ประเด็นร้อน

ป.ป.ท.ชงยึดทรัพย์ขรก.ทุจริต - 15 อำเภอเชียงใหม่ส่อโกงงบชาวเขา 67 ล้าน เล็งใช้'อีเพย์เมนท์'จ่ายเงินคนจน

โดย ACT โพสเมื่อ Mar 23,2018

- - สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ - -

 

ตั้งกก.สอบวินัยร้ายแรงขรก. ศูนย์คนไร้ที่พึ่ง 7 จังหวัด

 

กรุงเทพธุรกิจพม.ยกเครื่องจ่ายเงินคนจน ดึง"อีเพย์เมนท์-ระบบออนไลน์" ให้บริการยันเดินหน้าสอบข้าราชการอมเงินชาวเขาดูแลประชาชนไม่ได้รับเงิน ป.ป.ท.-สตง. ขยายผลสอบ 15 อำเภอ จ.เชียงใหม่ พบอมเงินอุดหนุนช่วยชาวเขากว่า 67 ล้านบาท อ.จอมทองเบิกจ่ายมากสุด 11 ล้านบาท ชี้ผู้มีสิทธิ 36 ราย ยืนยันตรงกันไม่ได้รับเงิน-ข้องใจผู้ใหญ่บ้านปรากฏชื่อ รับสิทธิ เลขา ป.ป.ท.เผยผลสอบศูนย์ไร้ที่พึ่ง พบเจ้าหน้าที่รัฐทำผิด 34 ราย ประสาน ป.ป.ง. เดินหน้ายึดทรัพย์

 

ความคืบหน้าการตรวจสอบทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ พส.ได้จัดทีมลงพื้นที่ตรวจสอบการทุจริตเงินสงเคราะห์ฯ ของหน่วยงานในสังกัดพส. 56 แห่ง และสัปดาห์นี้ได้จัดทีมลงตรวจเพิ่มเติมอีก 2 จังหวัดคือ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจ.ตรัง และนิคมสร้างตนเองตากฟ้า จ.นครสวรรค์ ซึ่งยัง ไม่มีความชัดเจนว่ามีมูลทุจริตหรือไม่

 

โดยล่าสุดได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงรวมทั้งหมดแล้ว 7 แห่ง คือ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจ.ขอนแก่น เชียงใหม่ พัทลุง นราธิวาส สงขลา สุราษฎร์ธานี และโครงการหมู่บ้านสันกำแพงจ. เชียงใหม่ อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบยังพบ 6 ศูนย์คุ้มครองคนคนไร้ที่พึ่ง 1 นิคมสร้างตนเองที่ไม่มีการทุจริต คือ สมุทรสงคราม สิงห์บุรี ภูเก็ต นครศรีธรรมราช สกลนคร แพร่ และนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน จ.สกลนคร

 

นางนภา กล่าวต่อว่า ในช่วงบ่ายได้เข้า หารือกับนาย พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เพื่อวางแผนการทำงานร่วมกัน เนื่องจากการลงพื้นที่ตรวจสอบการทุจริตจะต้องใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมาก จึงต้องวางแผนการทำงานให้การสอบสวนมีความรวดเร็วและมีแนวทางที่ชัดเจน และให้เกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่าย

 

ทั้งนี้การทำหนังสือขอข้อมูลจากป.ป.ท. เป็นในนามของกระทรวงพม. โดย พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พม มองว่าสามารถทำงานร่วมกันได้ ซึ่งกระทรวงพม.จะใช้ประกอบการสอบสวนและดำเนินการต่อ ทั้งนี้ตนเข้าใจการทำงานของป.ป.ท. ดังนั้นทางเราจะข้อมูลเท่าที่ทางป.ป.ท.จะให้ได้ รวมถึงไม่ทำให้มีผลเสียต่อรูปคดี

 

ส่วนกรณีเกิดภัยพิบัติเร่งด่วนที่ต้องจ่ายเงินช่วยเหลือเป็นเงินสด ต้องมีบันทึกหลักฐาน จ่ายเงินให้ชัดเจนและมีการบันทึกภาพ เพื่อยืนยันว่ามีการจ่ายเงินจริง นอกจากนี้ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เล็งเห็นปัญหาที่ผอ.ศูนย์มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ในการพิจารณาคุณสมบัติผู้ยากไร้ที่ควรได้รับการสงเคราะห์ จึงมีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้นพิจารณาคุณสมบัติ เพื่อให้เกิดความรอบคอบ

 

พส.ยันเร่งสอบปชช.ไม่ได้รับเงิน

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าผลการตรวจสอบพบทุจริตหลายจังหวัด เกินกว่าครึ่งของประเทศ หากต้องย้ายผอ.ศูนย์ฯทั้งหมด จะบริหารงานต่อไปอย่างไร นางนภา กล่าวว่า ในกรณีผอ.ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งถูกย้าย จะให้ผู้ช่วยหรือผู้ที่มีความเหมาะสมขึ้นมาปฏิบัติงานแทนชั่วคราว ซึ่งจะไม่กระทบต่อการทำงานของกรม. ส่วนกรณีล่าสุดที่พบการทุจริตเงินอุดหนุนพัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงได้มีคำสั่งย้ายหัวหน้าเขตเข้ามาประจำกรม เพื่อให้เกิดความสะดวกในการสอบวินัยร้ายแรง แต่ไม่ได้หมายความว่าหัวหน้าเขตมีความผิดแล้ว หลังสรุปผลสอบหากพบว่ามีความผิดวินัยจริงก็ต้องลงโทษตามลำดับโทษ

 

"ที่ผ่านมาในการเบิกจ่ายงบช่วยเหลือ กรมได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปสุ่มตรวจเอกสารฎีกาเบิกจ่าย และสัมภาษณ์ชาวบ้านแต่เอกสารถูกต้องทั้งหมดไม่พบการทุจริต เพราะการดำเนินการอยู่ในอำนาจของพื้นที่ คนจากส่วนกลางไม่ทราบข้อเท็จจริงมากไปกว่าคนในพื้นที่ ที่สำคัญการช่วยเหลือของรัฐไม่ได้ช่วยเหลือเฉพาะเงินอุดหนุนอย่างเดียว แต่ยังมี การส่งเสริมอาชีพ หรือการรักษาพยาบาล โดยการช่วยเหลือเงินสงเคราะห์เป็นเพียงปัจจัยเดียว จนกระทั่งป.ป.ท.ลงตรวจสอบทุจริต ซึ่งพส.ต้องรอป.ป.ท.ตรวจสอบให้เสร็จสิ้น จึงจะทราบว่าปัญหาที่แท้จริงเกิดจากจุดใดบ้าง สำหรับชาวบ้านที่เป็นผู้มีสิทธิ์ควรได้รับเงินสงเคราะห์ แต่ไม่เคยได้รับเงินเลย จะต้องรอให้การตรวจสอบทุจริตเสร็จสิ้นก่อน จากนั้นกรมจะเข้าไปดูอีกครั้งว่ายังจำเป็นต้องได้รับการสงเคราะห์อย่างไร ในจุดนี้ต้องพิจารณาเป็นรายๆไป"นางนภากล่าว

 

ด้านพ.ท.กรทิพย์ กล่าวว่า ทั้ง 2. หน่วยงานได้ร่วมหารือเพื่อวางแนวทางป้องกันการทุจริต ทั้งในเชิงระบบและตัวบุคคล

 

15 อำเภอเชียงใหม่ส่อโกง 67 ล้าน

 

พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พร้อมด้วยพ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท., นายสัญชาติ อุปนันชัย ผอ.กองอำนวยการต่อต้านการทุจริต และเจ้าหน้าที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณประเภทเงินอุดหนุนเฉพาะกิจของศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจ.เชียงใหม่ โดยงบประมาณที่ได้รับจัดสรรในปี 2560 รวมจำนวน 67,917,000 บาท

 

โดยพล.ต.อ.จรัมพร กล่าวว่า ป.ป.ท. พร้อมด้วยสตง. ได้ลงพื้นที่สอบถาม ชาวบ้านหมู่ 1 ต.กึ๊ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ปรากฏรายชื่อผู้รับเงินสงเคราะห์ จำนวน 36 ราย เป็นบุคคลกลุ่มชาติพันธุ์ จำนวน 31 ราย สัญชาติไทย 5 ราย ซึ่งจากการสอบถามชาวบ้านสัญชาติไทยทั้ง 5  รายและกลุ่มชาติพันธุ์จำนวน 18 ราย ให้ข้อมูลตรงกันว่าไม่เคยได้รับเงินสงเคราะห์ตามที่ปรากฏในเอกสาร ใบสำคัญรับเงิน แบบ 5 (จำนวน 2,000 บาท) แต่อย่างใด ขณะที่การลงพื้นที่สอบถามข้อมูลชาวบ้านหมู่ที่ 8 ต.กึ๊ดช้าง อ.แม่แตง จำนวน 36 ราย มีชื่อกำนันต.กึ๊ดช้าง เป็นผู้ได้รับเงินสงเคราะห์ด้วย จึงไปสอบถามข้อมูลกำนันคนดังกล่าวได้รับการยืนยันว่า ตนเองและลูกบ้านไม่เคยได้รับเงินสงเคราะห์

 

ต่อมาชุดปฏิบัติการจากสำนักงาน ป.ป.ท. ร่วมกับ สำนักงาน ป.ป.ท. เขต 5 ได้สอบถ้อยคำ หัวหน้าเขตอ.แม่ริม แม่แตง และเชียงดาว จำนวน 3 เขต ที่ปรากฏลายมือชื่อว่าเป็นผู้รับมอบเงินอุดหนุนมาจากศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงใหม่ โดยหัวหน้าเขตอำเภอแม่ริม  รับเงินสดมา จำนวน 2,877,000 บาท หัวหน้าเขต อ.แม่แตง รับเงินสดมา จำนวน 5,075,000 บาท และหัวหน้าเขตอำเภอเชียงดาวรับเงินสดมา จำนวน 6,120,000 บาท เพื่อนำมามอบให้กับชาวบ้านในเขตรับผิดชอบตามอำเภอของตนเองนั้น อย่างไรก็ตามหัวหน้าเขตทั้ง 3 เขต ต่างให้ถ้อยคำสอดคล้องตรงกันว่า ไม่เคยได้รับเงินดังกล่าวแต่อย่างใด และจากการตรวจสอบเอกสาร พบว่าในปีงบประมาณ 2560 เขตรับผิดชอบอ.จอมทอง มีการเบิกจ่าย งบประมาณสูงสุดถึง 11.25 ล้านบาท

 

"จอมทอง"เบิกจ่ายมากสุด11ล้าน

 

สำหรับลักษณะการใช้จ่ายเงินงบประมาณในจ.เชียงใหม่ จะแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ 15 เขตคือ อ.ฝาง มีการเบิกจ่าย 16 ครั้ง จำนวนเงิน 8.5 ล้านบาท อ.พร้าวเบิกจ่าย 12 ครั้ง จำนวนเงิน 9.4 ล้านบาท อ.เวียงแหง เบิกจ่าย 4 ครั้ง จำนวนเงิน 1.1 ล้านบาท อ.เวียงแหง เบิกจ่ายรอบ 2 อีก 8 ครั้ง จำนวนเงิน 1.2 ล้านบาท อ.เชียงดาว เบิกจ่าย 14 ครั้ง จำนวนเงิน 6.1

 

ล้านบาท อ.กัลยานิวัฒนา เบิกจ่าย 11 ครั้งจำนวนเงิน 2.8 ล้านบาท อ.แม่อาย เบิกจ่าย 14 ครั้ง จำนวนเงิน 5.1ล้านบาท อ.แม่แตง เบิกจ่าย 15 ครั้ง จำนวนเงิน 5 ล้านบาท อ.แม่วาง เบิกจ่าย 14 ครั้ง จำนวนเงิน 3.7 ล้านบาท อ.จอมทอง เบิกจ่าย 16 ครั้ง จำนวนเงิน 11 ล้านบาท อ.แม่ริม เบิกจ่าย 13 ครั้ง จำนวนเงิน 2.8 ล้านบาท อ.ไชยปราการ เบิกจ่าย 10 ครั้ง จำนวนเงิน 1.9 ล้านบาท อ.สเมิง เบิกจ่าย 8 ครั้ง จำนวนเงิน 2.5 ล้านบาท อ.อมก๋อย เบิกจ่าย 9 ครั้ง จำนวนเงิน 3.5 ล้านบาท อ.แม่แจ่ม เบิกจ่าย 7 ครั้ง จำนวนเงิน 2.3 ล้านบาท

 

ชงป.ป.ง.ยึดทรัพย์ข้าราชการทุจริต

 

ส่วนการตรวจสอบศูนย์เหลือคนไร้ที่พึ่ง ทั่วประเทศขณะนี้พบมีการทุจริตแล้วกว่า 49 จังหวัด และมี 7 จังหวัดคือ อุดรธานี ขอนแก่น เชียงใหม่ บึงกาฬ หนองคาย ตราด และสุราษฎ์ธานี ที่มีการตั้งเป็นคณะอนุกรรมการไต่สวน ส่วนจังหวัดอื่นๆ จะเอาเข้าที่ประชุมเร็วๆ นี้ แต่เบื้องต้นจากการตรวจสอบข้อมูลทุจริตเพียง 7 จังหวัด พบเจ้าหน้าที่รัฐที่ร่วมกระทำผิด จำนวน 34 คน แต่ละรายจะถูกดำเนินคดีทางอาญา และหากมีการขยายผลจังหวัดอื่นๆ อาจมีข้าราชการมากกว่า 100 คนที่ร่วมขบวนการ หากหลักฐานสาวไปถึงใคร เส้นทางการเงินไปถึงใคร ไม่ว่าระดับไหนก็ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย รวมทั้งจะใช้กฎหมายของ ปปง. เข้ามาอายัดและยึดทรัพย์ด้วย

 
 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw