ประเด็นร้อน

'อดีตผอ.'ปูดแบ่งเค้กเป็นทอด-เชื่อ'บิ๊กพม.'รู้เห็นงาบเงินทอน 30 เปอร์เซ็นต์ 'ศูนย์ ไร้ที่พึ่ง'

โดย ACT โพสเมื่อ Mar 13,2018

- - สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ - -

 

อดีตผอ.ศูนย์ไร้ที่พึ่งเปิดโปง ขบวนการอมเงินคนจน ชี้ถอดแบบ เงินทอนวัด-แบ่งเค้กเป็นทอด-กินส่วนต่าง 30% เชื่อเจ้าหน้าที่-ข้าราชการระดับสูงพม.รู้เห็น ด้านป.ป.ท.เผยผลสอบ พบ 44 จังหวัด ส่อทุจริตรวมมูลค่า 97 ล้านบาท เตรียมขยายผลอีก 32 แห่ง ขีดเส้น 31 พ.ค.รู้ผล

 

ความคืบหน้าการตรวจสอบการใช้จ่ายเงิน อุดหนุนเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง ประจำปีงบประมาณ 2560 ของศูนย์คนไร้ที่พึ่ง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)

 

วานนี้(12 มี.ค.) อดีตผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งแห่งหนึ่ง ในช่วงปีงบประมาณ 2559-2560 ที่มีการทุจริต ก่อนจะถูกย้ายเข้ากรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลรวมถึงขั้นตอนการทุจริต กับเนชั่นทีวีตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) ดำเนินการตรวจสอบไปเพียงเล็กน้อยก็ยังพบความเสียหายจำนวนมาก นั่นแสดงว่า การทุจริตครั้งนี้ไม่ใช่ลักษณะรั่วไหล แต่เป็นกระบวนการที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ตั้งแต่การวางคนไว้ในตำแหน่งต่างๆ ตามหน่วยงานในสังกัด เพื่อให้การอนุมัติวงเงินอยู่กับคนที่ไว้ใจได้

 

โดยเฉพาะผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งฯ ที่จะต้องส่งเงินกลับให้ผู้บริหารระดับสูงลักษณะเดียวกับเงินทอนวัดประมาณ 30% ของจำนวนเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้และผู้ป่วยโรคเอดส์ ที่แต่ละศูนย์ฯจะได้รับผ่านข้าราชการระดับฝ่ายบริหาร ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ หน่วยงานต้นสังกัดและมีหน้าที่ดูแลศูนย์ฯโดยตรง เช่น5 ล้านบาท จะต้องทอนคืนจำนวน 1.5 ล้านบาท ซึ่งคนที่มารับเงินทอนนี้ จะต้องเป็นข้าราชการที่มีภารกิจเดินทางมาตรวจเยี่ยมศูนย์ฯ เป็นประจำ

 

"เงินอีก 70% ก็ไม่ได้หมายความว่า จะถึงมือประชาชนมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับผอ.ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง รายนั้นๆ แต่ที่แน่ๆ ทุกปี จะสังเกตพบว่า ศูนย์คุ้มครองฯ จะมีข้าราชการระดับสูงเดินทางออกเยี่ยมศูนย์ฯในสังกัดอยู่เป็นประจำ ก็เป็นไปได้ว่า ข้าราชการรายนั้นมารับเงินทอนส่งเข้าส่วนกลาง"อดีตผอ.ศูนย์รายนี้กล่าว

 

แฉข้าราชการแบ่งเค้กเป็นก้อน

 

ทั้งนี้ เงินทอนที่ได้รับก้อนนี้จะแบ่งสรรหรือส่งต่อให้กับเจ้าหน้าที่ระดับใดบ้างก็ไม่สามารถบอกได้ชัด แต่เนื่องจากการเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ฯ ปฏิบัติติดต่อกันมาหลายสิบปี ทั้งๆ ที่เคยถูกใช้เป็นเงินสนับสนุนของนักการเมือง โดยโอนให้กับหัวคะแนนในพื้นที่แต่จำนวนเงินไม่มากเท่ากับการทุจริตในครั้งนี้

 

ทำให้นอกจากขั้นตอนและหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ฯ ที่มีกำหนดไว้ชัดเจนแล้ว ยังมีฐานข้อมูลประชาชนที่เคยได้รับความรับเงินสงเคราะห์ ทั้งจำนวน รายชื่อผู้ที่เคยได้รับ ขนาดของพื้นที่ หรือจำนวนประชากร ระบุไว้อย่างชัดเจน ฉะนั้น หากการเบิกจ่ายดำเนินไปตามหลักเกณฑ์ จำนวนเงินที่ได้รับจะสอดคล้องกับข้อมูลเดิมในแต่ละปีที่ผ่านมา โดยไม่จำเป็นต้องให้หน่วยงานภายนอกเข้ามาตรวจสอบ

 

ประชาชนหลักพันแต่รับงบนับล้าน

 

เช่น ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง บางแห่งมีขนาดประชากรเพียงไม่กี่พันคน แต่ได้รับอนุมัติเงินสงเคราะห์นับล้านบาท ทำให้เกิดการล่ารายชื่อ เอกสารบัตรประชาชน เพื่อนำมาใช้เป็นหลักฐาน กระทั่งต้องนำชื่อของอาสาสมัครที่ร่วมทำงานกับศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งฯไปใช้แอบอ้าง จนต้องออกมาแสดงความสุจริตใจซึ่งส่วนใหญ่เชื่อว่า ไม่รู้เห็นกับการกระทำทุจริตในครั้งนี้

 

โดยเฉพาะโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนไร้ที่พึ่งและคนขอทานในปีงบประมาณ 2560มีการอนุมัติเงินอุดหนุนเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง วงเงิน 173,940,000 บาท กระจายให้กับนิคมสร้างตนเอง 44 แห่งทั่วประเทศ แต่พบว่า นิคมสร้างตนเอง จ.ระยอง ที่มีประชากร 73,064 คน หรือนิคมสร้างตนเอง จ.ลพบุรี มีประชากร 82,852 คน ได้รับวงเงินเพียง 3 แสนบาท แต่นิคมสร้างตนเองรัตภูมิ จ.สงขลาหรือที่จ.สตูล ได้รับวงเงินสูงถึง 5 ล้านบาท ทั้งๆ ที่มีประชากร 9 พัน และ 3 หมื่นคนเท่านั้น

 

อดีตผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เชื่อว่า เจ้าหน้าที่ในกรมฯผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพัฒนาสังคม จะมีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการทุจริตและหวั่นเกรงว่า อำนาจของป.ป.ท.จะเอื้อมไม่ถึงกับข้าราชการระดับสูงเหล่านี้ หรือแม้แต่กระบวนการของ ป.ป.ช.ก็เชื่อว่าจะล่าช้า จึงเรียกร้องให้รัฐบาลใช้มาตรา 44 เช่นเดียวกับกรณีเงินทอนวัด

 

ป.ป.ท.เผย44จังหวัดพบความผิดปกติ

 

พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยว่า ผลการตรวจสอบล่าสุดพบความผิดปกติ จำนวน 44 จังหวัด งบประมาณ 97,842,000 บาท คิดเป็นประมาณ 80 % ของงบประมาณศูนย์ฯทั่วประเทศ แบ่งเป็น พื้นที่ที่ป.ป.ท.รับไว้ไต่สวนข้อเท็จจริง จำนวน 7 จังหวัด ประกอบด้วย ขอนแก่น เชียงใหม่ บึงกาฬ หนองคาย สุราษฎร์ธานี ตราด และ น่าน ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ท. รับไว้ไต่สวนข้อเท็จจริงอีก 37 จังหวัด

 

ประกอบด้วย สระแก้ว อุดรธานี สระบุรี อยุธยา กระบี่ ตรัง ร้อยเอ็ด ยะลา พัทลุง ชุมพร สุรินทร์ อ่างทอง พิษณุโลก ชัยภูมิ มหาสารคาม ลำพูน นครราชสีมา อำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานี นครพนม กาฬสินธุ์ พิจิตร ราชบุรี มุกดาหาร ลำปาง เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก อุทัยธานี สตูล ลพบุรี หนองบัวลำภู บุรีรัมย์ สงขลา นราธิวาส และนครปฐม

 

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบพฤติการณ์ปลอมเอกสาร โดยผู้มีรายชื่อไม่ได้รับเงินเลย หรือผู้มีรายชื่อไม่ได้รับเงินบางส่วน, ผู้ได้รับเงินเป็นผู้ไม่อยู่ในเงื่อนไขการรับเงินสงเคราะห์ สำหรับอีก 32 ศูนย์ที่เหลือ งบประมาณ 25,317,000 บาท คิดเป็นประมาณ 20 % ของงบประมาณศูนย์ จะตรวจสอบให้เสร็จภายในวันที่ 31 พ.ค.นี้

 

นครพนมตั้งกรรมการสอบผอ.ร.ร.

 

ด้านนายประสงค์ สุภา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 2 จ.นครพนม เปิดเผยว่า จากกรณีปรากฏคลิปผู้อำนวยการโรงเรียนเพียงหลวง 10 ต.หนองซน อ.นาทม จ.นครพนม ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสนับสนุนการทุจริตของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.นครพนม เบื้องต้นตนได้มีการพูดคุยสอบถามไปยังเจ้าตัว คือ นายหลักชัย วงษ์หมอก ผู้อำนวยการโรงเรียน ทราบว่าไม่มีเจตนา แต่เป็นการพูดคุยหารือกับชาวบ้านเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างไรก็ตามตนจะได้มีการตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริง

 

หากพบว่าเข้าข่ายความผิด จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเอาผิดทางวินัย แต่หากไม่เข้าข่ายความผิดถือว่ายุติ แต่หากพบว่าเป็นการกระทำที่ผิด ด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม จะต้องมีการเอาผิดทางวินัยตามกฎหมาย ทั้งนี้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเร่งด่วน แต่ที่ผ่านมายืนยันผู้บริหารโรงเรียนไม่เคยมีปัญหาในการทำงานและเป็นโรงเรียนตัวอย่างด้วย ต้องรอผลการสืบข้อเท็จจริง

 
 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw