ประเด็นร้อน

เจ้าภาพโผล่แล้ว! ยื่นศาลตีความต่อวีซ่า ป.ป.ช.

โดย ACT โพสเมื่อ Jan 17,2018

- - สำนักข่าวไทยโพสต์ - -

 

สถานการณ์ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประเด็นร้อนแรงที่สุดประเด็นหนึ่งในขณะนี้คือ  การเข้าชื่อกันเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีที่ประชุม สนช.ลงคะแนนร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ... มาตรา 178 ยกเว้นคุณลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ประธานและกรรมการ ป.ป.ช.บางคนได้ดำรงตำแหน่งต่อซึ่งอาจขัดรัฐธรรมนูญ

 

โดยต้นเรื่องเริ่มจากนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทำหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เพื่อท้วงติง โดยสรุปใจความสั้นๆ ว่าศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยครอบคลุมแค่ให้ยกเว้นคุณสมบัติเท่านั้น แต่ยังไม่เคยวินิจฉัยการยกเว้นลักษณะต้องห้าม ดังนั้นอำนาจสุดท้ายที่จะยุติได้คือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

 

ทั้งนี้ หลังจากที่ครบกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ป.ป.ช.และ กรธ.ส่งหนังสือทำความเห็นโต้แย้งมายัง สนช.เมื่อวันศุกร์ที่ 12 ม.ค.แล้วนั้น ขั้นตอนต่อไปประธาน สนช.จะต้องส่งร่างกฎหมายลูกดังกล่าวให้นายกรัฐมนตรี จากนั้นเว้นไว้ 5 วันเผื่อมีผู้ท้วงติง ซึ่งหากไม่มีก็จะเข้าสู่กระบวนการเตรียมร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีก 20 วัน

 

โดยขณะนี้มีรายงานว่า นายพรเพชรยังไม่ได้ส่งให้นายกรัฐมนตรี เพื่อรอความชัดเจนว่าจะมีสมาชิก สนช.เข้าชื่อหรือไม่ ถ้ามีจะต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความให้สิ้นกระบวนความเสียก่อน แล้วจึงค่อยดำเนินการตามขั้นตอนข้างต้น

 

สถานการณ์ก่อนหน้านี้ขาดตัวตั้งตัวตีในการรวบรวมรายชื่อเพื่อนสมาชิก สนช. เพราะ สนช.ที่มีพลังในการเคลื่อนไหวกลับลงมติเห็นชอบกับการยกเว้นลักษณะต้องห้าม

 

ล่าสุด จากกระแสเรียกร้องของสังคมจึงนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) และมีความเคลื่อนไหว โดย นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิป สนช. ออกมาเปิดเผยแล้วว่า กำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นต่อประธาน สนช. คาดว่าจะแล้วเสร็จในวันพฤหัสบดีที่ 18 ม.ค.นี้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 กำหนดให้สมาชิก สนช.จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ สามารถเสนอความเห็นต่อประธาน สนช. แล้วให้ประธาน สนช.เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย หรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม การจะร่วมลงชื่อคงต้องขึ้นอยู่กับสมาชิก สนช.ที่โหวตไม่เห็นด้วยจำนวน 26 คน  และงดออกเสียงจำนวน 29 คน ว่าจะ YES/NO และจากการล้วงแคะแกะเกา ปรากฏว่า กรรณภว์  ธนภรรคภวิน ซึ่งเป็น 1 ใน 29 คนที่ลงมติงดออกเสียงในมาตรา 178 แสดงสปิริตเป็นเจ้าภาพรวบรวมรายชื่อ

 

ถึงแม้เสียงของ สนช.จะแตกออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งจะไม่ร่วมลงเพราะจะขัดแย้งกับมติที่ตนเองออกเสียง แต่อีกฝ่ายจะร่วมลงชื่อเพื่อให้เกิดความชัดเจน อีกทั้งจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานเรื่องยกเว้นลักษณะต้องห้ามว่าทำได้หรือไม่ได้

 

แต่เพื่อความสบายใจก็ควรยื่นให้รู้แล้วรู้รอด เพราะวันใดที่ไร้อำนาจไม่สวมหัวโขน สนช. และมีการเลือกตั้งนั้น จากสถิติของทุกรัฐบาลที่ผ่านมา เชื่อว่า สนช.ในวันนี้ต้องถูกเช็กบิลในวันหน้าแน่นอน  ฉะนั้น รีบให้ศาลตีความเพื่อทำทุกอย่างให้ถูกต้องเสียจะดีกว่า

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw