Hot Topic!

ลับลวงพรางระบายข้าว ส่อเป็นคดีทุจริตภาค2

โดย ACT โพสเมื่อ Aug 10,2017

- - สำนักข่าว ผู้จัดการรายวันองศา วันที่ 10/08/60 - -

 

กรณีที่มีข่าวเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสในโครงการระบายข้าวในสต๊อก ของรัฐบาลออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากฝั่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมประมูลข้าว และในส่วนของโกดังข้าวที่ออกมาเรียกร้องรัฐบาลให้ระงับการระบายข้าวใน สต๊อกรัฐ เนื่องจากพบความผิดปกติเกิดขึ้นหลายประการ

 

          เรื่องข้าวคงจะเป็นประเด็นร้อนต่อไปอีกนาน เมื่อวานนี้  นายวัชระเพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกมาให้ข้อมูลเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ได้นำเรื่องเข้าร้องเรียนต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบโครงการระบายข้าวของรัฐบาล ภายใต้ การกำกับของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่อาจมีการทุจริตกันเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน

 

          โดยนายวัชระ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ อาจมีส่วนร่วมกับเอกชนทำการทุจริตโครงการระบายข้าวหรือไม่

 

          วัชระได้ตั้งข้อสังเกต ปมพิรุธที่ส่อจะมีการฮั้วขึ้นในการระบายข้าวคือ 1. ข้อสงสัยถึงความไม่โปร่งใส ฮั้วประมูล และสงสัยว่าเจ้าหน้าที่รัฐเอื้อประโยชน์ให้พ่อค้าบางกลุ่มบางพวก จากการตัดสิทธิเอกชนบางรายอย่างไม่เป็นธรรม

 

          เพราะบริษัท ทีพีเค เอทานอล ที่มีโรงกลั่นแอลกอฮอล์จากพืชที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ลงทุนมากกว่า 6 พันล้าน ถูกตัดสิทธิแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว โดยถูกผูกโยงกับบริษัทเก่า ซึ่งที่ปรึกษาบริษัททีพีเคคนหนึ่งเคยเป็นผู้บริหาร ในข้อหาผิดสัญญากับทางราชการ ซึ่งถูกลงโทษเพียงให้จ่ายค่าปรับเนื่องจากไม่ใช่กรณีฉ้อโกงหรือทุจริต แต่บริษัทที่เข้าประมูลได้กลับมีผู้ถูกหุ้นคนหนึ่งพัวพันในเรื่องทุจริตการระบายข้าวที่ ป.ป.ช. ชี้มูลไปแล้ว

 

          โดนแบบนี้บริษัททีพีเคจึงนำเรื่องไปฟ้องศาลปกครองขอความเป็นธรรม ว่าถูกทางการกลั่นแกล้งออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฝ่ายปฏิบัติได้อ้างว่านายกฯ และรัฐมนตรีให้อำนาจไว้ ให้ทำได้ ประเด็นนี้ยังต้องรอว่า ศาลปกครองจะวินิจฉัยอย่างไร

 

          ข้อต่อมา มีข้อสงสัยถึงความไม่มีคุณสมบัติจริงในการเข้าประมูลข้าวอุตสาหกรรม กรณีข้าวอาหารสัตว์ และข้าวเกรดคนและสัตว์กินไม่ได้ จะเป็นขนาดโรงงาน กำลังการผลิต และพื้นที่จัดเก็บสต๊อกข้าวและพื้นที่ต้องเก็บ สินค้าที่ผลิตแล้ว ซึ่งขัดต่อเงื่อนไขของประกาศการประมูล แต่กลับเข้ามาร่วมประมูลได้

 

          รวมทั้งหลายกลุ่มบริษัทยังมีประวัติทำผิดกับทางราชการ และถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดเรื่องข้าว และถูกฟ้องในคดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) อยู่ด้วย

 

          ข้อสังเกตเหล่านี้เป็นประเด็นที่มีข้อเท็จจริงอยู่ 2 เรื่องด้วยกันคือ บริษัทที่เข้าประมูลข้าว ที่ผ่านเรื่องคุณสมบัติมีสิทธิประมูลข้าวได้ในปีนี้ ซึ่งกรม การค้าฯ ได้ทำการประมูลไปแล้วครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน และครั้งที่สองเดือนมิถุนายน ในทางปฏิบัติมีการตรวจสอบความถูกต้องทุกด้าน รวมทั้งรอยมลทินของผู้ยื่นประมูลทุกบริษัทอย่างโปร่งใส ให้ความเสมอภาค เป็นธรรมแล้วหรือไม่

 

          การระบายข้าวยังมีการสับขาหลอกและลับลวงพรางเกิดขึ้นด้วย คือ มีบริษัทหลายแห่งที่เข้าประมูลข้าวสำหรับอุตสาหกรรมทำอาหารสัตว์ หรือ เรียกว่า ข้าวให้สัตว์กิน เมื่อมีการสืบค้นก็พบว่า เป็นบริษัทที่จดทะเบียนโรงงานอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์มาถูกต้องก็จริง แต่เป็นใบอนุญาตตั้งโรงงาน ขนาดเล็ก และเมื่อไปดูโรงงาน บางแห่งยังไม่มีป้ายชื่อโรงงานด้วยซ้ำ หลายแห่งเป็นโรงสีข้าวธรรมดาทั่วไป ไม่มีเครื่องจักรจริงในการผลิตอาหารสัตว์และมีโรงงานในพื้นที่ที่ตั้งเลย

 

          จะนับว่าพวกนี้เป็นโรงงานเก๊ก็ได้ นอกจากไม่มีตัวโรงงานจริงแล้ว เมื่อตรวจสอบกำลังผลิตก็ชัดเจนว่าไม่สอดคล้องกับจำนวนข้าวหลายหมื่นหลายแสนตันที่ประมูลไป ข้อมูลลวงจากโรงงานพวกนี้ผ่านตาเจ้าหน้าที่ที่ตรวจสอบ ได้อย่างไร

 

          เมื่อพฤติกรรมของพวกพ่อค้าข้าวกลุ่มนี้เล่นไม่ซื่อ คนของรัฐควรเข้าไปตรวจสอบจากกลุ่มพ่อค้าที่เข้าทำสัญญาซื้อขายข้าวกับรัฐ เพราะมีกลุ่มพ่อค้าข้าวที่ได้ชนะการประมูลแล้ว ไม่ได้นำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ แต่กลับนำเอาข้าวอุตสาหกรรม ออกขายไปให้คนบริโภค ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ง่ายๆ จากหลักฐานการจำหน่ายข้าว เส้นทางเดินของข้าว และเส้นทางการเงินที่มีการซื้อขายกัน

 

          "ข้อสังเกตเหล่านี้เป็นประเด็นที่มีข้อเท็จจริงอยู่ 2 เรื่องด้วยกันคือ บริษัทที่เข้าประมูลข้าว ที่ผ่านเรื่องคุณสมบัติมีสิทธิประมูลข้าวได้ในปีนี้ ซึ่งกรมการค้าฯ ได้ทำการประมูลไปแล้วครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน และครั้งที่สองเดือนมิถุนายน ในทางปฏิบัติมีการตรวจสอบความถูกต้องทุกด้านรวมทั้งรอยมลทินของผู้ยื่นประมูลทุกบริษัท อย่างโปร่งใส ให้ความเสมอภาค เป็นธรรมแล้วหรือไม่"