Hot Topic!

คอร์รัปชันกับปรากฏการณ์หลังการเลือกตั้ง

โดย ACT โพสเมื่อ Mar 12,2019

- - ขอบคุณข้อมูลจาก มติชน - -

 

โดย ผศ.ดร.รัฐพงศ์  บุญญานุวัตร ศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

 

เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Tran-sparency International-TI) เปิดเผยรายงานดัชนีการรับรู้การคอร์รัปชันโลก ปี 2561 ใน 180 ประเทศทั่วโลก

 

จากผลการสำรวจพบว่า 2 ใน 3 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้คะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน เฉลี่ยแล้วเพียง 43 คะแนน สะท้อนให้เห็นว่าประเทศส่วนใหญ่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้อย่างต่อเนื่องจนส่งผลให้เห็นวิกฤตปัญหาการปกครองระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก และจากการสำรวจตั้งแต่ปี 2555 มีเพียง 20 ประเทศที่ปรับปรุงคะแนนให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และมี 16 ประเทศได้คะแนนลดลง

 

ในกรณีดังกล่าวประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 99 ด้วยคะแนนความโปร่งใส 37 คะแนน นั่นหมายถึงมีการคอร์รัปชั่นเพิ่มขึ้น และหากไปดูประเทศในเอเชียแปซิฟิก พบว่านิวซีแลนด์และสิงคโปร์มีความโปร่งใสอยู่ในอันดับที่ 2 และที่ 3 ด้วยคะแนน 87 กับ 85

 

จากปรากฏการณ์ที่องค์กรนานาชาติสะท้อนเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นอีกวาระหนึ่งนั้นจะเห็นได้ว่าวันนี้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกยังประสบกับปัญหาหรือภัยคุกคามอันเนื่องมาจาก "คน" ในสังคมและประเทศก่อให้เกิด และหากมองให้ลึกถึงแก่นการคอร์รัปชั่นเปรียบเสมือนมะเร็งร้ายชิ้นใหญ่ที่เกาะกัดและฝังลึกอยู่ในสังคมต่างๆ ทั่วโลก

 

ด้วยภัยของการคอร์รัปชันที่มีทีท่าว่าจะยังลุกลามอย่างต่อเนื่องวันนี้ถึงแม้ทั่วโลกจะตระหนักและให้ความสำคัญในการป้องกันและปราบปรามแต่ในทางตรงกันข้ามโรคร้ายดังกล่าวยังไม่สามารถจะหาวัคซีนหรือหมอที่เก่งกล้ามาเยียวยารักษาได้

 

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญกับภัยคุกคามนี้มาอย่างยาวนานและภัยร้ายนี้เองกลับส่งผลกระทบและนำมาซึ่งความเสียหายที่ไม่อาจจะประมาณค่าได้ ทั้งๆ ที่บ้านเมืองมีขื่อมีแปและสามารถดำเนินการผู้กระทำผิดได้อย่างถูกต้องชอบธรรม ด้วยเหตุนี้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยมีกฎมีเกณฑ์แต่กลับไม่จริงจังและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จะมีบ้างก็เป็นเพียงแค่กระแสแต่ที่ไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเฉพาะรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจในการบริหารจัดการก็ยังไม่มีรัฐบาลใดสอบผ่านกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น

 

เมื่อองค์กรระดับโลกรายงานเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อหน้าตาและชื่อเสียงของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยกระแสของมิติที่ว่าด้วยประเทศไทยยังจมปลักในวังวนของการทุจริต ประชาชนเจ้าของประเทศโดยเฉพาะผู้เสียภาษีย่อมที่จะตั้งโจทย์หรือสะท้อนเป็นการบ้านไปยังรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ในขณะที่นายมานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์ต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทย เปิดเผยถึงกรณีการจัดอันดับดัชนีการรับรู้คอร์รัปชัน ของประเทศไทยที่ร่วงลงทั้งอันดับและคะแนนที่ลดลง 1 คะแนน สาเหตุหนึ่งมาจากระบบราชการที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการรับสินบนได้ และช่วงที่ผ่านมาองค์กรในการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นค่อนข้างอ่อนแอลง ยอมรับว่าคะแนนของไทยที่ลดลงทำให้เป้าหมายของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่จะรณรงค์ให้ไทยได้คะแนนเกิน 50 คะแนนในปี 2564 หรือเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติปีที่ต้องการผลักดันให้ไทยติด 1 ใน 20 ประเทศที่มีภาพลักษณ์โปร่งใสนั้นห่างไกลความจริงมาก อย่างไรก็ตามองค์กรฯไม่ย่อท้อที่จะเดินหน้าจับมือภาคประชาชนภาคเอกชนและสังคมในการรณรงค์ต่อไปแต่จะลดการฝากความหวังไว้กับการเมืองและ ป.ป.ช.

 

เมื่อกล่าวถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับมิติของการต่อต้านคอร์รัปชั่นต้องย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2561 ซึ่งเป็นงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธานประกาศเจตนารมณ์ในการต่อต้านทุจริตว่า "ปัญหาการทุจริตเป็นเรื่องสำคัญของประเทศชาติและของโลกตนต้องการรณรงค์ให้ประชาคมโลกตระหนักต่อภัยร้ายแรงของการคอร์รัปชั่น พร้อมประกาศเจตนารมณ์ในการไม่ยอมรับและทนต่อการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบในสังคม ซึ่งปัญหาคอร์รัปชั่นของไทยเป็นปัญหาสะสมมาอย่างยาวนานส่งผลต่อภาพลักษณ์สังคมในภาพรวมทั้งเรื่องแต่งตั้งโยกย้าย การจัดซื้อจัดจ้าง การใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายและสู้กันทางกฎหมายซึ่งที่ผ่านมาหลายคนถูกลงโทษไปแล้ว"...(มติชนออนไลน์ 7 ธันวาคม 2561)

 

ต่อกรณีที่ผู้นำประเทศประกาศเจตนารมณ์และแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนและเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมกันต่อต้านการโกงนั้นคงจะต้องมองไปในอนาคตเมื่อประเทศไทยผ่านการเลือกตั้งไปแล้วปรากฏการณ์การทุจริตคอร์รัปชันวันนั้นกับวันนี้ยังจะมีให้เห็นอีกหรือไม่ และห้วงเวลาใดที่มีการโกงกินมากกว่ากัน

 

นักการเมืองหรือผู้มีอำนาจเป็นหนึ่งในจำเลยของสังคมเกี่ยวกับการทุจริตมาอย่างยาวนานยิ่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยแล้ว ความศรัทธาและความน่าเชื่อมั่นของประชาชนมักจะมีน้อยและส่งผลไปในทางลบ ซึ่งในความเป็นจริงของสังคมไทยบางยุครัฐบาลที่มาจากรัฐประหารกลับมีการกล่าวหาว่าการทุจริต เกิดขึ้นและมีไม่น้อยไปกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปีพุทธศักราช 2560 ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงแต่หากเจาะลึกลงไปจะพบว่าภายหลังการประกาศใช้กฎหมายสูงสุดการปกครองประเทศฉบับนี้การโกงกินการแสวงหาผลประโยชน์โดยข้าราชการและผู้มีอำนาจหาได้ลดลงไม่ต่อกรณีนี้จึงมีประเด็นคำถามสะท้อนไปยังรัฐบาลและผู้มีอำนาจว่ารับรู้และรับทราบถึงกระบวนการตลอดจนกลวิธีที่สร้างความเสียหายให้กับสังคมและประเทศหรือไม่ แน่นอนในโลกแห่งความเป็นจริงโดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีข้อมูลสารสนเทศก้าวไกลและกระจายอยู่ตลอดเวลา ปรากฏการณ์เหล่านี้คงไม่เล็ดลอดที่จะผ่านเลยไป รัฐบาลและองค์กรที่เกี่ยวข้องย่อมรับรู้และรับทราบ เพียงแต่ว่าเมื่อมีอำนาจและมีโอกาสในการปฏิรูปประเทศแล้วผู้เกี่ยวข้องได้ดำเนินการอย่างจริงจังและจริงใจมากน้อยแค่ไหน

 

วันนี้พรรคการเมืองต่างๆ ได้มีการเผยแพร่นโยบายสู่สาธารณะกันอย่างหลากหลายทุกพรรคมุ่งเน้นที่จะโปรยยาหอมหรือหยดน้ำผึ้งออกมาให้ประชาชนลิ้มลอง แต่เท่าที่สังเกตจะพบว่าทุกพรรคมุ่งเน้นและขายฝันไปที่การแก้ปัญหาปากท้องและอีกนานาสารพัด แต่ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ทำลายล้างสังคมและประเทศมาอย่างยาวนาน ยังไม่มีพรรคใดประกาศจุดยืนและเจตนารมณ์อย่างชัดเจน

 

ประเทศไทยเมื่อเข้าสู่เส้นทางประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง จึงเป็นโอกาสและความหวังที่คนไทยจะร่วมกันมอบอำนาจการบริหารจัดการประเทศผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อไปเฟ้นหาผู้นำและบุคลากรร่วมจัดตั้งรัฐบาลสำหรับการนำประเทศไปสู่การพัฒนาและแข่งขันกับโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงได้ ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ภายหลังการเลือกตั้งรัฐบาลตลอดจนผู้แทนต้องเข้าใจเข้าถึงในแก่นแท้หรือรากเหง้าของปัญหาการโกงกิน และพร้อมที่จะขจัดให้เกิดความโปร่งใสทัดเทียมกับนานาประเทศ ที่ปราศจากฉ้อราษฎร์บังหลวง รวมทั้งเป็นต้นแบบของความพอเพียงบนพื้นฐานของศาสตร์พระราชา

 

ภายหลังการเลือกตั้งรัฐบาล นักการเมือง ข้าราชการ ตลอดจนประชาชนชาวไทยทั้งมวลควรที่จะสำนึกและน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานไว้ความตอนหนึ่งว่า

 

"...ถ้าทุจริตแม้แต่นิดเดียวก็ขอแช่งให้มีอันเป็นไป พูดอย่างนี้หยาบคาย แต่ว่าขอให้มีอันเป็นไป แต่ถ้าไม่ทุจริต สุจริตและมีความตั้งใจมุ่งมั่นสร้างความเจริญก็ขอให้ต่ออายุได้ถึง 100 ปี ส่วนคนไหนที่มีอายุมากแล้วขอให้แข็งแรง ความสุจริตจะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นอันตราย..."

 

 

 

 

 

 

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw