Hot Topic!
ติดดาบ กม.ปราบโกง ปิดบัญชี 'ปู-ทักษิณ'
โดย ACT โพสเมื่อ Jul 18,2017
- - สำนักข่าว โพสต์ทูเดย์ วันที่ 18/07/60 - -
ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์
มติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมาในการให้ความเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถือเป็นตัวแปรทางการเมืองที่สำคัญ
ส่วนหนึ่งเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับวิธีพิจารณาไต่สวนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ทุจริตที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากหลักการเดิมตามกฎหมายฉบับพอสมควรอย่างน้อยก็ปรากฏให้เห็นใน 3 ประเด็นสำคัญ
1.กำหนดให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใช้ระบบไต่สวนในการพิจารณาคดี และต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันกระบวนการพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ ก็ใช้ระบบไต่สวนในการทำงานอยู่แล้ว เพียงแต่กฎหมายฉบับเก่าไม่ได้มีการบัญญัติเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้นกฎหมายฉบับใหม่ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอมายัง สนช.จึงได้กำหนดลงไปให้เกิดความชัดเจน พร้อมกับวางหลักการให้ศาลต้องพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็วด้วย
1.กำหนดให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใช้ระบบไต่สวนในการพิจารณาคดี และต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันกระบวนการพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ ก็ใช้ระบบไต่สวนในการทำงานอยู่แล้ว เพียงแต่กฎหมายฉบับเก่าไม่ได้มีการบัญญัติเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้นกฎหมายฉบับใหม่ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอมายัง สนช.จึงได้กำหนดลงไปให้เกิดความชัดเจน พร้อมกับวางหลักการให้ศาลต้องพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็วด้วย
2.ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบในระหว่างถูกดำเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาล จะยุติการนับอายุความทันที
โดยมาตรการนี้บังคับใช้ไปถึงกรณีที่ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลยแต่จำเลยหลบหนีไปด้วย ซึ่งเดิมกฎหมายจะกำหนดให้ระยะเวลาที่จำเลยหลบหนีจะรวมเข้าเป็นอายุความ หมายความว่า หากจำเลยสามารถหนีได้จนครบอายุความตามที่กฎหมายกำหนด จำเลยก็ไม่ต้องรับโทษ
3.การเปิดโอกาสให้ศาลสามารถไต่สวนลับหลังจำเลยได้ หากมีเหตุ ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาลเพราะต้องการประวิงคดี
ตามระบบปกติแล้วการพิจารณาคดีอาญาจะต้องกระทำต่อหน้าจำเลย เพื่อให้สิทธิจำเลยในการต่อสู้คดีได้อย่างทันท่วงที แต่จำเลยสามารถใช้สิทธิร้องขอต่อศาลเพื่อให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ หากจำเลยมีเหตุผลอันสมควรมาแสดงต่อศาล ซึ่งศาลจะพิจารณาเป็นรายกรณีไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
แต่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำหนดให้การพิจารณาคดีลับหลังจำเลยสามารถทำได้ทันที เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงได้มีการออกหมายจับจำเลยมาเป็นเวลา 3 เดือน
จากหลักการใหม่ของร่างกฎหมายดังกล่าวจะไม่เป็นประเด็นทางการเมืองแม้แต่น้อย หากไม่มีบทเฉพาะกาลในมาตรา 67
"บทบัญญัติในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ไม่กระทบต่อการดำเนินการใดในคดีที่ยื่นฟ้องไว้ก่อน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และได้ดำเนินการไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ส่วนการดำเนินการต่อไปให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้" เนื้อหาของมาตรา 67 การมีบทบัญญัติมาตรา 67 ออกมาในลักษณะนี้ ส่งผลให้เกิดการตีความว่าอาจมีผลย้อนหลังในลักษณะที่ไม่เป็นคุณแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาและจำเลย ซึ่งในทางการเมืองปฏิเสธไม่ได้ว่าสองพี่น้องตระกูลชินวัตร คือ "ยิ่งลักษณ์ทักษิณ" ต้องรับผลเข้าอย่างจังคดีของอดีตนายกฯ ทั้งสองคนเป็นการฟ้องคดีตามกฎหมายเก่า ซึ่งให้ผลแตกต่างไปจากกฎหมายอย่างสิ้นเชิง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของอดีตนายกฯ ทักษิณ เพราะการมีมาตรา 67 ในลักษณะนี้ส่งผลให้สามารถนำคดีที่ศาลฎีกาฯ เคยจำหน่ายออกจากสารบบชั่วคราวเพราะไม่มีตัวจำเลยมาฟ้องคดี กลับมาพิจารณาใหม่ได้ โดยใช้วิธีการไต่สวนคดีลับหลัง โดยมีด้วยกัน 4 คดี
1.คดีปล่อยกู้ธนาคารเพื่อการ ส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ให้กับรัฐบาลเมียนมา 4,000 ล้านบาท
2.คดีโครงการออกสลากพิเศษ เลขท้าย 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน) โดยคดีนี้ศาลได้มีการอ่านคำพิพากษาไปแล้ว ยกเว้นเฉพาะความผิดของทักษิณ เนื่องจากได้ทำการหลบหนี
3.คดีการแปลงสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นภาษีสรรพสามิต เป็นคดี ที่มีการฟ้องต่อศาลฎีกา เพื่อขยายผลมาจากคดีการยึดทรัพย์และการร่ำรวยผิดปกติ
4.คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้บริษัท กฤษดามหานคร เป็นอีกคดีที่ศาลฎีกาฯ ได้มี คำพิพากษาไปแล้ว แต่ได้จำหน่ายคดีเฉพาะในส่วนของทักษิณออกไปเป็นการชั่วคราว ด้วยเหตุที่จำเลยหลบหนี
การให้สามารถนำคดีเก่าของทักษิณมาไต่สวนลับหลังได้นั้นย่อม มีผลในทางการเมืองไม่น้อย เพราะต้องกระเทือนไปถึงสถานะของพรรคเพื่อไทย ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการบีบให้ทักษิณไม่มีโอกาสกลับมาเมืองไทยตลอดชีวิต
ถ้าบอกว่าทักษิณสาหัสแล้ว "ยิ่งลักษณ์" ก็มีอาการหนักเพราะอภินิหารของร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่แพ้กัน
กล่าวคือ ยิ่งลักษณ์เป็นจำเลยที่ถูกฟ้องในคดีจำนำข้าวตามกฎหมายเก่า ซึ่งหากยิ่งลักษณ์สามารถหลบหนีไปได้ในระหว่างการพิจารณาคดีหรือหลังจากศาลมีคำพิพากษา ย่อมจะได้รับประโยชน์จากอายุความตามกฎหมาย
แต่เมื่อกฎหมายใหม่กำหนดให้มีผลย้อนหลังด้วย เท่ากับว่า ต่อให้ยิ่งลักษณ์สามารถหนีไปได้ก็ไม่มีผลต่อ อายุความ เพราะเวลาที่หลบหนีจะ ไม่ถูกนับรวมเข้าเป็นอายุความ
ด้วยเหตุผลของเรื่องทั้งหมด ส่งผลให้ "ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์" ถูกปิดบัญชีไปโดยปริยาย เหลือเพียงแต่รอ ให้กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเท่านั้น