Hot Topic!
เปิดผลสอบ 'ผอ.ลำปาง
โดย ACT โพสเมื่อ Jul 21,2017
- - สำนักข่าว มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 21/07/60 - -
คอลัมน์ การศึกษา: เปิดผลสอบ 'ผอ.ลำปาง'สู่วิกฤตศรัทธา 'ผู้บริหาร ร.ร.'!!
กลายเป็นเรื่องเป็นราวที่ทั้งคนในและคนนอกแวดวงการศึกษา ให้ความสนใจกรณีผู้บริหารโรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่งใน จ.ลำปาง ถูกอดีตครูเกษียณราชการ และอดีตเลขาฯ ส่วนตัวของผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งนี้ เข้าร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดลำปาง และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ลำปาง เขต 1 ว่าได้รับความเดือดร้อน เพราะต้องรับหน้าเป็นหนี้แทนผู้อำนวยการโรงเรียนที่ให้ไปกู้ยืมเงินมากว่า 10 ล้านบาท นอกจากนี้ ผู้อำนวยการโรงเรียนคนดังกล่าวยังได้นำเงินของโรงเรียนไปใช้ส่วนตัว
หลังเรื่องราวถูกเปิดเผย ทาง สพป.ลำปาง เขต 1 และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) จึงได้ตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริง
ซึ่งล่าสุด "พล.ท.โกศล ประทุมชาติ" ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออกมาเปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาทุจริต ศธ. ที่มี "นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์" รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นประธาน ว่า คณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงได้สรุปผลการสอบข้อเท็จจริงแล้ว
พบว่ากรณีนี้มีมูลการ "ทุจริต" จริง
จากการสืบข้อมูลทั้งเอกสาร และพยานบุคคล พบว่า ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลลำปาง ได้จัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการขึ้นบริเวณหน้าห้องผู้อำนวยการโรงเรียน มีเจ้าหน้าที่โรงเรียน 3 ราย และผู้ร้อง รวม 4 ราย ทำหน้าที่บริหารเงินรายได้ที่มาจาก 3 โครงการ ได้แก่
1. โครงการฝากเด็กไว้กับครูตอนเย็น รายละ 500 บาท
2. โครงการจัดเรียนพิเศษในช่วงเดือนตุลาคม รายละ 2,000 บาทต่อคน และเรียนพิเศษช่วงเดือนเมษายน รายละ 2,500 บาทต่อคน พบว่า ทั้ง 2 โครงการไม่มีใบเสร็จ และไม่มีการนำเข้าสถานศึกษาอย่างถูกต้อง
และ 3. โครงการเตรียมอนุบาล ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 โดยเปิดห้องปกติ 3-5 ห้อง เก็บค่าเล่าเรียนเทอมละ 20,000 บาท และห้อง Mini English Program รายละ 40,000 บาทต่อเทอม ซึ่งเงินส่วนนี้มีใบเสร็จ แต่เป็นใบเสร็จที่ไม่ถูกต้อง
นอกจากนี้ คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงยังพบว่า เงินรายได้ทั้ง 3 ส่วน ไม่มีการนำเข้าเป็นรายรับของสถานศึกษา จึงเชื่อได้ว่าผู้อำนวยการโรงเรียนนำไปใช้ส่วนตัวจริง ดังนั้น สพป.ลำปาง เขต 1 จึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง และสั่งย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนไปปฏิบัติหน้าที่ที่ สพป.ลำปาง เขต 1 เพื่อให้กระบวนการสอบสวนเป็นไปตามขั้นตอน และหากพบว่าผิดจริง มีโทษไล่ออกถึงปลดออก
"ส่วนจำนวนเงินที่ผู้อำนวยการคนดังกล่าวนำไปใช้ส่วนตัว มีจำนวนเท่าใดนั้น คณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงยังไม่ได้สรุปผล แต่เท่าที่ผู้ร้องเคยร้องเรียนให้ตรวจสอบอยู่ที่ประมาณ 47 ล้านบาท" พล.ท.โกศล กล่าว
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวความไม่ชอบมาพากลครั้งนี้ ถูกเปิดเผยจากปากคำของ "ครูต้อย" หรือ "นางสุรณี กัลยารัตนกุล" อดีตครูเกษียณราชการ และอดีตเลขาฯ ส่วนตัวของผู้อำนวยการโรงเรียน
อนุบาลลำปาง ได้เข้าร้องเรียนกล่าวหาที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดลำปาง และ สพป.ลำปาง เขต 1 ว่าได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะต้องรับหน้าเป็นหนี้แทนผู้อำนวยการโรงเรียนที่ให้ไปกู้ยืมเงินมากว่า 10 ล้านบาท รวมถึงกู้ยืมเงินจากครูในโรงเรียนมาให้ผู้อำนวยการโรงเรียนด้วย
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาผู้อำนวยการโรงเรียนคนดังกล่าวได้นำเงินไปใช้ส่วนตัวโดยไม่ผ่านระบบ ทั้งเงินรายรับรายปี รวมถึงเงินที่ไปกู้หนี้ยืมสินมา ซึ่งบางรายการบัญชีที่อดีตเลขาฯ ส่วนตัวจดไว้ มีการใช้จ่ายเงินไปในทางส่วนตัว ทั้งค่ารถ ค่าสร้างบ้าน ค่าวัสดุก่อสร้าง จ่ายดอกเบี้ย แม้กระทั่งค่ากินลาบมื้อละ 3,000 บาท ทำให้เงินต่างๆ ที่เข้ามาใช้หมุนเวียนผ่านมือผู้อำนวยการคนดังกล่าวมากกว่า 42 ล้านบาท
นอกจากผู้อำนวยการคนดังกล่าวจะถูกอดีตเลขาฯ ส่วนตัวระบุว่านำเงินของโรงเรียนไปใช้โดยไม่ผ่านระบบแล้ว ยังมีหนี้บางส่วนที่ครูต้อยต้องไปกู้ยืมให้ผู้อำนวยการคนดังกล่าวอีก 10 ล้านบาท และต้องแบกภาระรับผิดชอบแทน เพราะถูกเจ้าหนี้ติดตามทวงเงิน โดยที่ผู้อำนวยการคนดังกล่าวไม่ยอมที่จะเหลียวแลช่วยแก้ไขปัญหา ทำให้ครูต้อยต้องแบกรับภาระหนี้มาจนถึงทุกวันนี้ และที่ตัดสินใจออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรม เพราะต้องการให้สังคมรับรู้
ที่สำคัญ ผู้อำนวยการคนดังกล่าวใกล้จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้!!
เอกสารหลักฐานการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ที่อดีตเลขาฯ ส่วนตัวผู้อำนวยการโรงเรียนออกมาเปิดเผย จนนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จ
จริง และคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ผู้อำนวยการโรงเรียนคนดังกล่าว แยกเป็นรายการดังนี้
1. รายรับรายปี ค่าเทอมนักเรียนในชั้นเตรียมอนุบาล หรือเนิร์สเซอรี่ ทั้งหมด 3 ห้องเรียน คือ ห้อง English Program 1 ห้อง ปีละ 41,250 บาทต่อคน ห้องเรียนธรรมดา 2 ห้อง ปีละ 23,250 บาทต่อคน
2. รายรับที่ได้เป็นรายวัน รายได้จากค่าเช่าพื้นที่จำหน่ายอาหารในโรงอาหาร แบ่งเข้าสำนักงานผู้อำนวยการ 50%
3. รายรับที่ได้เป็นรายเดือน รายได้จากการสอนพิเศษตามโครงการฝากลูกไว้กับครู (ช่วงหลังเลิกเรียน) โดยครูผู้สอนต้องจ่ายรายได้จากการสอนให้สำนักงานผู้อำนวยการห้องละ 10 คน คนละ 500 บาท หรือห้องละ 5,000 บาทต่อเดือน มีทั้งหมด 60 ห้อง
4. ค่าสอนพิเศษช่วงซัมเมอร์ เดือนเมษายน มีรายได้ 25,000 บาท และเดือนตุลาคม มีรายได้ 20,000 บาท โดยชั้นเตรียมอนุบาลทางสำนักงานผู้อำนวยการจะเก็บล่วงหน้า พร้อมค่าเทอมรายปี ส่วนนักเรียนชั้นอนุบาล 1 และชั้น ป.1 จะจ่ายเมื่อถึงเวลาเรียน
5. รายได้จากเงินทอนจากเอกชนที่เข้ามาเหมาทำอาหารกลางวันนักเรียน สัปดาห์ละประมาณ 41,000 บาท
และ 6. รายได้จากค่าบริการลงเล่นน้ำในสระว่ายน้ำคนละ 20 บาท
นอกจากนี้ อดีตเลขาฯ ส่วนตัวยังแจกแจงรายจ่ายของผู้อำนวยการคนดังกล่าว ดังนี้
1. ค่าใช้จ่ายส่วนตัวของผู้อำนวยการคนดังกล่าว รวมถึงบุคคลในครอบครัว และคนใกล้ชิดตามที่ผู้อำนวยการคนดังกล่าวสั่ง
2. ค่าผ่อนชำระค่ารถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งมีถึง 6 คันที่ต้องจ่าย
3. ชำระหนี้สิน และภาระดอกเบี้ยของผู้อำนวยการ และคนในครอบครัว
4. ชำระค่าสาธารณูปโภคของบ้านพักอาศัย 2 หลัง
5. ค่าซื้อของใช้รายวัน 6. โอนเงินให้กับผู้ใกล้ชิดตามที่ผู้อำนวยการสั่ง 7. จ่ายค่าแรงงานคนงานก่อสร้างบ้านพักหลังใหญ่ 2 แห่ง
8. จ่ายค่าแรงงานอื่นๆ รวมทั้งค่าวัสดุสำหรับงานก่อสร้างบ้านพักส่วนตัว
9. จ่ายค่าใช้จ่ายส่วนตัวทุกวัน และในทุกสัปดาห์ 10. เงินสดติดตัวตามที่ผู้อำนวยการขอ และ 11. ค่าใช้จ่ายเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศของผู้อำนวยการ และคนในครอบครัว
เรียกว่าข้อมูลต่างๆ ที่กล่าวหาผู้อำนวยการโรงเรียนคนดังกล่าว สร้างความสั่นสะเทือนอย่างยิ่งให้กับภาพลักษณ์ของผู้บริหารโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ที่บางส่วนถูกมองในแง่ลบอยู่แล้ว
เพราะก่อนหน้านี้เพิ่งเกิดคดีมือดีปล่อยคลิปกล่าวหาผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย รับเงิน 4 แสนบาท เพื่อแลกกับการรับเด็กเข้าเรียน กระทั่ง สพฐ. และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 กรุงเทพมหานคร ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนฯ ขณะที่ผู้บริหารโรงเรียนสามเสนฯ ออกมายืนกรานปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
ต้องติดตามว่าผลการสอบข้อเท็จจริง และสอบวินัยร้ายแรงผู้อำนวยการโรงเรียนทั้ง 2 แห่งนี้ ผลจะออกมาเป็นอย่างไร!!