Hot Topic!

สื่ออิสระกับภารกิจหมาเฝ้าบ้าน

โดย ACT โพสเมื่อ May 05,2017

เมื่อปลายเดือนที่แล้ว องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) หรืออีกชื่อใช้ว่า Reporters Sans Fronti res (RSF) ได้เปิดเผย รายงานดัชนีเสรีภาพของสื่อทั่วโลก (Freedom of the Press Worldwide) ปี 2016 ทั้งนี้ RSF พบว่า ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา เสรีภาพสื่อของทุกประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสื่อในลาตินอเมริกาที่พยายามรายงานปัญหาคอร์รัปชัน องค์กรอาชญากรรมและการใช้ความรุนแรง

ปี 2016 ประเทศที่สื่อมีเสรีภาพน้อยที่สุด (Least free) คือ เอริเทรีย ซีเรีย เติร์กเมนิสถาน จีน และเกาหลีเหนือ ขณะที่ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ นั้น สื่อมีเสรีภาพมากที่สุด (Most free)1.สำหรับบ้านเรา ปีที่ผ่านมาสื่อไทยถูกจัดอันดับเรื่องเสรีภาพในการรายงานข่าวอยู่ที่อันดับ 136 จาก 180 ประเทศ2ในรอบหลายปีมานี้ "สื่ออิสระ" โดยเฉพาะสื่อมวลชนสายสืบสวนสอบสวน (Investigate Journalism) เติบโตขึ้นมาก

ทั่วโลกต่างมีสื่อจำพวกนี้ผุดขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์เพื่อเปิดเผยความจริงอีกด้านที่รัฐไม่ยอมเปิดเผย หรือข้อมูลที่สังคมยังขาดความเข้าใจ. โดยความยากเย็นของการทำสื่อแนวนี้ คือ การขุดหาข้อมูลและเชื่อมโยงให้สังคมเห็นสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้น

ดังนั้น Investigative report หรือรายงานสื่อเชิงสืบสวน จึงมักมาคู่กับ Data Journalism ที่อาศัยข้อมูลอ้างอิงที่เป็นทางการ และมีความน่าเชื่อถือมารองรับ.เปรียบได้กับรายงานวิจัยเชิงคุณภาพชั้นดีชิ้นหนึ่งก็ว่าได้

ปัจจุบัน นักข่าวสืบสวนสอบสวนจากทั่วทุกมุมโลกได้สร้างเครือข่ายรวมตัวกันในชื่อ The Global Investigative Journalism Network หรือ GIJN

การรวมกลุ่มของสำนักข่าวอิสระ "นอกกระแส" เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2003 ด้วยเหตุผล คือ แลกเปลี่ยนข้อมูลและเทคนิคการทำงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน รวมถึงเรียกร้องให้คุ้มครองผู้สื่อข่าวที่ถูกคุกคาม

สมาชิกของ GIJN มาจากสำนักข่าวอิสระที่ทำข่าวแนวนี้กว่า 145 สำนักข่าว จาก 62 ประเทศ ที่คุ้นๆ หูกันในวงการ เช่น Philippine Center for Investigative Journalism หรือ PCIJ ของฟิลิปปินส์


GIJN มีการประชุมเชิงวิชาการ (Conference) กัน ทุกๆ 2 ปี เพื่อกระชับความสัมพันธ์ของเครือข่ายสื่อเชิงสืบสวนสอบสวน ตลอดจนอัพเดตข้อมูลการทำข่าวเจาะเชิงลึกจากทั่วโลก โดยในปีนี้จะประชุมกันที่โจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้

จะว่าไปแล้ว สำนักข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนทำหน้าที่เหมือน "หมาเฝ้าบ้าน" .แน่นอนว่าจุดยืนของสำนักข่าวเหล่านี้ "ชัดเจน" ในแง่เป็นตัวแทนปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวม โดยอาศัยความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่นักข่าวต้องพยายามขุดหา ศึกษาวิเคราะห์ และเขียนข่าวให้ง่ายต่อความเข้าใจ

โดยทั่วไป สื่อเชิงสืบสวนสอบสวนที่มีฝีมือมักจะอยู่ในประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชันมาก เช่น PCIJ ของฟิลิปปินส์

ขณะที่ในยุโรปเอง สำนักข่าวอิสระที่ทำตัวเป็นทั้งสื่อและ NGO ก็เช่น The Organized Crime and Corruption Reporting Project (OCCRP) ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา

ทั้งนี้ เราอาจไม่คุ้นหูนักกับชื่อของ OCCRP แต่ในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางแล้ว OCCRP นับเป็น International NGO ด้านต่อต้านคอร์รัปชันที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่ง

ในรายชื่อ International NGO ทั่วโลก OCCRP ถูกจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 500 เป็น NGO ที่ดีที่สุดในโลก


OCCRP ถือกำเนิดเมื่อปี 2006 โดยสองผู้สื่อข่าวสาย Investigative Journalism คือ Paul Radu และ Drew Sullivan จากสำนักข่าวสืบสวนสอบสวนในบูคาเรสต์ โรมาเนีย .ผลงานเด่นของทั้งคู่ คือ การช่วยกันขุดคุ้ยเรื่องความไม่ชอบมาพากลในการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าของรัฐบาลโรมาเนีย โดยที่รัฐบาลเสียเปรียบเรื่องสัญญามาโดยตลอด

การทำข่าวเจาะมานานทำให้ทั้งคู่ได้รับการยอมรับในวงการว่าเป็น "ของจริง" ที่ทำข่าวรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนจนสะเทือนกันทั้งแถบยุโรปตะวันออก

หลังจากนั้น OCCRP เริ่มได้รับการยอมรับจน "ติดลมบน" และมีเครือข่ายเข้ามาสนับสนุนมากมาย โดยเฉพาะการขยายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนจากกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก ไปสู่กลุ่มประเทศเอเชียกลางและลาตินอเมริกา ซึ่งงานข่าวแถบนี้ OCCRP จะมีความเชี่ยวชาญมาก

ความพิเศษของ OCCRP ไม่ใช่แค่เรื่องการเกาะติดเฉพาะปัญหาคอร์รัปชันเพียงอย่างเดียว หากแต่เข้าไปขุดข้อมูลความสัมพันธ์ของเหล่าองค์กรอาชญากรรม (Organized Crime) ธุรกิจการพนันผิดกฎหมาย ธุรกิจค้าอาวุธเถื่อน ที่โยงใยเกี่ยวพันกับผู้นำ

ระดับสูงของประเทศ เจ้าหน้าที่รัฐ แม่ทัพนายกอง และนักการเมือง

พูดง่ายๆ คือ .อะไรที่อยู่ใต้ดิน เชื่อมโยงกับคอร์รัปชัน OCCRP แกจะขุดออกมาหมด

OCCRP ยังรายงานข่าวเชิงลึกอีกหลายเรื่องที่สะท้อนให้เห็นสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาคอร์รัปชันขนาดใหญ่ (Grand corruption) ในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง เช่น กรณีบริษัทยักษ์ใหญ่ด้าน Telecom สวีเดนและฟินแลนด์ต้องติดสินบนให้กับลูกสาวของอดีตประธานาธิบดีอุซเบกิสถานเพื่อเข้าไปลงทุนในอุซเบกิสถาน เป็นต้น

นอกจากนี้ OCCRP ยัง "ครีเอต" สร้างสรรค์มอบรางวัลเสียดสี เหน็บแนม แกมประชดประชันแห่งปี ที่เรียกว่า "Person of Year Award" รางวัลที่มอบให้กับผู้นำที่สร้างนวัตกรรมด้านคอร์รัปชันและส่งเสริมให้องค์กรอาชญากรรมเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

โดยปีแรกที่มอบรางวัล ประธานาธิบดี Jlham Aliyev แห่งอาเซอร์ไบจานได้รางวัล Person of Year Award ไป Aliyev ครองอำนาจยาวนานมาตั้งแต่ปี 2003 รัฐบาลของเขาติดอันดับเรื่องคอร์รัปชันสูงสุดที่สุดในยุโรปตะวันออก

และปีล่าสุด 2016 รางวัล (อันไม่ทรงเกียรติ) นี้ ตกเป็นของ Nicolas Maduro ประธานาธิบดีเวเนซุเอลาที่เผชิญวิกฤตการณ์ทางการเมือง และกำลังเตรียมตัวนับถอยหลังลงจากอำนาจ

ความสำเร็จของ OCCRP นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง ตั้งแต่ทำให้ประชาชนตื่นตัวออกมาขับไล่ผู้นำฉ้อฉล รายงานข่าวที่ช่วยเร่งรัดกระบวนการดำเนินคดีให้ไวขึ้น เพราะสังคมจับตามอง กดดันให้ผู้สมรู้ร่วมคิดต้องลาออกหรือปิดกิจการหนี รวมถึงอายัดทรัพย์สินผู้ต้องหา

ทุกวันนี้ OCCRP "ติดลมบน" เพราะได้รับเงินทุนสนับสนุนมากมาย แหล่งเงินอุดหนุนสำคัญมาจาก USAID นอกจากนี้ ยังมี Google Ideas เข้าร่วมเป็นพันธมิตรอีกด้วย

โลกเรายังเต็มไปด้วยสื่อที่รายงานทั้ง "ความเท็จ" และ "ความจริง" ปนๆ กันไป ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองในมุมใด .แต่ในมุมที่ควรจะเป็น การรายงานข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาและนำเสนอรายงานข่าวอย่างรอบด้าน นับเป็นภารกิจที่สื่อพึงกระทำ

เพราะตรงนี้เอง ที่เป็นข้อแตกต่างระหว่างสื่อที่ทำตัวเป็น "สุนัขเฝ้าบ้าน" กับสื่อที่ปฏิบัติตัวเยี่ยง "สุนัขรับใช้"

หมายเหตุ :
1.ค่าคะแนนดัชนี Press Freedom Index ที่ RSF กำหนดว่าสื่อมีอิสระ เสรีภาพในการรายงานข่าวหรือไม่อย่างไรนั้น RSF ใช้วิธีวัดโดยยิ่งค่าคะแนนน้อยเท่าไหร่ หรือติดลบ นั่นหมายถึง ประเทศนั้นเปิดโอกาสให้สื่อมีเสรีภาพได้เต็มที่ ในทางกลับกันยิ่งค่าคะแนนมากเท่าไหร่ แสดงว่า สื่อของประเทศนั้นถูกควบคุมจำกัดเสรีภาพในการรายงานข่าว

2.นับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา เสรีภาพในการรายงานข่าวของสื่อไทยเคยได้รับคะแนน Press Freedom Index สูงสุด เท่ากับ 14 เมื่อปี 2004 จัดว่ามีเสรีภาพในการรายงานข่าวอย่างเป็นอิสระมาก โดยในปีนั้นเสรีภาพของสื่อไทยอยู่อันดับที่ 59 ของโลก

ขอบคุณที่มาจาก : 
thaipublica.org/2017/05/hesse004-88/