อง หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับ พนักงานอัยการได้ในคดีที่มีการทุจริตงบประมาณแผ่นดิน ตามทฤษฎี ประชาชนมีหน้าที่เฝ้าระวังงบประมาณแผ่นดิน

         

หากปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไข โดยเพิ่มหลักการดังกล่าวบางข้อ บางประการ ไว้ในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 เพื่อใช้พิจารณาพิพากษาคดีในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เชื่อได้ว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน จะได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง เพราะทั้งหนูทั้งแมว ต้องยั้งคิด ตัดสินใจและไม่กระทำความผิดอย่างง่ายดาย อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ จะเป็นผลดีในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชัน มากยิ่งขึ้น

         

ทั้งนี้ ตามที่สังคมไทยเรียกร้องให้บรรดาข้าราชการทุกระดับชั้น รวมทั้งข้าราชการการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติ แจ้งบัญชีทรัพย์สินตั้งแต่เริ่มเข้ารับราชการด้วยนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมา ได้รับข่าวสารว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ยกร่างกฎหมายเสนอสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้พิจารณาตรากฎหมายให้ข้าราชการทุกตำแหน่งต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินแล้ว เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นที่สุด

         

ขอท่านทั้งหลายมาช่วยกันใช้สติปัญญาและความรู้ของท่าน เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญยิ่งนี้กันเถิด และเพื่อทุก ๆ คนครับ

         

"ทั้งหนูทั้งแมวตั้งยั้งคิดตัดสินใจและไม่กระทำความผิดอย่างง่ายดาย"

 

 

 

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw