Hot Topic!

เลือกใครมาปราบโกง

โดย ACT โพสเมื่อ Jan 09,2019

- - ขอบคุณข้อมูลจาก คมชัดลึก - -

 

มีอีกกรณีสุดคลาสสิก อันสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในหลากหลายรูปแบบยังคงดำรงอยู่หยั่งรากฝังลึก ที่รู้กันอยู่ว่าเป็นก้อนเนื้อมะเร็งร้ายเกาะกินสังคมไทยมาช้านาน แม้ขบวนการรีดส่วยสถานบันเทิงที่เกาะภูเก็ตอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การมีอยู่จริงของมันย่อมสะท้านสะเทือนถึงแนวทางการปฏิรูปประเทศ ดังที่ มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) ให้ข้อมูลผ่านโลกออนไลน์ว่า ทุกวันนี้สถานบันเทิง ผับ บาร์ ในภูเก็ตต้องจ่ายส่วยรายเดือนแห่งละ 37,000 บาท ให้แก่คนที่อ้างว่ามาจากหน่วยงานต่างๆ 25 หน่วยงาน และหากสถานบันเทิงแห่งนั้นมีลูกจ้างเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายก็ต้องจ่ายอีกรายละ 9,100 บาท ประเมินว่าทั่ว จ.ภูเก็ต มีสถานบันเทิง 1,000 แห่ง เท่ากับมีส่วยรายเดือนรวม 37 ล้านบาท ขณะที่ส่วยต่างด้าวผิดกฎหมายกว่า 27 ล้านบาท

 

เลขาธิการองค์การต่อต้านคอร์รัปชันยังอ้างด้วยว่า มีงานวิชาการจำนวนมากระบุว่า สาเหตุที่ส่วยดำรงอยู่ได้ทุกวันนี้เป็นเพราะประเทศไทยขาดมาตรการตรวจจับข้าราชการที่ร่ำรวยผิดปกติ ไม่มีการปกป้องประชาชนและสื่อมวลชนที่ขุดคุ้ยขัดขวางพฤติกรรมชั่ว สังคมไม่เคารพความถูกต้อง วัฒนธรรมนับถือคนรวยมีอำนาจ นักการเมืองไม่ใส่ใจแก้ปัญหา มัวแต่มุ่งหาประโยชน์และสร้างเครือข่ายของตน กลไกตรวจสอบและรักษาความยุติธรรมของรัฐร่วมฉ้อฉลเสียเอง ระบบเส้นสายการซื้อขายตำแหน่ง ข้าราชการมีอำนาจและโอกาสใช้ดุลพินิจมากเกินไปโดยที่กฎหมายมีมากจนเฟ้อ แม้หลายเรื่องจะล้าหลัง หรือไม่มีประโยชน์แล้ว ก็ยังบังคับใช้อยู่ ส่วยจึงเป็นอีกปัญหาคอร์รัปชั่น ขั้นวิกฤติที่พรรคการเมืองและนักการเมืองควรเสนอต่อประชาชนในการหาเสียงเลือกตั้งว่า มีนโยบายปราบปรามอย่างไร

 

ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ในระดับพื้นๆ อย่างเช่นข้อมูลส่วยที่มีออกมาอย่างสม่ำเสมอ ระบบอุปถัมภ์ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น บิดาของการโกง ยังได้สร้างพัฒนาการการฉ้อราษฎร์บังหลวงให้แนบเนียนกลมกลืน ต่างออกไปจากการโกงซึ่งหน้า อย่างเช่น ผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งแม้ตำแหน่งระดับสูงที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเข้าไปโกงกินได้ คือที่ปรึกษา-บอร์ด แต่อำนาจบารมีและอิทธิพลซึ่งเกาะติดระบบราชการก็เปิดช่อง ความพยายามแก้กฎหมายแสดงบัญชีทรัพย์สินที่ต้องพบอุปสรรคขัดขวางที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า การจะสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในทุกๆ อณูเนื้อของระบบนั้นเป็นเรื่องยากเย็นเข็ญใจ ขณะที่องค์กรอิสระผู้มีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามเอง หรือแม้แต่ที่เป็นต้นธารของการกลั่นกรองคนเข้าสู่อำนาจ ก็ดูเหมือนจะตกอยู่ภายใต้เงื้อมเงาของขุมข่ายอุปถัมภ์ไปด้วย

 

นับเป็นประเด็นอันควรสนับสนุนอย่างยิ่งที่องค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้พรรคการเมืองและนักการเมืองแสดงนโยบายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นต่อสังคม ซึ่งประชาชนจำนวน 52 ล้านคนจะได้ร่วมกันชี้ขาดว่า พวกเขาจะมอบความไว้วางใจให้คนกลุ่มใดเข้าไปรับภารกิจปัดกวาดบ้านเมือง ซึ่งนอกจากพวกเขาจะรับฟัง ไตร่ตรองจากนโยบายของนักการเมืองและพรรคการเมืองแล้ว ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องตระหนักถึงพฤติกรรมที่ผ่านมาของนักการเมืองบางคนด้วยว่า อยู่ในจำพวกปากว่าตาขยิบหรือไม่ ขณะเดียวกัน การเสนอนโยบายอย่างผิวเผินเพียงให้ฟังดูดีว่า จะมุ่งปราบปรามการทุจริตทุกระดับชั้น เหมือนกับคำพูดทำนองว่า จะปฏิรูปสารพัดด้าน ก็ไม่น่าจะเพียงพอ เพราะปัญหาโกงกินอันฝังแน่นขณะนี้ จำเป็นต้องชำระสะสางรื้อล้างทั้งระบบ รวมทั้งคณะที่เรียกว่า องค์กรอิสระด้วย

 

 

 

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw