Hot Topic!

เอกชนเลี่ยงภาษีปัญหาที่โลกไล่ไม่ทัน

โดย ACT โพสเมื่อ Nov 08,2017

- - สำนักข่าวโพสต์ทูเดย์ - -

 

โดย : นันทิยา วรเพชรายุทธ

 

ทั่วโลกเคยตื่นตัวครั้งใหญ่กับมหกรรมแหวกช่องเลี่ยงภาษีกันมาแล้วเมื่อช่วงเดือน เม.ย. 2016 หลังจากสมาคมนักข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) เปิดเผยชุดข้อมูล "ปานามา เปเปอร์ส" จากบริษัทกฎหมายมอสแซ็ค แอนด์ ฟอนเซกา ที่ชี้ให้เห็นช่องโหว่ของการไปตั้งบริษัทออฟชอร์ตามประเทศปลอดภาษีหรือมีฐานภาษีต่ำ เพื่อไม่ต้องจ่ายภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยในประเทศของตัวเอง

         

จากข้อมูลในครั้งนั้นได้นำไปสู่การตื่นตัวและมีความพยายามแก้ปัญหาขึ้นในหลายประเทศ ที่เร่งสอบประวัติย้อนหลังการเสียภาษีของบุคคลและนิติบุคคลตามลิสต์รายชื่อ "สหรัฐ" ในยุคประธานาธิบดี บารัก โอบามา ได้ผ่านกฎหมายแฟตก้า (FATCA) บีบให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกยอมร่วมมือให้ข้อมูลด้านบัญชีของบุคคลสัญชาติอเมริกัน

         

ขณะที่ "สหภาพยุโรป" (อียู) พยายามไล่อุดช่องโหว่จากต้นทาง ด้วยการเสนอมาตรการขึ้นบัญชีดำประเทศปลอดภาษีที่ไม่ยอมให้ความร่วมมือด้านข้อมูล ซึ่งกำลังดำเนินอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยเป็นอีกหนึ่งความพยายามนอกเหนือจากที่คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ไปไล่บี้สอบภาษีย้อนหลังของบรรษัทข้ามชาติหลายแห่งแล้วก่อนหน้านี้

         

อาจเรียกได้ว่ายุโรปนั้นจริงจังกว่าใคร ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าปัญหานี้มีต้นตอมาจากฝั่งยุโรปเป็นหลัก กับมหกรรมยักย้ายถ่ายเทภาษี (Double Irish with a Dutch sandwich)  เช่นในเนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะมีฐานภาษีต่ำกว่าเพื่อนบ้านยุโรปด้วยกันเพื่อดึงดูดธุรกิจต่างชาติแล้ว ก็ยังทำหน้าที่เป็น "ประเทศทางผ่าน" หรือนายหน้าที่เปิดช่องให้บริษัทต่างชาติไปตั้งบริษัทลูกตามประเทศปลอดภาษีอีกที เพื่อลดภาระภาษีลงได้อีก

         

อย่างไรก็ดี ล่าสุดไอซีไอเจได้เผยแพร่ชุดเอกสารที่คล้ายคลึงกันออกมาอีกครั้งในชื่อว่า "พาราไดซ์ เปเปอร์ส" ในไฟล์ขนาด 1.34 ล้านเทราไบต์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นอีกครั้งว่าความพยายามเลี่ยงภาษีนั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยากที่จะจับได้ไล่ทันกันได้ง่ายๆ

         

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดเคสหนึ่งก็คือ กรณีของ "แอปเปิ้ล อิงค์" ซึ่งเคยตกเป็นข่าวอื้อฉาวมาก่อนหน้านี้แล้วในเดือน ก.ย. 2016 หลังถูกคณะกรรมาธิการยุโรปตัดสินให้จ่ายภาษีย้อนหลังปี 2003-2014 เป็นเงินถึง 1.3 หมื่นล้านยูโร (ราว 5 แสนล้านบาท)

         

หรือสูงที่สุดของประวัติศาสตร์การจ่ายภาษีย้อนหลัง จากการพยายามเลี่ยงภาษีด้วยกลเม็ดทางบัญชีการตั้งบริษัทลูกที่ "ไอร์แลนด์"

         

กลเม็ดที่ว่านี้ก็คือ แม้ไอร์แลนด์จะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีฐานภาษีนิติบุคคลต่ำที่สุดในโลกเพียง 12.5% อยู่แล้ว ซึ่งต่ำมากกว่าครึ่งจากภาษีนิติบุคคลในสหรัฐที่ 35% แต่ประเทศนี้ก็ยังเปิดช่องให้แอปเปิ้ลตั้งสำนักงานใหญ่และบริษัทลูก โดยมีสถานะเป็น "บริษัทผี" หรือบริษัทเปล่าๆ แต่ในนามที่มีคนแค่ 1-3 คน ไม่ได้มีตัวอาคารสำนักงานและไม่มีการจ้างงาน ทำให้บริษัทพวกนี้ "ไม่" ถูกจัดอยู่ในสถานะนิติบุคคลที่ต้องเสียภาษี

         

แอปเปิ้ลใช้บริษัทเหล่านี้ในการถ่ายโอนผลกำไรจากการทำธุรกิจในต่างประเทศเข้ามา โดยเฉพาะรายได้ที่เกิดจากการขายทรัพย์สินทางปัญญา (ไอพี) ซึ่งเป็นเงินมหาศาลมากกว่าการขายตัวสินค้า บริษัทลูกที่มีสถานะต้องเสียภาษีก็บันทึกบัญชีน้อยหน่อย และมุ่งถ่ายเงินไปให้บริษัทผีที่ไม่ต้องจ่ายภาษี ทำให้แอปเปิ้ลเสียภาษีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.005% เท่านั้น ซึ่งแม้ทุกอย่างนี้จะเป็นเรื่องที่ "ไม่ผิดกฎหมาย" แต่ทางยุโรปมองว่าเป็นการฮั้วกันระหว่างเจ้าบ้านไอร์แลนด์และแอปเปิ้ลเพื่อการเลี่ยงภาษี

         

และสิ่งที่สื่อเปิดเผยล่าสุดจากพาราไดซ์ เปเปอร์ส ก็คือ หลังจากถูก อียูเข้ามาตรวจสอบ และต้องขึ้นให้การ

         

กับสภาคองเกรสเมื่อปี 2013 แอปเปิ้ลก็หาทางโยกบริษัทลูกเดิมในไอร์แลนด์ย้ายไปตั้งในประเทศปลอดภาษีแห่งใหม่ที่เกาะ "เจอร์ซีย์" หรือเขตปกครองตนเองของอังกฤษ ซึ่งตั้งอยู่ในช่องแคบอังกฤษแทน ก่อนที่กฎหมายของไอร์แลนด์ซึ่งเปิดช่องเรื่องบริษัทผีให้นั้นจะหมดอายุลงในปี 2020

         

กลเม็ดการโยกย้ายไปตั้งบริษัทลูกหรือสำนักงานใหญ่ที่กุมเงินในต่างประเทศ หรือกุมทรัพย์สินทางปัญญานั้น ยังเกิดขึ้นกับอีกหลายบริษัทในทำนองที่คล้ายคลึงกัน เช่น "ไนกี้" ที่แตกบริษัทจากในเนเธอร์แลนด์ไปตั้งบริษัทลูกในเกาะเบอร์มิวดา

         

แกเบรียล ซุคแมน นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ให้มุมมอง กับบลูมเบิร์กว่า ปัญหาดังกล่าว ซึ่งเทียบเท่าได้กับการซุกจีดีพีโลกถึง 10% ตามแหล่งออฟชอร์นั้น แยกออกเป็น 2 ประเด็นหลัก คือ 1.บรรษัทข้ามชาติที่ใช้แหล่งออฟชอร์เป็นที่เลี่ยงภาษี และ 2.การจงใจหลับตาข้างหนึ่งของรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจตามประเทศเลี่ยงภาษีทั่วโลกเอง หรือเป็นที่ "ดีมานด์" และ "ซัพพลาย" ร่วมกันทั้งคู่ ซึ่งต้องเร่งอุดกันที่ต้นตอ

         

จากรายงานของซุคแมนร่วมกับมหาวิทยาลัยโคเปนฮาเกน ประเมินว่า 16.9% ของผลกำไรภาคเอกชนทั่วโลกนั้น ถูกบันทึกเอาไว้โดยบรรษัทข้ามชาติ ซึ่ง 45% ของกำไรที่ว่านี้ หรือราว 6

         

แสนล้านยูโร เฉพาะในปี 2015 เพียง ปีเดียว (ราว 23 ล้านล้านบาท) ได้ถูกโยกเข้าสู่ประเทศปลอดภาษี ซึ่งในทางทฤษฎีนั้น ตัวเลขเหล่านี้ยังหมายความด้วยว่า รัฐบาลทั่วโลกสูญเสียรายได้จากภาษีนิติบุคคลที่ควรจะได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากถึง 2 แสนล้านยูโร (ราว 7.67 ล้านล้านบาท)

         

ซุคแมน ระบุว่า การแฉเอกสารล็อตใหม่ในพาราไดซ์ เปเปอร์ส นั้นแทบไม่ต่างอะไรกับเมื่อครั้ง ปานามา เปเปอร์ส เมื่อกว่า 1 ปีก่อน และสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของนโยบายภาษีในแต่ละประเทศ จนกว่าจะมีการลงมืออุดช่องโหว่กันอย่างจริงจังเสียที

         

ปัจจุบันที่ประชุมรัฐมนตรีคลังยุโรปกำลังเลื่อนพิจารณาวาระการแบล็ก ลิสต์ประเทศปลอดภาษีให้เร็วขึ้นกว่าเดิมมาในสัปดาห์นี้ โดยตั้งเป้าจะประกาศได้ภายในสิ้นปี 2017 พร้อมแนวโน้มอาจจะพิจารณาใช้มาตรการคว่ำบาตรควบคู่ด้วย หากประเทศปลอดภาษีทั้งหลายไม่ยอมให้ความร่วมมือ ซึ่งในด้านหนึ่งอาจคล้ายคลึงกับมาตรการแฟตก้าของสหรัฐ ที่กดดันด้วยการลงโทษทางอ้อมกับสถาบันการเงินในประเทศต่างๆ

         

ส่วนในสหรัฐนั้น กรณีการแฉล่าสุดอาจส่งผลกระทบไปยังการพิจารณาร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีของรัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำลังอยู่ในสภาล่าง ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงด้านภาษีนิติบุคคลในหลายประเด็น เช่น การลดเพดานภาษีจาก 35% เหลือ 20% และยกเว้นภาษีกำไรในต่างประเทศที่ส่งกลับมาในสหรัฐ เพื่อดึงดูดให้ภาคเอกชนดึงเงินกลับบ้านมากขึ้น แต่จากการแฉล่าสุดนั้น ทำให้ฝั่งเดโมแครตแย้งว่าการปฏิรูปภาษีนิติบุคคลนั้นแทบไม่มีความหมายเลยเมื่อเทียบกับวิธีที่ภาคเอกชนใช้อยู่ผ่านออฟชอร์ และเรียกร้องให้เลื่อนการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ออกไปก่อน

         

เพราะปัญหาการเลี่ยงภาษีไม่ยอมจ่ายเต็มเม็ดเต็มหน่วยนั้น นับเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้ความพยายามจริงจังร่วมกันทั้งโลก หากคิดจะลงมือแก้ให้ได้อย่างจริงจังกันเสียที

 

 

 

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw