Hot Topic!

ป.ป.ช.เตือนให้ของขวัญปีใหม่ ระวังเสี่ยงสินบน

โดย ACT โพสเมื่อ Dec 25,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ - -

 

บทความพิเศษ : อัครกิตติ์ กีรติธนาไชยยศ ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

 

เทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ใกล้เข้ามาแล้ว หลายองค์กรโดยเฉพาะบริษัทเอกชนก็มีคำถามถึงเรื่องของการให้ "ของขวัญ"หรือ "งานเลี้ยง" ในช่วงเทศกาล ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมของการประกอบธุรกิจทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียมาอย่างยาวนาน แต่ในขณะเดียวกัน ของขวัญราคาแพงหรือการเลี้ยงอาหารที่หรูหราแก่เจ้าพนักงานของรัฐ อาจกลายเป็นการให้สินบนและมีความผิดตามกฎหมายได้ ซึ่งในปัจจุบันกฎหมายต่อต้านการให้สินบนมีความเข้มงวดมากขึ้น ทำให้หลายองค์กรเกิดความกังวลว่าจะสามารถให้ของขวัญได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือการเข้าใจในสาระสำคัญของกฎหมายต่อต้านสินบน และสร้างแนวทางกำกับดูแลที่ดีภายในองค์กร

 

สำหรับประเทศไทย เรามีกฎหมายและหลักเกณฑ์สำหรับเจ้าพนักงานของรัฐในการรับของขวัญและประโยชน์ต่างๆ จากบุคคลอื่น ได้แก่ กฎหมายเรื่องการรับทรัพย์สินและประโยชน์อื่นใดของเจ้าพนักงานของรัฐ ตามมาตรา 128 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ.2561 (มาตรา 103 เดิม) และ ประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช.พ.ศ.2543 ซึ่งได้กำหนดมูลค่าของทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถรับได้โดยธรรมจรรยาจากบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ญาติได้ไม่เกิน 3,000 บาท

 

ส่วนในฝั่งของผู้ให้นั้น แม้การให้ของขวัญไม่ได้เป็นความผิดตามกฎหมาย แต่การให้ของขวัญหรือการเลี้ยงรับรองเจ้าพนักงานของรัฐอาจเข้าข่ายเป็น "สินบน" ได้ หากเป็นการให้เพื่อจูงใจให้เจ้าพนักงานกระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ โดยบทบัญญัติเรื่องการต่อต้าน "การให้" สินบนในปัจจุบัน นอกจากในประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ยังมีอยู่ในมาตรา 176 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 (หรือเดิมคือมาตรา 123/5 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับที่ 3 พ.ศ.2558) ซึ่ง "สินบน" อาจมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น เงินสด บัตรกำนัล บ้าน รถยนต์ แพ็คเกจท่องเที่ยว การเลี้ยงรับรอง เป็นต้น

 

โดยนอกจากผู้ให้สินบนที่จะต้องรับผิดโดยตรงแล้ว กฎหมาย ป.ป.ช.ยังวางหลักว่า บริษัทที่เกี่ยวข้องกับผู้ให้สินบนนั้นอาจต้องร่วมรับผิดด้วย หากการให้นั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เจ้าพนักงานของรัฐกระทำการอันไม่ชอบด้วยหน้าที่เพื่อให้บริษัทได้รับประโยชน์ และบริษัทไม่มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการให้สินบน เช่น พนักงานของบริษัทให้ของขวัญราคาแพงแก่เจ้าพนักงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการออกใบอนุญาต เพื่อให้ เจ้าพนักงานช่วยให้บริษัทได้รับใบอนุญาตทั้งๆ ที่มีเอกสารประกอบไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ และบริษัทไม่มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อวางแนวปฏิบัติที่ดีให้แก่บุคลากรของตนเอง อาทิ ไม่มีการกำหนด แนวปฏิบัติที่ชัดเจนว่าพนักงานลูกจ้างสามารถให้ของขวัญหรือเลี้ยงรับรองลูกค้าที่เป็น เจ้าพนักงานของรัฐได้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด  ขั้นตอนการขออนุมัติต้องทำอย่างไร หรือกรณีที่มีการกำหนดแนวปฏิบัติแล้ว แต่ไม่เคย สื่อสารหรือฝึกอบรมให้พนักงานลูกจ้างเข้าใจ ในขั้นตอนดังกล่าว

 

ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่บริษัทอาจต้องรับผิดหากมีพนักงานลูกจ้างใช้ของขวัญ เหล่านี้เป็นช่องทางการให้สินบนเพื่อสร้างยอดขายหรือหากำไรให้บริษัท บริษัทมีข้อพิจารณาที่สำคัญก่อนจะอนุมัติการให้ของขวัญหรือการเลี้ยงรับรองในช่วงเทศกาลเช่นนี้ ได้แก่ 

 

ให้ใคร : หากเป็นการให้ของขวัญแก่เจ้าพนักงานของรัฐ ควรมีการควบคุมตรวจสอบอย่างระมัดระวัง

 

ให้อะไร : ของขวัญหรือมื้ออาหารที่จะเลี้ยงรับรองมีความเหมาะสมกับโอกาสหรือไม่ หากจำเป็นจะต้องมีการให้ของขวัญ ควรหลีกเลี่ยงการให้เงินสด สิ่งของมูลค่าสูง การพาไปเลี้ยงอาหารที่หรูหราราคาแพง รวมทั้งการพาไปท่องเที่ยว โดยอาจเปลี่ยนเป็นสิ่งของมูลค่าเล็กน้อยที่ทำแจกเป็นการทั่วไป เช่น ปฏิทิน สมุด ปากกาที่มีโลโก้ของบริษัทแทน

 

ให้เมื่อไร : ช่วงเวลาและความบ่อยครั้งของการให้ เช่น ไม่ควรให้ของขวัญแก่เจ้าพนักงานของรัฐในช่วงที่อยู่ระหว่างการประมูลโครงการของหน่วยงานรัฐที่เจ้าพนักงานรายนั้นสังกัดอยู่

 

ให้ทำไม : ต้องแน่ใจว่าไม่ได้เป็นการให้เพื่อจูงใจให้เจ้าพนักงานของรัฐกระทำการอันไม่ชอบด้วยหน้าที่ เพื่อช่วยเหลือให้บริษัทให้รับประโยชน์

 

การอนุมัติการให้ของขวัญหรือเลี้ยงรับรองดังกล่าวไม่ได้ฝ่าฝืนกฎหมายหรือกฎระเบียบภายในของบริษัท มีการลงบันทึกค่าใช้จ่ายอย่างถูกต้องตรงกับความเป็นจริง และมีใบเสร็จหรือหลักฐานรับรอง

 

ในปัจจุบัน หลายบริษัทได้จัดทำคู่มือแนวปฏิบัติเรื่องการให้และรับของขวัญโดยเฉพาะและเผยแพร่ให้กับพนักงานลูกจ้างเพื่อให้ได้รับทราบถึงขั้นตอนการขออนุมัติ หรือบางบริษัทจัดทำแบบฟอร์มเพื่อให้กรอกรายละเอียดที่จำเป็นเพื่อใช้ขออนุมัติ ซึ่งจะช่วยให้พนักงานมีแนวทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และลดโอกาสในการให้ของขวัญหรือเลี้ยงรับรองตามอำเภอใจ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อบริษัทได้

 

สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ให้คำปรึกษาสำหรับนิติบุคคลเพื่อป้องกันการให้สินบน (ABAS) www.nacc.go.th/abas

 

 

 

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw