Hot Topic!

ปราบโกงให้ปราศจากปมคาใจ

โดย ACT โพสเมื่อ Nov 30,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก คมชัดลึก - -

 

คอลัมน์ ขยายปมร้อน

 

นับเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ ในห้วงวันเวลาที่การหย่อนบัตรเลือกตั้งกำลังคืบใกล้เข้ามาทุกขณะ เมื่อองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) หรือในชื่อย่อว่า ACT จับมือมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มูลนิธิเพื่อคนไทย ร่วมกันทำ "โพลต้านโกง" เพื่อดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ผลักดันนโยบายต้านคอร์รัปชั่นของพรรคการ เมืองต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม ตลอดช่วง เวลาทั้งก่อน และหลังการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

 

"ประมนต์ สุธีวงศ์" ประธาน ACT บอกว่า อยากให้พรรคการเมืองได้ยินเสียงประชาชนที่จะสะท้อนในเรื่องของการต้านโกง และพรรคการเมืองต่างๆ นำไปจัดทำเป็นนโยบายและแนวปฏิบัติ จึงนับเป็นโอกาสของพรรคที่จะประกาศนโยบายหาเสียง เพราะพรรคการเมืองเองก็ควรจะมี นโยบายด้านนี้อย่างจริงจังกันเสียที

 

กิจกรรมของ ACT และภาคีเครือข่าย จะสำรวจความเห็นประชาชนผ่านโพลล์ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยใน วันที่ 20 ธันวาคมนี้ มีนัดแถลงผลการสำรวจครั้งแรกเพื่อให้ทันเวลาพรรคการเมืองนำไปพัฒนาเป็นนโยบายหาเสียง ประมนต์ย้ำว่า "พรรคการเมืองจะต้องทำจริงให้เห็นผลหลังเลือกตั้งด้วย"

 

"เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์" อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อธิบายว่า การทำโพลล์ครั้งนี้ ประชาชนทั่วไปคือประชากรเป้าหมาย จำนวนตัวอย่างไม่น้อยกว่า 3,000 ตัวอย่างกระจายไปทั่วประเทศ โดยใช้สัดส่วนกลุ่มผู้มีโอกาสเลือกตั้งครั้งแรกกับกลุ่มที่เคยเลือกตั้งมาแล้ว 6:1 ว่าด้วยความคาดหวังในการขับเคลื่อนนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นของพรรคการเมืองและนักการเมืองใน 3 ด้านด้วยกันคือ

 

1.การขับเคลื่อนนโยบายระดับประเทศ

2.การขับเคลื่อนการทำงานของพรรคการเมือง และ

3.การปฏิบัติตนของพรรคการเมือง ระยะเวลาดำเนินโครงการ 30 วัน เริ่มไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ไปสิ้นสุดวันที่ 15 ธันวาคม

 

นอกจากนี้ยังได้จัดการสำรวจผ่านออนไลน์ ทางเว็บไซต์ www.แจกการบ้านนักการเมืองต้านโกง.com ในช่วงวันที่ 1-14 ธันวาคมที่จะถึงนี้ คาดว่าจะได้จำนวนประชากรเป้าหมายอย่างน้อย 5,000 คน ซึ่งจะได้แบ่งปันข้อมูลข่าวสารเพื่อกระจายผลโพลล์ออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ผ่านช่องทางออนไลน์ของภาคีเครือข่ายต่างๆ คาดว่าจะรวมเสียงประชาชนได้ไม่น้อยกว่า 8,000 ตัวอย่าง ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มีความน่าเชื่อถือทางสถิติ

 

เสาวณีย์บอกว่า ผลการสำรวจครั้งล่าสุดพบว่าประชาชนร้อยละ 99 ไม่ทนต่อการคอร์รัปชั่น ร้อยละ 86 ระบุพร้อมจะมีส่วนร่วมในการป้องกันและต่อต้านการโกง

 

ชื่อโพลต้านโกง แต่ก็มีภารกิจแตกต่างจากการสำรวจทั่วๆ ไป โดย "วิเชียร พงศธร" ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทยย้ำว่า กระบวนการทำงานไม่ได้จบลงแค่รายงานวิเคราะห์ผล เพราะยังมีเรื่องติดตามพันธสัญญานักการเมืองอย่างต่อเนื่องหลังเลือกตั้ง โดยเครือข่ายภาคประชาชนจะร่วมกันขยายผลใน 3 ด้าน คือ

 

1.ช่วยแชร์โพลล์ ออนไลน์ให้เข้าถึงประชาชนมากที่สุดในช่วงวันที่ 1-14 ธันวาคม

2.ร่วมกระจายผลโพลล์หรือข้อเสนอของประชาชนในวงกว้างในหลายรูปแบบให้เกิดพันธสัญญาสู้โกงของพรรค การเมืองในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเข้าใกล้ในช่วงวันการเลือกตั้งมากแล้ว และ

3.ร่วมติดตามตรวจสอบ "คำสัญญานักการเมือง" ต่อเนื่องหลังเลือกตั้ง

 

การเคลื่อนไหวของ ACT และภาคีเครือข่ายครั้งนี้ สังคมควรจะต้องเป็น "ผู้ให้การสนับสนุนหลัก" เลยทีเดียว เพราะไม่เช่นนั้นก็ป่วยการที่จะพร่ำเพ้อถึงเรื่องปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการเมือง

 

ยิ่งต้องอาศัย "พรรค-นักการเมือง" ขับเคลื่อนเป็นนโยบายออกมาด้วยแล้ว ถ้าไม่ได้แรงเชียร์จากประชาชนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะที่ยากโหดหิน ให้หัวหมู่ทะลวงฟัน ลงมือปฏิบัติการ ขันอาสาเป็นหนูเอา "กระดิ่งไปผูกคอแมว" ก็ยากจะเดินทางไปได้ใกล้เป้าหมายสูงสุด

 

เพราะว่ากันตามจริง ก็อย่างที่รู้ๆ กันว่า ถ้าหากปราศจากความร่วมมือจาก พรรคนักการเมืองแล้วไซร้ สุดท้าย ขบวนการต้านโกงก็เหนื่อยเปล่า เสียเงิน เสียเหงื่อ และจบด้วยเสียความรู้สึก

 

เมื่อ ACT ขันอาสานำภาคีทำศึกใหญ่แล้ว นอกจากแรงใจจากภาคประชาสังคมแล้ว นาทีนี้ ก็ควรเป็นอย่างที่องค์กรต้านโกงตั้งโจทย์มา กล่าวคือไล่เลียงตั้งแต่การวางนโยบาย และตามด้วยการเกาะติดทวงถาม ถ้าทำได้แบบเจ้าหน้าที่ทวงหนี้ หรือไฟแนนซ์ตามยึดรถเลยได้ยิ่งดี ในเวลาเดียวกัน ก็ควรมี "ธรรมนูญต้านโกง" เคียงขนานเป็นเงาติดตามพรรค-นักการเมืองไปด้วย กล่าวคือ...

 

1.รัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ นอกจากออกกฎหมายเพื่อสนับสนุนการปราบคนชั่วฉ้อราษฎร์บังหลวงแล้ว ยังมีพันธกิจตรวจสอบฝ่ายบริหารไปพร้อมกันด้วย ถ้ามีแนวโน้มเป็นสภาฝักถั่ว ก็ต้องออกแรงกดดันกันเป็นระลอก ลงเดินถนนไล่กังฉิน สังคมควรจะยกย่องสรรเสริญ

 

2.การบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการทุจริตอย่างเข้มข้น ทั้งออกกฎหมายที่ควรจะออกมาใหม่ และเฝ้าระวังพวกสนิมเกิดแต่เนื้อใน หาช่องแก้กฎหมายผ่อนคลายเพื่อค้ำชูระบบอุปถัมภ์กันในสภา(เช่น กฎหมายปราบโกง 7 ชั่วโคตร นิรโทษคดีประพฤติ มิชอบ)

 

3.องค์กรอิสระ ต้องอิสระจริงๆ ไม่ถูกแทรกแซงด้วยอิทธิพลใดๆ ทั้งอำนาจและผลประโยชน์ หน่วยไหนที่ยังมีกรรมการเป็นหนอนบ่อนไส้ ต้องพร้อมโละตั้งใหม่ ขณะเดียวกันก็ออกกฎสร้างเครือข่ายให้ครอบคลุมการตรวจสอบตั้งแต่ระดับชาติลงไปถึงท้องถิ่น

 

4.สร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นให้ได้ สำหรับกระบวนการประมูลโครงการขนาดใหญ่ ไม่ให้เกิดแจกจ่ายงุบงิบกันในหมู่คณะทุนใหญ่ในละครฉากใหญ่อันดูสมจริงว่าแข่งขันเสรี แต่หลังโรงเป็นบ่อเพาะปัญหาสังคมที่เรียกกันว่า ความเหลื่อมล้ำ

 

5.หามาตรการหรือออกกฎหมาย หยุดยั้งอามิสสินจ้าง ใต้โต๊ะ ตามน้ำ ในนาม "คอมมิชชั่น" ที่ฝังรากลึกลงในหน่วยงานหลักๆ ของชาติ อย่างที่เห็นกันอยู่ว่า สินบนโรลส์รอยซ์ ตอนนี้ได้หายลับเข้ากลีบเมฆไปเสียเฉยๆ เช่นเดียวกับ อาวุธยุทธภัณฑ์ ไอพ่นขับไล่ รถถัง เรือดำน้ำ ที่กำลังจะมาประจำการอ่าวไทย ที่กลายเป็นเขตทหารห้ามเข้า แตะต้องไม่ได้ไปเสียแล้ว ทั้งๆ ที่สังคมยังเคลือบแคลงสงสัย อย่างเรือเหาะนั่นปะไร คงคาใจกันไปชั่วลูกหลาน

 

เหล่านี้ เป็นแค่ตัวอย่างระดับ "ออเดิร์ฟ" เรียกน้ำย่อย เพราะภารกิจกวาดล้างขบวนการฉ้อราษฎร์บังหลวง ที่ฝังรากหยั่งลึกลงในทุกอณูเนื้อสังคมนั่น หนักหนาสาหัสซ้อนทับเป็นภูเขาเลากา

 

ยิ่งต้องวิงวอนร้องขอ "พวกเดียวกัน" มาปราบปรามกันเองด้วยแล้ว...ยิ่งหวังยาก

 

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw