Hot Topic!

'พ.ร.บ.สสส.'เพื่อประชาชน

โดย ACT โพสเมื่อ Apr 05,2017

น่าเป็นห่วง ความขัดแย้งอันเนื่องจาก "ความเห็นต่าง" ร่างพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) (ฉบับที่...) พ.ศ. ...ซึ่งเป็นการแก้ไข 16 ประเด็นของ พ.ร.บ.สสส. พ.ศ. 2544 โดยระบุว่ามีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับการดำเนินงานของกองทุน และการใช้จ่ายเงินงบประมาณไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงยุติธรรม ก่อนจะมาจัดประชุมสัมมนาประชาพิจารณ์สอบถามความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้อง แต่ตัวแทนภาคประชาสังคมก็วอล์กเอาต์

โดยให้เหตุผลว่ากระบวนการและขั้นตอนการจัด ทำร่างแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน ไม่สอดคล้องกับมาตรา 77 ของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับผ่านประชามติ จึงควรเปิดเวทีกระจายทั่วทั้งสี่ภาค เพราะงานของ สสส.ครอบคลุมประชากรทั่วประเทศ มิใช่จัด "ประชาพิจารณ์ไม่เป็นธรรม" ใช้ชื่อว่า "สัมมนาประชาพิจารณ์" เปิดให้ผู้เข้าร่วมรับฟังเฉพาะที่ได้รับเชิญ และจัดครั้งเดียวจบ อีกทั้งการระบุหลักการและเหตุผลว่า มีการใช้จ่ายเงินไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล แต่ความเป็นจริง สสส.ได้รับผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในระดับสูงจากองค์กรตรวจสอบภาครัฐ ซึ่งไม่พบการทุจริต มีแต่การใช้เงินผิดวัตถุประสงค์เท่านั้น

ต้องยอมรับว่า มูลเหตุที่มาของการแก้ไข เนื่องเพราะความหวาดระแวงการใช้เงินกองทุนและการคัดเลือก "คน" ที่มาร่วมขบวนการอาจเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งมิใช่เพิ่งเกิดในยุคคณะ รักษาความสงบแห่งชาติและรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ต้องการแก้ไข แต่ครั้นลงมือทำก็มีอันเป็นไปทุกที การที่ คสช.และรัฐบาลรับ "เผือกร้อน" มาทำ ถือเป็นความกล้าหาญ เพื่อสร้างความชอบธรรมและเป็นธรรมกับทุกคนทุกฝ่าย ทว่า กระบวนการดำเนินงานอาจขัดหู ขัดตา ขัดใจผู้ได้รับผล กระทบ จึงควรตระหนักถึงการสร้างบรรยากาศที่ดี เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องร่วมกัน

"ประชาพิจารณ์" มิใช่พิธีกรรมที่รัฐต้องทำตามระเบียบข้อกำหนดเพื่อให้โครงการหรือกฎหมายบรรลุผล หรือการล้ม "ประชาพิจารณ์" ของผู้เห็นต่างก็มิใช่การล่มโครงการหรือฉีกกฎหมายฉบับนั้น แต่ "ประชาพิจารณ์" เป็นเวทีของผู้ทำงานเพื่อประชาชน ทั้งเห็นด้วยและเห็นต่างได้มาแสดงเจตนาช่วยประชาชนของตนด้วยความจริงใจ โดยยึดหลักความรู้ ค้นหาวิธีแก้ปัญหาร่วมกัน มิใช่หาความเด่นดัง สร้างผลงาน ความสะใจ หวังผลการเมืองในอนาคต หากสองฝ่ายได้เข้าใจความรู้สึก ข้อจำกัด เคารพซึ่งกันและกันแล้ว ความขัดแย้งก็จะมีข้อยุติ หาไม่แล้วประชาชนและส่วนรวมจะไม่ได้รับประโยชน์อันใดเลย.

-- สำนักข่าว เดลินิวส์ วันที่ 5 เมษายน 2560 --