Hot Topic!

หลักความไว้วางใจและการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ

โดย ACT โพสเมื่อ Oct 16,2017

 - - สำนักข่าวหุ้น - -


“หลักความไว้วางใจ” หรือ Fiduciary Duties เป็นแนวคิดและทฤษฎีทางกฎหมายที่ใช้ในการกำหนดหน้าที่ของบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจ ในขณะเดียวกัน ในทางเศรษฐศาสตร์หรือทฤษฎีองค์กรธุรกิจ “หลักความไว้วางใจ” ถูกนำมาศึกษาเพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา Principal-agent Problem (Agency Theory) โดย Principal-agent Problem ใช้เพื่ออธิบายลักษณะของสัญญาที่บุคคลหนึ่ง (Agent) กระทำการเพื่อผลประโยชน์ของอีกบุคคลหนึ่ง (Principal) โดยความมั่งคั่ง (Wealth) ของ Principal ขึ้นอยู่กับการดำเนินงานของ Agent

         

กรรมการบริษัทถือว่าเป็น “ผู้ได้รับความไว้วางใจ” เนื่องจากได้รับการแต่งตั้งโดยผู้ถือหุ้นให้เป็นผู้บริหารสินทรัพย์ (บริษัท) ที่เป็นของผู้ถือหุ้นและไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของกรรมการ กรรมการจึงต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของบริษัทและต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับผลประโยชน์ของบริษัทหรือนำผลประโยชน์ของบริษัทไปเป็นของตนเอง

         

ในทางกฎหมาย หลักความไว้วางใจก่อให้เกิดหน้าที่ 3 ประการของกรรมการต่อบริษัทและผู้ถือหุ้น กล่าวคือ กรรมการต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ (Duty of loyalty) ด้วยความระมัดระวัง (Duty of care) และด้วยความซื่อสัตย์สุจริต (Duty of good faith) และการปฏิบัติไม่เป็นไปตามหน้าที่ดังกล่าวย่อมนำมาซึ่งความรับผิดของกรรมการต่อบริษัทและผู้ถือหุ้น

         

ในประเทศไทย “หลักความไว้วางใจ” ถูกกล่าวถึงมากที่สุดในฐานะเครื่องมือในการสร้างหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) เพื่อให้กรรมการรับผิดชอบต่อการกระทำต่างๆ โดยพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 กำหนดว่าในการดำเนินกิจการของบริษัท กรรมการต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ และข้อบังคับของบริษัท ตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของบริษัท (มาตรา 85) และพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ได้กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ให้ชัดเจนและเป็นสากลมากขึ้นกว่าที่กำหนดไว้ในพรบ.บริษัทมหาชนฯ กล่าวคือ

         

“ในการดำเนินกิจการของบริษัท กรรมการและผู้บริหารต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับของบริษัท และมติคณะกรรมการ ตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น” (มาตรา 89/7) และกำหนดมาตรฐานไว้ด้วยว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและความระมัดระวัง กรรมการและผู้บริหารต้องกระทำเยี่ยงวิญญูชนผู้ประกอบธุรกิจเช่นนั้นจะพึงกระทำภายใต้สถานการณ์อย่างเดียวกัน

         

การกำหนดกรอบในการตัดสินใจทางธุรกิจของกรรมการจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ระบบกฎหมายต้องชั่งระหว่างผลประโยชน์ของการคุ้มครองการตัดสินใจที่รวดเร็ว เหมาะสมและให้อิสระในการบริหารงานแก่กรรมการและไม่ให้ศาลเข้ามาทำหน้าที่ในการตัดสินใจทางธุรกิจแทนกรรมการที่มีความเป็นมืออาชีพ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องกำกับดูแลการใช้อำนาจมิให้กรรมการใช้ความคุ้มครองดังกล่าวในลักษณะบิดเบือน

         

ด้วยเหตุนี้ แนวคิดในเรื่อง Business Judgment Rule ที่เป็นเสมือนเกราะหรือโล่ในการป้องกันกรรมการจากความรับผิดอันเนื่องมาจากการตัดสินใจทางธุรกิจจึงถูกนำมาบัญญัติไว้ในกฎหมายเช่นเดียวกัน โดยกฎหมายกำหนดว่า การใดที่กรรมการหรือผู้บริหารพิสูจน์ได้ว่า ณ เวลาที่พิจารณาเรื่องดังกล่าว การตัดสินใจของตนมีลักษณะครบถ้วนดังต่อไปนี้ ให้ถือว่ากรรมการหรือผู้บริหารผู้นั้นได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและความระมัดระวังแล้ว (มาตรา 89/8)

         

1) การตัดสินใจได้กระทำไปด้วยความเชื่อโดยสุจริตและสมเหตุสมผลว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทเป็นสำคัญ

         

2) การตัดสินใจได้กระทำบนพื้นฐานข้อมูลที่เชื่อโดยสุจริตว่าเพียงพอ

         

3) การตัดสินใจได้กระทำไปโดยตนไม่มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในเรื่องที่ตัดสินใจนั้น

       

 

ดังนั้น ในการตัดสินใจทางธุรกิจใดๆ ของกรรมการ แม้ว่าอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัทหรือผู้ถือหุ้น กรรมการก็จะไม่ต้องรับผิดอันเนื่องมาจากการปฏิบัติฝ่าฝืนหลักความไว้วางใจอันเนื่องมาจากการปราศจากความรับผิดชอบหรือขาดความระมัดระวังหากพิสูจน์ให้ศาลเชื่อได้ว่าการตัดสินใจนั้นมีครบองค์ประกอบทั้ง 3 ประการข้างต้น

         

ภายใต้ข้อกำหนดของหลักการตัดสินใจทางธุรกิจดังกล่าว ในกรณีที่กรรมการถูกฟ้องร้องให้รับผิด ภาระการพิสูจน์ (Burden of proof) จึงตกอยู่ที่ฝ่ายกรรมการและมิใช่ฝ่ายผู้ถือหุ้น หากพิสูจน์ให้ศาลเห็นไม่ได้ กรรมการก็ต้องรับผิด ซึ่งการกำหนดภาระการพิสูจน์ดังกล่าวทำให้ต้นทุนในการพิจารณาคดีตกอยู่กับฝ่ายกรรมการเป็นหลัก

         

อย่างไรก็ตาม หากในการต่อสู้คดีหรือเมื่อศาลกำหนดให้รับผิด ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในคดียังคงมาจากบริษัทหรือประกันภัยความรับผิดที่บริษัทซื้อไว้ให้แก่กรรมการ (Directors and officers liability Insurance, D&O) ดูเหมือนว่าท้ายที่สุดแล้วผู้ถือหุ้นในภาพรวมก็อาจจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เสมือนเอาเงินจากกระเป๋าซ้ายมากระเป๋าขวานั่นเอง

         

ไว้ในโอกาสต่อไป จะได้นำคดีที่น่าสนใจเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบและความระมัดระวังมาแลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่าน รวมถึงในส่วนที่เกี่ยวกับหลักความซื่อสัตย์สุจริตด้วยครับ

 

 

 

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน


Follow LINE: http://bit.ly/2vDtGHV
Follow Facebook: http://bit.ly/2x3oArO

 

 

 

 

WebSite : http://www.anticorruption.in.th