Article

ป้ายยักษ์ล้มทับคนตาย: สินบนกับความเห็นแก่ได้

โดย ACT โพสเมื่อ Jul 17,2017

ป้ายยักษ์ล้มทับคนตาย: สินบนกับความเห็นแก่ได้

ทั่ว กทม. มีป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ทั้งสิ้น 1,067 ป้าย แต่เป็นป้ายที่ผิดกฎหมายมากถึง 242 ป้าย พบมากที่สุดในเขตลาดกระบัง และพบว่ายังมีป้ายที่แอบติดตั้งใหม่อีกตลอดเวลาเพราะทำกำไรดี (ข้อมูลจาก สตง. 31/3/60) สาเหตุที่เรื่องนี้สำคัญมากเป็นเพราะ ตั้งแต่ปี 2548 - 2555 เฉพาะใน กทม. เกิดเหตุป้ายล้มทั้งสิ้น 48 ครั้ง มีคนตาย 2 ราย บาดเจ็บ 18 ราย มีบ้านเรือนและรถยนต์เสียหายจำนวนมาก (ยังไม่พบสถิติ ปี 2556 – 2560)

ป้ายผิดกฎหมายมักมีต้นทุนต่ำและหลีกเลี่ยงภาษีที่ต้องจ่ายให้กับรัฐ การก่อสร้างป้ายขนาดยักษ์ที่ไม่ได้มาตรฐานจะทำให้โครงสร้างไม่แข็งแรงเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้เสมอ แต่การที่ป้ายเหล่านี้มีขนาดใหญ่โตมากและต้องใช้เวลาก่อสร้างนานหลายวัน จึงเป็นไปไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่เขตของ กทม. จะไม่รู้เห็นว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้นหรือเมื่อพบแล้วกลับยังปล่อยให้มีการใช้งานต่อไปได้ทั้งๆ ที่มีกฎหมายควบคุมอยู่ไม่น้อยกว่า 12 ฉบับ

ปัญหานี้เราควรจะโทษใครระหว่าง "เจ้าของป้าย" ผู้เห็นแก่ได้ กับ "กทม." ที่ปล่อยปละละเลย และจริงหรือไม่ที่อันตรายของประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกับป้ายโฆษณาหรือคนที่สัญจรผ่านไปมานั้น “เกิดจากการติดสินบนของพ่อค้าเพื่อแลกกับการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ”
จะดีไหมว่าเมื่อเอาผิดกับข้าราชการที่ปล่อยปละละเลยแล้ว ควรมีการเอาผิดทั้งทางแพ่ง อาญาและใช้มาตรการทางภาษีกับเจ้าของป้าย เจ้าของที่ดินหรืออาคารที่ติดตั้งป้าย วิศวกรผู้ออกแบบหรือควบคุมการก่อสร้าง รวมไปถึงเจ้าของสินค้าที่ซื้อสื่อโฆษณากับป้ายโฆษณาผิดกฎหมายเหล่านี้ด้วย เพื่อให้ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน ปัญหานี้จะได้หมดไปเสียที

ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
16/7/60

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน
 
Follow LINE Official : goo.gl/uT7yjS
Follow Facebook Fanpage : goo.gl/HXgWVU
Follow IG : goo.gl/aARAzS