บทความ

ปัดฝุ่นคำสั่ง คสช. กระชับมาตรการปราบโกง

โดย ACT โพสเมื่อ Apr 03,2018

 

ตามที่ ครม. ได้ออกมาตรการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในระบบราชการ ตามข้อเสนอ คสช. เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 หากดูในรายละเอียดจะพบว่า เป็นการนำคำสั่ง คสช. ที่ 69/2557 มาปรับปรุงให้มีแนวทางปฏิบัติและกรอบเวลาที่ชัดเจนขึ้น ไม่ให้ยืดเยื้อ ให้ความสำคัญกับการปกป้องผู้ให้เบาะแสและลงโทษผู้ที่จงใจร้องเรียนกลั่นแกล้งผู้อื่น เน้นย้ำให้หัวหน้าหน่วยราชการต้องใส่ใจกำกับดูแล เพราะคอร์รัปชันอาจเกิดขึ้นในขั้นตอนหรือเวลาใดของการทำงานก็ได้

 

สาระสำคัญเป็นอย่างไร

 

มาตรการใหม่นี้กำหนดให้แต่ละหน่วยราชการต้องหาทางป้องกันมิให้เกิดคอร์รัปชันขึ้น และเมื่อตรวจพบหรือมีการร้องเรียนจะต้องรีบแก้ไขโดยเร็ว ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนภายใน 7 วันและต้องมีข้อสรุปเบื้องต้นภายใน 30 วัน หากมีข้อมูลที่เชื่อได้ว่ากระทำความผิด ก็ให้ผู้บังคับบัญชาสั่ง “แขวน – ย้าย – ไล่ออก” ผู้ถูกกล่าวหานั้นๆ ตามเหมาะสม  ที่สำคัญและเป็นปัญหาคาใจประชาชนมานานคือ ห้ามมิให้ย้ายบุคคลนั้นกลับมาอยู่ในตำแหน่งเดิมหรือย้ายไปมีตำแหน่งที่ดีกว่าเดิมภายใน 3 ปี 

 

ทั้งนี้หากหน่วยราชการใดมีข้อติดขัดก็ให้ ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอ.ตช.) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานสนับสนุน 

 

โดยรวมมาตรการนี้ จึงเป็นการ “ใช้มาตรการลงโทษทางวินัยกับมาตรการทางอาญาควบคู่กันไป” 

 

อันที่จริงเรื่องเหล่านี้ก็มีอยู่แล้วตาม ระเบียบ ก.พ. และระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ที่ผ่านมามักพบว่าแนวทางปฏิบัติไม่ชัดเจน มีช่องว่าง ผู้บังคัญบัญชาขาดความเข้าใจหรือไม่ใส่ใจ มีการประวิงเวลาเพื่อช่วยเหลือกัน และเลือกที่จะรอผลการดำเนินคดีอาญาเสียก่อนจึงล่าช้ามากเป็นปีๆ ทำให้ไม่สามารถหยุดและลดความเสียหายจากคอร์รัปชันหรือสร้างความมั่นใจให้กับผู้ร้องเรียนหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบ

 

อนึ่ง ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า มาตรการนี้ใช้คำว่า “การทุจริตฯ ในระบบราชการ” ซึ่งต่างไปจากเดิมที่ทางการมักใช้คำว่า “การทุจริตฯ ในภาครัฐ” และ “การทุจริตฯ ในวงราชการ” 


ข้อจำกัดของมาตรการใหม่นี้

 

ประการแรก มาตรการนี้กำหนดโดย “มติ ครม.” ไม่ใช่กฎหมาย จึงไม่มีใครนำไปเป็นข้ออ้างให้ทำอะไรที่ต่างไปจากกฎหมายที่มีอยู่เดิมได้ และมีผลบังคับใช้เฉพาะกับหน่วยราชการทั่วไปและองค์กรในกำกับของฝ่ายบริหาร โดยไม่ครอบคลุมหน่วยงานอื่นของรัฐ เช่น รัฐสภา องค์กรอิสระ ศาล อีกทั้งที่ ศอ.ตช. ก็เป็นหน่วยงานพิเศษที่รัฐบาลนี้ตั้งขึ้นโดยมติ ครม. ดังนั้นมาตรการนี้จึงอาจเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกโดยง่ายเมื่อมีรัฐบาลใหม่ 

 

ประการที่สอง ไม่ได้กำหนดความรับผิดชอบและบทลงโทษต่อหัวหน้าหน่วยงานที่ปล่อยปละละเลยให้เกิดปัญหา เหมือนที่ปรากฎในคำสั่ง คสช. ที่ 69/2557  

 

ประเด็นที่ต้องติดตามคือ ตลอดสามปีเศษที่ใช้คำสั่ง คสช. ที่ 69/2557 ยังไม่ปรากฎผลสำเร็จให้เห็นชัดเจน ดังนั้นจึงต้องติดตามดูกันว่า มาตรการใหม่นี้จะถูกนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์เพียงใด 

 

ข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาระยะยาว

 

ในห้วงเวลาเลวร้ายที่คอร์รัปชันเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้าเช่นนี้ การที่รัฐบาลนำเสนอมาตรการที่เชื่อว่าสามารถทำให้คอร์รัปชันลดลง ไม่ว่าจะลดได้มากหรือน้อย ก็ต้องถือเป็นความก้าวหน้าของประเทศ และเพื่อให้เกิดผลสำเร็จในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในระบบราชการ ให้ได้ผลอย่างยั่งยืน ผู้เขียนขอเสนอแนวทางเพิ่มเติม ดังนี้ 

 

1.พัฒนา “หน่วยตรวจสอบภายใน” ที่มีอยู่แล้วทุกหน่วยงาน ให้ทำงานได้อย่างอิสระและมีศักยภาพ

 

2.ให้ความสำคัญกับ “กลไกปรกติของรัฐที่มีบทบาทอำนาจตามกฎหมาย” เช่น ป.ป.ช. ป.ป.ท. สตง. ว่าจากนี้ไป ทำอย่างไรทุกองค์กรจะสามารถทำงานได้อย่างเป็นอิสระ เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง มีเครื่องมือที่เหมาะสมเพียงพอและร่วมมือกันทำงานอย่างบูรณาการ

 

3.เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในระบบราชการที่เอื้อให้เกิดคอร์รัปชัน และเป็นอุปสรรคต่อการเอาคนผิดมาลงโทษ เช่น ระบบพวกพ้องที่คอยช่วยเหลือกัน อำนาจการใช้ดุลยพินิจ การเปิดเผยข้อมูลและทำงานอย่างโปร่งใส วัฒนธรรมที่เห็นแก่ตัวเองและพวกพ้องมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม เป็นต้น

 

 

ดร. มานะ นิมิตรมงคล

เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

 

 

 
 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw