ประเด็นร้อน

ทำอย่างไรให้คนโกงไม่หายตัว

โดย ACT โพสเมื่อ Jan 24,2018

- - สำนักข่าวแนวหน้า - -


คอลัมน์ ลงมือสู้โกง  โดย : พัชรี ตรีพรม

 

จากงานเสวนา "ตามหาคนโกงหาย" ที่จัดโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)ช่วงปลายปีที่ผ่านมา มีการพูดถึงกระบวนการยุติธรรมไทยในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชันที่พบปัญหาบ่อยครั้ง นั่นคือ การที่ผู้กระทำความผิดไม่ถูกดำเนินคดีหรือถูกดำเนินคดีแล้วสามารถหลบหนี ไปก่อนถูกลงโทษได้ รวมถึงการถูกตัดสินว่าเป็นผู้กระทำความผิดและได้รับการลงโทษตามกฎหมายแล้ว แต่บุคคลเหล่านี้กลับได้รับสิทธิพิเศษขณะที่อยู่ในเรือนจำ จนเกิดการตั้งคำถามโดยสังคมว่า เกิดปัญหาอะไรขึ้นกับกระบวนการยุติธรรมไทย

 

ในประเด็นนี้ศาสตราจารย์พิเศษจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรมและผู้พิพากษาศาลยุติธรรม หนึ่งในวิทยากรให้ความเห็นถึงสาเหตุที่ทำให้การดำเนินคดีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตในกระบวนการยุติธรรมไทย ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม จนนำมาซึ่งการตั้งคำถามในปัจจุบันว่า มีอยู่ 3  ประการ ได้แก่ 1.เกิดจาก ช่องว่างทางกฎหมายที่ทำให้ผู้กระทำความผิดใช้ช่องทางนี้ในการหลบหลีกเพื่อไม่ให้ตนต้องรับผิด 2.การใช้อำนาจในทางมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐและ3.ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่มีผลต่อการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เท่าเทียมกัน

 

เพื่อปูพื้นฐานให้ผู้อ่านเข้าใจประเด็นทั้งสามนี้ ผู้เขียนจึงขออธิบายมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันที่เป็นทางการของไทยโดยสังเขป กล่าวคือปัจจุบันไทยมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นหน่วยงานหลักทำหน้าที่นี้ และมีการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และหน่วยงานอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญอีกจำนวนหนึ่งที่ทำหน้าที่สนับสนุนการตรวจสอบทุจริต นอกจากนี้ในปัจจุบันยังจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับความผิดฐานทุจริตและการประพฤติมิชอบ มีการจัดตั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีอำนาจตรวจสอบคดีร่ำรวย ผิดปกติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

 

 

ในด้านกฎหมายก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เริ่มด้วยการแก้ไขกฎหมายเพื่อปิดช่องว่างมิให้ผู้กระทำความผิดใช้ในการหลบหลีกความผิด เช่นการให้อำนาจหน่วยงานต่างๆและประชาชนเข้ามาร่วมตรวจสอบกรณีพบเห็นเจ้าหน้าที่กระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบ เปิดช่องให้ ป.ป.ช. ป.ป.ท. และประชาชนผู้เสียหายสามารถนำคดียื่นฟ้องต่อศาลเองได้ รวมถึงสามารถยื่นฟ้องและพิจารณาคดีลับหลังได้ในกรณีที่จำเลยหลบหนี และให้อายุความในการพิจารณาคดีไม่ถือว่าสะดุดหยุดลง หากจำเลยหลบหนีไปจะไม่สามารถใช้สิทธิในการยื่นอุทธรณ์และฎีกาได้ นอกจากนั้นยังมีการกำหนดให้การหลบหนีเป็นความผิดทางอาญาเพิ่มเติมขึ้นและหากพบว่ามีผู้ให้ความช่วยเหลือจำเลยในหลบหนี ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิด ในส่วนคำพิพากษาของศาลให้มีการดำเนินการยึดทรัพย์สินที่ได้จากการ กระทำความผิดฐานทุจริตได้อีกด้วย

 

เรียกได้ว่าประเทศไทยนั้นมีทั้งหน่วยงานรับผิดชอบและกฎหมายสนับสนุนที่ค่อนข้างละเอียดและครอบคลุมสำหรับการอุดช่องว่างทางกฎหมาย ลดโอกาสการใช้อำนาจ โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ และพยายามลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเลยทีเดียว

 

เมื่อมีครบเช่นนี้ ทำไมจึงยังเกิดปัญหาทั้ง 3 ประการ ตามที่อาจารย์จรัญได้กล่าวไว้อีก ในเรื่องนี้ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า จากสถานการณ์ที่อธิบายข้างต้นจะเห็นได้ว่ารัฐบาลมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาการทุจริตโดยการแก้ไขข้อกฎหมายเป็นหลักเพื่อเปิดช่องทางแก่เจ้าหน้าที่ผู้มีความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับความผิด ทุจริตเข้ามาดำเนินการตรวจสอบ และปิดช่องว่าง ทางกฎหมายมิให้ผู้กระทำความผิดใช้เป็นช่องทางในการหลบหลีกไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เช่น การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ดำเนินการฟ้องร้องคดี การแก้ไขกฎหมายให้กระบวนการยุติธรรมสามารถดำเนินต่อไปได้ แม้ว่าจำเลยในคดีหลบหนี รวมถึงการเอาผิดกับผู้ให้ความช่วยเหลือจำเลยที่หลบหนีคดีความผิดทุจริต เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขกฎหมายในประเด็นต่างๆดังกล่าวเป็นเพียงช่องทางช่วยให้สามารถนำผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีและเปิดช่องทางให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีเมื่อจำเลยหลบหนีเท่านั้น แต่ยังไม่ครอบคลุมไปถึงการแก้ไขปัญหากรณีการนำจำเลยที่ หลบหนีคดีกลับเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม และที่สำคัญคือยังมีผลต่อการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดน้อยเกินไป

 

ในงานเสวนานี้จึงได้มีการนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวไว้ดังนี้

 

ประการแรก แก้ไขข้อกฎหมายให้ ผู้กระทำความผิดไม่สามารถมีช่องทางในการหลบหนีและเปิดช่องทางให้เจ้าหน้าที่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดที่หลบหนีไปกลับ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และดำเนินคดีกับ ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือผู้กระทำความผิดหลบหนีไปอย่างจริงจัง รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีความเป็นสากลและเป็นที่ยอมรับ ประการที่สอง ทุกภาคส่วนในสังคมต้องให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการทุจริต เช่น ไม่เชิดชู ผู้กระทำความผิดเพราะพลังทางสังคมถือว่าเป็นส่วนสำคัญกว่าข้อกฎหมายใดๆ

 

ผู้เขียนจึงขอเชิญชวนผู้อ่านร่วมกัน เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาผู้กระทำความผิดที่หลบหนีคดีกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ได้แนวทางและความเห็นที่หลากหลายเพื่อนำไปใช้ในการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาผู้กระทำความผิดหลบหนีคดีต่อไป

 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw