Hot Topic!

ตั้งกองทุนรวมธรรมาภิบาล เน้นซื้อหุ้น

โดย ACT โพสเมื่อ Aug 03,2017

  - - สำนักข่าว ไทยโพสต์  วันที่ 03/08/60 - -

 

รัชดาภิเษก * ตลาดทุนจับมือ 11 บลจ. ตั้งกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย ไม่เกินไตรมาส 4 ปีนี้ เผยแนวลงทุน พิจารณาจากการจัดอันดับ CG Scoring ที่ได้รับการรับรองแนวร่วมต้านคอร์รัปชัน ด้าน ก.ล.ต.เตือนนักลงทุนเช็กประวัติผู้บริหารก่อนซื้อหุ้น ขยับออกกฎคุมตั๋วบีอี

 

          นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประ ธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เปิดเผยว่า สมาคมได้รับความร่วมมือที่ดีจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่จะทยอยจัดตั้งและเปิดจำหน่ายกองทุนรวมธรรมา ภิบาลไทยในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้เป็นต้นไป

 

          เบื้องต้นมีจำนวน 11 บลจ. ที่ มีขนาดกองทุนรวมภายใต้การบริหาร กว่า 90% ของทั้งอุตสาหกรรมกองทุนรวม ประกอบด้วย บลจ.กรุงไทย, บลจ.กรุงศรี, บลจ.ทหารไทย, บลจ.ทาลิส, บลจ.ทิสโก้, บลจ.ไทยพาณิชย์, บลจ.บัวหลวง, บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย), บลจ.กสิกรไทย, บลจ.เอ็มเอฟซี และ บลจ.บางกอกแคปปิตอล

 

          โดยกองทุนรวมธรรมาภิบาล ไทย มีนโยบายลงทุนในตราสารทุน ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) หรือตลาดรองอื่นๆ ของ ตลท. โดยกองทุนจะลงทุนในบริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยพิจารณาจากการจัดอันดับ CG Scoring ที่ได้รับการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน (CAC) ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)

 

          ขณะเดียวกัน บลจ.ต่างๆ จะนำรายได้ 40% ของค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนที่ได้รับ ไปบริจาค ให้กับหน่วยงานที่ส่งเสริมธรรมาภิบาล และหน่วยงานที่ส่งเสริมการต่อต้าน คอร์รัปชัน โดยมีคณะกรรมการพิจารณาการบริจาคเงินเป็นผู้พิจารณา คัดเลือกโครงการที่เสนอขอรับการสนับสนุนและอนุมัติ รวมถึงติดตามและประเมินผลการนำเงินบริจาคไปใช้โครงการที่สนับสนุนดังกล่าว

          "ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการ ที่ 11 บลจ.ร่วมกันจัดตั้งกองทุนรวม ธรรมาภิบาลไทย และได้รับการสนับสนุนที่ดีจากนักลงทุน จะเป็น แรงจูงใจให้ บจ.ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการบริหารจัดการและดำเนินงาน ธุรกิจอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาล และตระหนักในความรับผิดชอบต่อผู้ลงทุนและสังคม พร้อมทั้งเป็น การยกระดับตลาดทุนไทยในเรื่องธรรมาภิบาล และการทำหน้าที่ที่ดีของผู้ลงทุนสถาบันในการกำกับดูแลกิจการที่กองทุนนำเงินไปลงทุน ระยะยาว ซึ่งจะทำให้เกิดผลตอบ แทนที่ยั่งยืนในการลงทุนในระยะยาว" นางวรวรรณกล่าว

          นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ถือหุ้นที่เป็นผู้เสียหายจำนวนมากได้ร้องเรียนต่อ ก.ล.ต. ช่วยดำเนินการทางแพ่ง กรณี ที่ บจ.ที่มีปัญหาการบริหารงาน และ บริษัทที่จะขอเข้าฟื้นฟูกิจการต่อศาล ล้มละลายกลาง จนเกิดความเสียหายแก่ผู้ถือหุ้น

 

          ดังนั้น แนะนำนักลงทุนให้พิจารณารอบคอบและตรวจสอบประวัติการบริหารงานของ บจ.ว่าเป็นอย่างไร หรือบริษัทมีการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญจากเดิมหรือไม่ เพราะอาจจะเกิดความเสี่ยงในการลงทุนได้

 

          ขณะเดียวกัน ก.ล.ต.อยู่ระ หว่างการเปิดแสดงความคิดเห็น การปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการ ออกและเสนอขายตราสารหนี้ หุ้นกู้ ตั๋วเงินระยะสั้น (บีอี) เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนแต่ละประเภทอย่างเหมาะสม และเพิ่มมาตรฐานในการปฏิบัติงาน ของตัวกลางให้มีระบบควบคุมและสอบทานผลประโยชน์ของผู้ลงทุนและผู้ออกตราสาร คาดว่าจะมีผลบังคับภายในไตรมาส 4/2560