Article

‘งบจัดซื้อจัดจ้าง’ = เงินภาษีคนไทย..ใช้ไปเท่าไหร่กัน?

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 04,2019

 

ในแต่ละปีหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่างมีงบประมาณและโครงการที่ต้องทำจำนวนมาก แต่เมื่อรวมแล้วเป็นเงินในการจัดซื้อจัดจ้างมากแค่ไหน ? คำถามนี้ผมคิดว่าคงไม่มีใครสามารถตอบได้ทันที รวมทั้งตัวผมเอง

 

สาเหตุก็เพราะว่า ปัญหาสำคัญไม่ใช่แค่ “ตัวเลข” หรือ จำนวนเงิน “ก้อนโต” ที่ “รั่ว” หายไปกับคำว่า “สินบน” เท่านั้น  ถ้าอ้างอิงตามดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย (CSI) ระบุก็ประมาณ 2 - 3 แสนล้านบาทต่อปี แต่ยังมีเรื่อง “ระบบการจัดการข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง” ที่เปรียบเสมือน “ภูเขาน้ำแข็ง” ตรงที่ปัญหามีอยู่จริง ยากจะกำจัด และไม่ค่อยมีคนมองเห็น มารู้อีกทีก็ตอนประเทศเสียหายพังพาบ ปราบโกงยากเมื่อสาย

 

ลองพิจารณา “ข้อมูล” อ้างอิงจากตัวเลขของปีงบประมาณพ.ศ. 2561 ประกอบดังนี้

 

1.โดยภาพรวมทุกหน่วยงาน (ราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) มีการจัดซื้อจัดจ้างที่บันทึกในระบบ e - GP ของกรมบัญชีกลางทั้งสิ้น (เพียง) 3,524,827 รายการ รวมเป็นเงิน 1,001,867.90 ล้านบาท  แต่ตัวเลขที่เป็นจริงจะสูงกว่านี้ หากทุกหน่วยงานรายงานข้อมูลถูกต้อง ครบถ้วน

 

2.หน่วยงานราชการ โดยทั่วไปร้อยละ 20 ของ “งบประมาณหน่วยงานรัฐ” เป็นงบลงทุนที่ต้องมีการจัดซื้อจัดจ้าง (ซื้อ/จ้าง/เช่า/แลกเปลี่ยน/นิติกรรมอื่น) ดังนั้น เมื่อ “ประเมินคร่าวๆ” จากงบประมาณแผ่นดินปีละ 3 ล้านล้านบาท จะมีการจัดซื้อจัดจ้างเกิดขึ้นราว 9 แสนล้านบาทต่อปี นอกนั้นเป็นงบอื่นๆ และงบดำเนินงานที่มักจะมีค่าใช้จ่ายที่ต้องจัดซื้อจัดจ้างแฝงอยู่อีกประมาณร้อยละ 10

 

3.รัฐวิสาหกิจ 45 แห่ง มีงบประมาณเพื่อการลงทุน 3.78 แสนล้านบาท

มีข้อสังเกตว่า รัฐวิสาหกิจจัดแบ่งสินค้าและบริการที่จัดซื้อออกเป็น (ก) การจัดซื้อทั่วไป และ (ข)การจัดซื้อเพื่อการพาณิชย์ที่ไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง เช่น การซื้อน้ำมันและก๊าซของ ปตท.

 

4.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,852 แห่งทั่วประเทศ มีงบที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลรวมกัน 7.21 แสนล้านบาท   หากอนุมานตามสัดส่วนที่กล่าวแล้วในข้อ 2 จึงประมาณว่ามีการจัดซื้อราว 2.1 แสนล้านบาท น่าเสียดายที่ไม่พบรายละเอียดการแจกแจงประเภทของงบประมาณ และแหล่งรวบรวมข้อมูลกลางว่าอยู่ที่หน่วยงานใด 


ดังที่ทราบกันดีว่า เป้าหมายการนำ “เงินภาษีของประชาชน” ผ่าน “งบประมาณแผ่นดิน” ไปใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่างๆ ของหน่วยงานรัฐ ก็เพื่อการพัฒนาประเทศและให้บริการประชาชน แต่เป็นโชคร้ายของบ้านเมือง เพราะที่ผ่านมาได้เกิดคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างเสียราวร้อยละ 15 – 30 หรือประมาณ 2 - 3 แสนล้านบาทต่อปี

 

ผมคิดว่าเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยป้องกันความสูญเสียนี้ได้แก่ “ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง” ที่ควรถูกเปิดเผย เปิดอย่างไรให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ ไม่ใช่เปิดไม่ครบหรือเปิดแบบกลัวคนรู้อีกต่อไป และที่สำคัญมากที่สุด คือการยุติปัญหานี้เป็นหน้าที่คนไทยในการตรวจสอบ ป้องกัน มิให้ใครปล้นสมบัติของชาติได้


ดร. มานะ นิมิตรมงคล

เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

 4 มิถุนายน 2562



 

ข้อมูลจากระบบ e-GP รวบรวมและแสดงในเว๊ปไซท์ “ภาษีไปไหน” https://govspending.data.go.th/dashboard/1

ตาม พ.ร.บ. จัดซื้อฯ ทุกหน่วยงานของรัฐ คือ หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ต้องบันทึกรายการจัดซื้อจัดจ้างลงในระบบ e-GP และ GF-MIS ของกรมบัญชีกลางตามลำดับ แต่การที่ตัวเลขที่ปรากฏนี้ยังต่ำกว่าความเป็นจริง คาดว่าเป็นเพราะบางหน่วยงานยังไม่รู้หรือไม่เข้าใจ

เฉพาะ รสก. ในกำกับของ สคร. https://drive.google.com/file/d/1cqrWamyNsQdKmajP-Wwsa1r6CFY1tTv9/view

https://mgronline.com/politics/detail/9600000060783

ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย (CSI) สำรวจทุก 6 เดือนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมาโดย ม.หอการค้าไทย พบว่ามีการจ่ายสินบนหรือเงินโต๊ะในการจัดซื้อจัดจ้างราวร้อยละ 15 – 30 มากน้อยขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเมืองและความเอาจริงเอาจังในการป้องกันของผู้นำรัฐบาลแต่ละยุค  

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw