Hot Topic!

CoST กันโกงก่อสร้างแล้ววันนี้

โดย ACT โพสเมื่อ Apr 12,2017

รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
        

ต่อตระกูล: เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจากกรมบัญชีกลางและสถานเอกอัคร ราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ให้ไปร่วมงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง CoST Broader Stakeholder Workshop  ให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการความโปร่งใส ในการก่อสร้างภาครัฐ (Construction Sector Transparency Initiative: CoST) จึงได้รับทราบความคืบหน้าโครงการ และความเห็นจากตัวแทนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่เข้าร่วมเป็นตัวอย่างในโครงการนี้ด้วยครับ

 

         
จริงๆ เราเคยคุยเรื่องโครงการ CoST นี้ไปแล้วหลายครั้งในบทความตอนที่ผ่านๆมา ได้เล่าให้ฟังว่า มันคืออะไร เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เข้ามาในประเทศไทยได้อย่างไร และจะมีผลต่อการลดโอกาสการทุจริตโครงการก่อสร้างภาครัฐได้อย่างไรบ้าง แต่เพื่อให้ผู้อ่านติดตามทันได้อย่างไม่สะดุด ผมจะย้อนกลับไปเล่าอย่างย่อๆ เสียก่อน
         
โครงการ CoST นี้เป็นโครงการที่ริเริ่มขึ้นในประเทศอังกฤษ โดยมี เป้าหมายให้โครงการก่อสร้างที่เข้าร่วมต้องเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการติดตามความคืบหน้า ผลกระทบต่อสาธารณะ และโอกาสการเกิดทุจริต โครงการที่เข้าร่วมเมื่อลงนามในข้อตกลงแล้ว ก็จะเอาข้อมูลเหล่านี้ไปเปิดเผยต่อ สาธารณะผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงาน หรือเว็บไซต์กลางของรัฐบาลประเทศนั้นๆ คนที่จะเอาข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ก็คือ หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง เช่น สตง. ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. สำนักข่าวโดยเฉพาะสื่อเชิงสืบสวนสอบสวน เช่น สำนักข่าว อิศรา และประชาชนทั่วไป เช่น บางคนอาจรู้เรื่องการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย ก็ไปช่วยตรวจสอบเฉพาะโครงการนี้ได้ หรือ บางคน บ้านอยู่ติดกับโครงการก่อสร้างนั้น ก็เข้าไปติดตามได้เช่นกัน หน่วยงานเจ้าของโครงการนี้เขาเชื่อว่า การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะนั้น เป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันการทุจริตในโครงการก่อสร้าง
         
กลับมาที่การสัมมนาเชิงปฏิบัติการนี้ หลังจากคุยกันเรื่องที่มาของ CoST แล้ว ก็เข้าช่วงรายงานผลการศึกษาโอกาสความสำเร็จและความจำเป็นของ CoST ในประเทศไทยซึ่งตอนที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทยแจ้งให้ผมไปเป็นตัวแทน ร่วมสัมมนาวันนั้น ไม่ได้ระบุว่าใครเป็นผู้รายงาน ผลการศึกษานี้ จนคืนก่อนวันสัมมนา ผมจึงทราบว่าทีมวิจัยก็คือต่อภัสสร์นั่นเองต่อภัสสร์ : ครับ ผมก็เพิ่งทราบว่าพ่อจะไปร่วมงานสัมมนาด้วยคืนก่อนวันงาน นั้นเอง ตอนไปซ้อมนำเสนอเพื่อขอความเห็นมาปรับปรุงเอกสารรายงานศึกษาโอกาสความสำเร็จและความจำเป็นของ CoST ในประเทศไทยชิ้นนี้ เป็นรายงานที่ผมศึกษาร่วมกับคุณธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัย อาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)โดยรับมอบหมายจาก CoST International Secretariat  ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางที่ดูแลรับผิดชอบโครงการนี้ ทั่วโลก ตั้งอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ในรายงานนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจอยู่หลายประการด้วยกัน ดังนี้ครับ
         
เริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์งบประมาณการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศไทยในอนาคต เราพบว่าในอีก 20 ปี คือระหว่าง พ.ศ.2560-2580 ประเทศไทยมีการเตรียมการลงทุนด้านนี้สูงถึง 4.5 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว จากงบประมาณนี้สัดส่วนกว่า 71.76% ลงไปที่การพัฒนาการคมนาคม ในส่วนนี้กว่าครึ่งหนึ่งจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อีกหนึ่งในสี่ตกอยู่กับระบบรถใต้ดินกรุงเทพ หรือ MRT ที่เรารู้จักกันนะครับ ที่เหลือกระจาย ไปกับการคมนาคมระบบต่างๆ ส่วนอีกเกือบ 30% จากงบประมาณก้อนใหญ่ลงไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน
         
ทีนี้งบประมาณ 4.5 ล้านล้านบาทนี้ พอดูว่าใครดูแลบ้าง จะพบว่ากว่า 85% อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงาน รัฐวิสาหกิจ ซึ่งไม่ได้ถูกควบคุมโดย ระเบียบจัดซื้อจัดจ้างแบบหน่วยงานราชการ ทั่วไป หลายแห่งมีระเบียบของตัวเองที่ ไม่ได้บังคับให้เปิดเผยข้อมูลมากเท่าระเบียบกลาง จึงอาจเป็นโอกาสให้งบประมาณรั่วไหลได้ นอกจากนี้ จากการศึกษาของ TDRI พบว่าบางรัฐวิสาหกิจมีปัญหาเรื่องความด้อยศักยภาพในการบริหารจัดการทรัพย์สิน เช่น ร.ฟ.ท.ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เคยชี้ว่า ร.ฟ.ท. เป็นหน่วยงานที่มีปัญหาวิกฤติทางการเงินมานาน ปัญหานี้นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ อีกคือ แนวทางที่รัฐบาลอยากให้มีการร่วมทุนกับภาคเอกชน ถ้ามีปัญหาการบริหารเงิน เอกชนที่ไหนจะอยากมาร่วมทุนด้วย สุดท้ายคือการที่งบประมาณมหาศาลนี้จะตกอยู่ในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งมีชื่อเสียง (ชื่อเสีย)ในด้านการทุจริตทั้งในระดับโลกและในประเทศไทยเองทำให้สถานการณ์ของเงิน 4.5 ล้านล้านบาทนี้ สุ่มเสี่ยงต่อการรั่วไหลจากการทุจริตมาก
         
รายงานการศึกษาฉบับนี้จึงทำการสุ่มเลือกโครงการก่อสร้าง 20 โครงการที่เริ่มดำเนินการไปแล้ว และอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบ ของรัฐวิสาหกิจ 13 หน่วยงาน โดยมีสัดส่วนของประเภทโครงการอ้างอิงตาม งบประมาณใหญ่ที่จะเกิดขึ้น คือ เป็นโครงการคมนาคม 12 โครงการ กับ 5 โครงการด้านพลังงานและอีก 3 โครงการบริหารจัดการน้ำ เพื่อดูว่าการเปิดเผยข้อมูลที่ผ่านมาเป็น อย่างไรบ้าง
         
สิ่งที่รายงานการศึกษานี้พบก็คือ ประการแรก จำนวนชุดข้อมูลที่กฎหมายไทย คือ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม บังคับให้หน่วยงานราชการทุกหน่วยงานเปิดเผยนั้นมี 23 ชุดข้อมูลที่ซ้ำกับชุดข้อมูลที่ CoST แนะนำให้เปิดเผยทั้งหมด 46 ชุดข้อมูล ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 58% นับว่า ไม่น้อยเลยทีเดียว เรียกได้ว่ากฎหมายไทยก็ใช้ได้ทีเดียว
         
ประการที่สอง เราจึงนำข้อมูลที่ 20 โครงการก่อสร้างตัวอย่างนี้ มาเทียบกับกรอบการเปิดเผยข้อมูลนี้ดู พบว่า เปิดเผยกันน้อยมาก เนื่องจากที่บอกว่ารัฐวิสาหกิจไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบพัสดุกลาง เราพบว่าโครงการคมนาคมเปิดเผยกันเพียง 33% ของ ข้อมูลที่กฎหมายไทยให้เปิด ซึ่งคิดเป็น 30% ของที่ CoST แนะนำให้เปิด ตามด้วยโครงการบริหารจัดการน้ำที่เปิดเพียง 19% ของกฎหมาย และ 17% ของ CoST ที่น้อยสุดคือโครงการด้านพลังงาน ซึ่งเปิดเพียง 17% ของกฎหมาย และ 16% ของ CoST หรือพูดง่ายๆ คือ รัฐวิสาหกิจเหล่านี้เปิดเผยข้อมูลโครงการก่อสร้างกันน้อยมาก น้อยกว่าหน่วยงานราชการทั่วๆไปที่ถูกบังคับตามกฎหมายให้เปิดเผยข้อมูลอย่างน้อย 23 ชุดข้อมูลกันเป็นปกติ มานานแล้วเสียอีก
         
ประการที่สาม เราจึงไปดูว่าชุดข้อมูลไหนที่รัฐวิสาหกิจเปิดกัน และชุดไหนที่ไม่เปิด จึงพบว่าที่ทุกโครงการเปิดเผยกันครบคือ ชื่อหน่วยงานเจ้าของโครงการ ประเภทโครงการ และชื่อโครงการ ที่เหลือก็ลดหลั่นกันไปแล้วแต่โครงการเลย ที่น่าตกใจคือ ทั้ง 20 โครงการนี้ไม่มีโครงการใดเปิดเผยข้อมูลเหตุผลว่าทำไมโครงการถึงมีการเปลี่ยนแปลง และ เหตุผลการขออนุญาตขยายเวลาก่อสร้างเลยแม้แต่โครงการเดียว ซึ่งทั้งสองชุดข้อมูลนี้ นับเป็นข้อมูลสำคัญมากที่จะช่วยในการติดตามความคืบหน้าและลดโอกาสการทุจริต อย่างไรก็ตามยังดีที่ตอนนำเสนอเสร็จแล้ว มีผู้แทนจากกรมบัญชีกลางแจ้งว่า ข้อมูลเหตุผลเหล่านี้ หน่วยงานจะต้องส่งมาให้กรมบัญชีกลางพิจารณาอยู่แล้ว ใครจะขอดูก็ได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นการนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะเลย โดยไม่ต้องขอ ก็ไม่น่าจะยากอะไร
         
การศึกษานี้จึงนำไปสู่ข้อเสนอแนะว่า ควรนำโครงการ CoST เข้ามาใช้ในโครงการก่อสร้างภาครัฐในไทยให้กว้างขวางโดยเร็ว เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการมีธรรมาภิบาล ผลดีจะตกแก่ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสังคมโดยรวม เพราะหน่วยงานรับผิดชอบก็จะได้รับความเชื่อมั่น จากประชาชน รัฐบาลก็สนับสนุนง่าย เอกชนก็อยากมาลงทุนร่วมถ้ารู้ว่ามีการป้องกันการรั่วไหลได้ดี และแน่นอนประชาชนก็จะได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะเหล่านี้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องแบ่งไปเข้ากระเป๋าคนขี้โกงที่คอยจ้องหา ผลประโยชน์ในที่มืด
         
ต่อตระกูล : ข้อมูลจากรายงานการศึกษาชิ้นนี้มีความน่าสนใจมาก นี่จะช่วยกระตุ้นให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจตื่นตัวที่จะพัฒนาหน่วยงานให้มีธรรมาภิบาล ให้โปร่งใสมากกว่าที่กฎหมายกำหนดเสียอีก เพื่อประโยชน์ของหน่วยงานเองและต่อสังคม เมื่อเรารู้แล้วว่าจะป้องกันได้อย่างไรก็ควรจะเริ่มกันอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้ เงิน 4.5 ล้านล้านบาท หรืออาจจะมากกว่านี้ เกิดเป็นประโยชน์ต่อคนไทยอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ใช่รอให้มีคนมาโกงแล้วต้องมาไล่จับกัน ทั้งเสียเงิน เสียเวลาตามจับ และโครงการที่จะพัฒนาประเทศจะได้ไม่ต้องสะดุดลงไปอย่างที่เป็นมาเป็นประจำ

- - สำนักข่าว แนวหน้า วันที่ 12 เมษายน 2560 - -
อ่านข่าวเพิ่มเติมที่ : 
m.naewna.com/view/columntoday/26511