Article

ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (CPI) ของไทย

โดย act โพสเมื่อ Feb 01,2017



ความเห็นต่อดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (CPI) ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ

ผลการประเมิน ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (CPI) ปี 2559 ประเทศไทยได้ที่ 101 จาก 176 ประเทศ มีคะแนน 35 จาก 100 คะแนน ตกลงจากปีที่แล้ว ที่อันดับ 76 โดยมี 38 คะแนน

การประเมินที่จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาตินี้ เป็นที่ยอมรับของนานาชาติมากว่า 20 ปี มีเนื้อหาครอบคลุมในสาระสำคัญๆ เช่น คอร์รัปชัน ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของรัฐ ระบอบประชาธิปไตยและเสรีภาพ รวมถึงความเชื่อมั่นในด้านต่างๆ ด้วย

เมื่อดูรายละเอียดประเด็นต่างๆ พบว่า แม้ต่างชาติจะให้การยอมรับว่าเรามีรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญกับ   การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน  แต่เขาก็มองว่ายังมีปัญหาสำคัญอยู่ เช่น ปัญหาความเป็นไม่ประชาธิปไตย ความเสี่ยงที่จะเกิดคอร์รัปชัน รวมถึงการใช้อำนาจบริหารที่ขาดธรรมาภิบาลหรือมีการแทรกแซงกระบวนการตรวจสอบโดยเฉพาะความอึมครึมในบางโครงการที่เกี่ยวข้องกับทหาร

ก่อนหน้านี้มีรายงานการศึกษาจากหลายสถาบันภายในประเทศว่า การเรียกรับสินบนจากประชาชนที่ไปติดต่อราชการลดลงเป็นอย่างมาก (คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ) การเรียกรับสินบนจากนักธุรกิจและนักลงทุนมีความรุนแรงลดลง (มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและIOD) อีกทั้งในช่วงสองปีมานี้มีการออกมาตรการกลไกเพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ เป็นรูปธรรมมากที่สุดนับแต่มีรัฐธรรมนูญ ปี 2540 เป็นต้นมา เช่น    การออก พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตฯ ที่เริ่มมีผลบังคับใช้           เมื่อ 21 กรกฎาคม 2558   การตั้งศาลคอร์รัปชัน เริ่มปฏิบัติหน้าที่เมื่อ 1 ตุลาคม 2559 การเพิ่มฐานความผิดคดีคอร์รัปชัน เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อ 9 กรกฎาคม 2558 การเปิดเผยและให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐโดยนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้ เริ่มเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2558 และการออก พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ ที่ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติแล้ว เป็นต้น

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เห็นว่า ความพยายามของขบวนการต่อต้านคอร์รัปชันได้ก้าวหน้าไปมากแต่ที่ยังไม่เป็นผลเพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบยังไม่เอาจริงเอาจังและไม่ปฏิบัติไปในทางที่สะท้อนเจตนารมย์ของกฎหมาย จนเมื่อมีการสำรวจก็พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รับรู้หรือเห็นความคืบหน้าเกี่ยวกับกฎหมายหรือมาตรการเหล่านั้น

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เสนอว่าสิ่งที่รัฐบาลควรเร่งทำคือ

1. เร่งรัดการสอบสวนคดีทุจริตที่กำลังอื้อฉาวเพื่อเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษ เช่นกรณีของ การบินไทย ปตท. กฟน. กฟภ. ทีโอที เป็นต้น โดยมีการรายงานต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง

2.  สำหรับ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตฯ ที่ยังไม่คืบหน้า รัฐบาลต้องมีมาตรการที่เด็ดขาด เพื่อบังคับให้ทุกหน่วยงานดำเนินการให้บังเกิดผลตามเจตนารมย์ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ รัฐบาลควรกำหนดระยะเวลาที่หน่วยงานของรัฐต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญว่า มีการพัฒนาระบบการให้บริการประชาชนที่รวดเร็วทันสมัยแล้ว

3. เร่งรัดการประกาศใช้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ และจัดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการคณะต่างๆ ตามกฎหมายพร้อมทั้งออกกฎหมายลูกโดยเร็ว

 

สิ่งที่สะท้อนจากดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันล้วนเป็นประโยชน์ เป็นตัวผลักดันให้คนไทยต้องลงมือทำงานมากขึ้นกว่าเดิม การแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศยังต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน      การร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดผลนอกจากความพยายามของรัฐบาลและข้าราชการแล้ว ประชาชน ภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจ ก็ต้องเร่งตอบสนองโดยการลุกขึ้นมาใช้สิทธิและติดตามการดำเนินการเพื่อให้เกิดความสำเร็จของมาตรการเหล่านี้ให้มากขึ้น

 

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

1 กุมภาพันธ์ 2560

 

 

 

 

 

ขอขอบคุณภาพดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์(CPI) จากผู้จัดการออนไลน์