ประเด็นร้อน

เปิด 3 สมมติฐาน'บิ๊กป้อม'แจง'แหวน-นาฬิกา'

โดย ACT โพสเมื่อ Dec 14,2017

- - สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ - -

 

คอลัมน์ ล่าความจริง

 

แม้จะเล่นบท "เตมีย์ใบ้" สำหรับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ "พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์" ด้วยการงดจ้อสื่อชั่วคราว หลังงานเข้าจากกรณีฉาว "แหวนเพชรแทงตา-นาฬิกาสุดหรู"

 

แต่เรื่องนี้ดูท่าจะไม่จบง่ายๆ แม้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยุคนี้จะมีสภาพไม่ต่างอะไรจาก "ลูกไก่ในกำมือ" ของรัฐบาล คสช. ตรวจสอบทุจริตที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจในปัจจุบันไม่เคยสำเร็จเลยสักเรื่องก็ตาม เพราะความยากของการหลุดพ้นจากพงหนาม ก็คือขั้นตอนที่ "ป๋าป้อม" จะชี้แจงเป็นเอกสารต่อ ป.ป.ช.ว่าอย่างไรนี่แหละ

      

"ล่าความจริง" สรุปสมมติฐานที่เป็นไปได้สำหรับคำชี้แจงของ พล.อ.ประวิตร ซึ่งคาดการณ์ได้เช่นกันว่า ไม่ว่าจะชี้แจงอย่างไร...เรื่องฉาวนี้ก็ไม่มีวันจบ

    

สมมติฐานแรก หาก พล.อ.ประวิตร ชี้แจงว่าทั้งแหวนเพชรและนาฬิกาเป็นของตนเอง แต่ที่ยังไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. เพราะได้มาหลังปี 57 คือหลังรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาล "นายกฯลุงตู่" สังคมก็จะขุดคุ้ยหาความจริง ต่อว่า ราคาทรัพย์สินทั้งสองชิ้นนี้รวมกัน เป็นเท่าไร และนำเงินจากที่ไหนมาซื้อ เพราะหากทรัพย์สินทั้งสองชิ้นราคา ร่วมๆ 10 ล้านบาทหรือสูงกว่านั้น จะมีความสมเหตุสมผลแค่ไหนที่บุคคล ผู้มีทรัพย์สินรวมทั้งหมดเพียง 87 ล้านบาท อย่างที่ พล.อ.ประวิตร เคยแจ้งไว้ต่อ ป.ป.ช.เอาไว้ จะกล้าซื้อหามาสวมใส่

         

สมมติฐานที่ 2  หาก พล.อ.ประวิตร ชี้แจงว่า "แหวนเป็นของมารดา นาฬิกาเป็นของเพื่อน" ตามที่เป็นข่าว แบบนี้ในทางกฎหมายอาจมองได้ว่าพ้นผิด แต่สังคม อาจตั้งคำถามในแง่ที่ว่า เป็นการชี้แจงแบบ "ศรีธนญชัย" หรือเปล่า ที่สำคัญสังคมเชื่อหรือไม่ โดยเฉพาะนาฬิกา สุดหรูที่คาดว่าสนนราคาเรือนละเป็น ล้าน หรือหลักสิบล้านบาท จะมีคนใจดีหยิบยื่นให้ยืมใส่จริงหรือ

         

ส่วนแหวนเพชรเม็ดงาม หากชี้แจง ไม่ดีจะกลายเป็น "ลิ้นพันคอ" เพราะเจ้าตัว เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนมาก่อนแล้วว่าเป็นของตนเองที่มีมาแต่เดิม จนเกิดคำถามว่า "แต่เดิม" นั้นคือเมื่อไร ก่อนปี 57 หรือไม่ ถ้าก่อนปี 57 ทำไมไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สิน แล้วถ้าได้มาหลังปี 57 และเป็นของตนเอง ก็จะถูกถามต่ออีกว่าเอาเงินที่ไหนมาซื้อ

         

จะว่าไปคำตอบที่ปลอดภัยที่สุดในขณะนี้ ซึ่งอาจอนุมานได้ว่าเป็น "สมมติฐานที่ 3" คือเป็นทรัพย์สินที่ได้มาหลังปี 57 แหวนเพชรเป็นแหวนของตระกูล แต่ยังไม่เป็นมรดก เลยยังไม่ได้แจ้ง ซึ่งก็น่าจะพอฟังได้ แต่นาฬิกาหรูนี่สิหนักกว่า หากเพิ่งซื้อมาใส่ ก็จะถูกขุดคุ้ยว่าราคาเท่าไร ซื้อจากใคร ซื้อเอง จริงหรือไม่ เพราะนาฬิกายี่ห้อนี่มีตัวแทนจำหน่ายเพียงรายเดียวในประเทศไทย เช็คหาต้นตอได้ไม่ยาก

         

สืบไปสืบมา หากเข้าข่ายเป็นของกำนัลหรือของขวัญ ก็เสี่ยงเป็นความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 103 ว่าด้วยการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ในราคาเกิน 3,000 บาทอีกด้วย

         

ยิ่งไปกว่านั้น คำถามที่แหลมคมกว่าการเชื่อหรือไม่เชื่อของสังคม ก็คือ ป.ป.ช.มีสิทธิเชื่อคำชี้แจงแบบที่ตั้งสมมติฐานมานี้หรือไม่ เพราะล่าสุด วิลาศ จันทร์พิทักษ์มือปราบทุจริตจากค่ายประชาธิปัตย์ ก็ออกมาบอกว่า ถ้า ป.ป.ช.เชื่อคำชี้แจงแบบนี้ คงต้องยุบ ป.ป.ช.ก่อนเลย

         

และที่สำคัญจะกลายเป็นประเด็นสองมาตรฐานต่อไปว่า เหตุใดบัญชีทรัพย์สินของคนอื่นถึงถูกตรวจแบบถี่ยิบ ซุกเก่งอย่างไรก็ไม่รอดมือ ป.ป.ช. ไม่ว่าจะกรณีซุกเงินกู้ของ "เสธ.หนั่น" พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ หรือกรณีซุกหุ้นข้ามโลกของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ก็ตาม ที่ประมาทไม่ได้คือกระแสสังคม ซึ่งเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลทหารที่ยังคิดว่าสังคมไม่มีพลังมากพอ ทั้งๆ ที่การแสดงตนว่า "ร่ำรวย" ของผู้มีอำนาจทางการเมือง ย่อมเสี่ยงที่จะถูกตีตราว่า "ร่ำรวยผิดปกติ" หนำซ้ำยังร่ำรวย ฟุ้งเฟ้อ ฟู่ฟ่า ในห้วงเวลา ที่บ้านเมืองกำลังข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจฝืดเคือง แม้ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่ก็ได้ประโยชน์แค่คนบางกลุ่มบางเซคเตอร์ ที่แย่คือ เอสเอ็มอี กับชาวบ้านตาดำๆ...

         

แล้วจะยังให้พวกเขาทนเห็นเสนาบดีรวยเอาๆ สวมเครื่องประดับราคาแพงเป็นสิบล้านตำตาได้จริงๆ หรือ?

 

 

 

 

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw