Hot Topic!

คอร์รัปชัน “ไทย” ติด 99 จาก 180 ประเทศ

โดย ACT โพสเมื่อ Jan 29,2019

- - ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยรัฐ - -

 

ปีที่แล้ว ‘96’ โปร่งใสลดร่วง-1 แต้ม


องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เปิดดัชนีการรับรู้คอร์รัปชันของ 180 ประเทศทั่วโลก “ประเทศไทย” ร่วงทั้งอันดับและคะแนน โดยรูดลงมาถึง 3 อันดับ จาก 96 หล่นไป ที่ 99 ส่วนคะแนนความโปร่งใสลดลงไป 1 แต้ม องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ระบุสาเหตุมาจากระบบข้าราชการยังแก้เรื่องรับสินบนไม่ได้ หนำซ้ำองค์กรตรวจสอบทุจริตค่อนข้างอ่อนแอ ถึงขั้นลดการฝากความหวังไว้กับการเมืองและ ป.ป.ช. ขณะที่เลขาฯ ป.ป.ช.ยัน ไทยได้คะแนนเท่าเดิม 6 แหล่ง ลดลง 3 แหล่ง จากความสามารถในการแข่งขัน-ขาดความชัดเจนเรื่องเลือกตั้ง-การถ่วงดุลของสามเสาหลักของประเทศไม่ชัดเจน


สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 29 ม.ค.ว่า องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International-TI) ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เปิดเผยรายงานดัชนีการรับรู้การคอร์รัปชันโลก ปี 2561 ใน 180 ประเทศทั่วโลก ที่มีการให้คะแนนตั้งแต่ระดับ 0-100 คะแนนต่ำสุด หมายถึงการคอร์รัปชันสูง ขณะที่ 100 คะแนน หมายถึงโปร่งใส


จากผลสำรวจพบว่า 2 ใน 3 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้คะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน เฉลี่ยแล้วเพียง 43 คะแนน หมายถึง หลายประเทศส่วนใหญ่ยังไม่ สามารถแก้ปัญหาการคอร์รัปชันได้อย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้เห็นวิกฤติปัญหาการปกครองระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก ซึ่งนับแต่ปี 2555 มีเพียง 20 ประเทศที่ปรับปรุงคะแนนให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และมี 16 ประเทศ ได้คะแนนลดลง อาทิ ออสเตรเลีย ชิลี มอลตา ตุรกี และเม็กซิโก ส่วน 5 ประเทศที่ต้องเฝ้า จับตามอง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮังการีและบราซิล


สำหรับประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 99 ด้วยคะแนนความโปร่งใส 36 คะแนน หล่นลงไปจากปี 2560 ที่ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 96 ด้วยคะแนน ความโปร่งใส 37 คะแนน นั่นหมายถึง มีการคอร์รัปชันเพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก ที่มีความโปร่งใสมากที่สุด ได้แก่ นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 2 และ 3 ด้วยคะแนนความโปร่งใส 87 กับ 85 ตามลำดับ ส่วนประเทศที่โปร่งใสมากที่สุดได้แก่ เดนมาร์ก 88 คะแนน ประเทศที่โปร่งใสน้อยที่สุดยังเป็นโซมาเลีย ตามด้วย ซูดานใต้และซีเรีย ด้วยคะแนน 10, 13 และ 13 ตามลำดับ สำหรับสหรัฐอเมริกา ถือเป็นครั้งแรกนับแต่ปี 2554 ที่ไม่ติด 20 อันดับแรกประเทศโปร่งใส เพราะเสียไป 4 คะแนน จาก 75 คะแนนไปอยู่ที่ 71 คะแนน ทำให้ตกไปอยู่ในอันดับที่ 22


ทั้งนี้ นางแพทริเซีย โมไรรา ผู้อำนวยการ TI แนะว่า หากต้องการให้การแก้ปัญหาคอร์รัปชันเกิดความก้าวหน้าอย่างจริงจัง และเสริมสร้างประชาธิปไตยทั่วโลกให้มั่นคงแข็งแรง รัฐบาลควรส่งเสริมเสรีภาพของสื่อ และสนับสนุนองค์กรที่เกี่ยวกับประชาสังคม เพื่อให้สังคมและประชาชนสามารถตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ


ต่อมานายมานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงกรณีองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ จัดอันดับดัชนีการรับรู้คอร์รัปชันของไทย ร่วงลงทั้งอันดับ และคะแนนที่ลดลง 1 คะแนน สาเหตุหนึ่งมาจากระบบราชการที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องการรับสินบนได้ และช่วงที่ผ่านมา องค์กรในการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันค่อนข้างอ่อนแอลง ยอมรับว่าคะแนนของไทยที่ลดลง ทำให้เป้าหมายของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่จะรณรงค์ให้ไทยได้รับคะแนนเกิน 50 คะแนนในปี 64 หรือเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ต้องการผลักดันให้ไทยติด 1 ใน 20 ประเทศที่มีภาพลักษณ์โปร่งใสนั้น ห่างไกลความจริงมาก อย่างไรก็ตาม องค์กรฯไม่ย่อท้อจะเดินหน้าจับมือกับภาคประชาชน ภาคเอกชน และสังคมในการรณรงค์ต่อไป แต่จะลดการฝากความหวังไว้กับการเมือง และ ป.ป.ช.


ขณะที่นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ปี 2018 ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ที่คะแนนเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 43 คะแนน จาก 100 คะแนน แต่ประเทศไทยได้ 36 คะแนน อยู่ลำดับ 99 จาก 180 ประเทศ เมื่อพิจารณาจากแหล่งข้อมูลการให้คะแนนพบว่า ไทยได้คะแนนเท่าเดิม 6 แหล่ง อาทิ กระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย ความเสี่ยงด้านการเมือง เศรษฐกิจ ปัจจัยเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่เสี่ยงต่อการแทรกแซงของเจ้าหน้าที่รัฐ หลักนิติธรรม ส่วนที่คะแนนลดลง 3 แหล่ง ได้แก่ ความสามารถการแข่งขันของประเทศ มุมมองของนักธุรกิจท้องถิ่นและนักธุรกิจต่างชาติที่ทำธุรกิจในประเทศ ความหลากหลายของประชาธิปไตยที่สังคมโลกยังมองว่า ไทยยังขาดความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง มีข้อจำกัดเรื่องสิทธิเสรีภาพเพื่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ การถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและกระบวนการยุติธรรมไม่ชัดเจน

 

 

 

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw