Article

6 คำถามกับการพิจารณาร่าง กม. ป.ป.ช.

โดย ACT โพสเมื่อ Nov 10,2017

 

การพิจารณากฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่ ของกรรมาธิการฯ (กมธ.) ที่ สนช. ตั้งขึ้น ได้ก่อให้เกิดข้อสงสัยในสังคมเป็นอย่างมากว่า กำลังมีสิ่งไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นจริงหรือไม่ จึงขอนำประเด็นสำคัญมาบอกกล่าวเพื่อให้ท่านที่สนใจได้ใช้เป็นข้อมูลในการติดตามกันต่อไป ดังนี้ 


คำถามที่ 1 : ทำไม สนช. ถึงต้องตั้ง กมธ. ชุดนี้มากถึง 35 คน 


ตอบ: กมธ. ชุดนี้ผมตั้งข้อสังเกตและแบ่งกลุ่มเป็น 1. ตำรวจ 2. อัยการสูงสุด 3.  กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 4. กลุ่มอื่นๆ และ 5. ป.ป.ช. ที่มี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. เป็นผู้นำทีม โดยแต่ละกลุ่มนั้นเชื่อว่ามีประเด็นเป้าหมายของตน ทั้งที่เป็นเรื่องเพื่อส่วนรวมและเรื่องส่วนตัวหรือพวกพ้อง โดยในภาพรวมปัญหาเป็นเรื่องการตีความกฎหมาย 

 

คำถามที่ 2 : ทำไมถึงแยกเป็นหลายกลุ่ม


ตอบ: พอประเมิน “จุดยืนที่แตกต่าง” ได้ดังนี้ กรธ. กับ ป.ป.ช. เห็นต่างกันในเรื่องบทบาทและอำนาจของ ป.ป.ช. ใน “แบบที่เป็นอยู่” กับ “แนวทางใหม่ที่เห็นว่า เหมาะสมกับการปฏิรูปประเทศ” ทำให้ต้องมีการเพิ่ม ตัดและเปลี่ยนแปลงกฎหมายหลายอย่าง ขณะที่อัยการเองก็มีประสบการณ์ที่เป็นอุปสรรคในการทำงานร่วมกับ ป.ป.ช. มาอย่างยาวนาน ส่วนกลุ่มตำรวจในขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่า มีประเด็นหรือวาระซ่อนเร้นหรือกำลังจะทำอะไรเพื่อใครหรือไม่ 

 

คำถามที่ 3 : จะรีเซ็ทกรรมการ ป.ป.ช. หรือไม่? 


ตอบ: หลักการเดิม กรรมการชุดปัจจุบัน 6 – 7 คน จะสิ้นสภาพไปเพราะขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญและร่างกฎหมายใหม่ที่ กรธ. เสนอมา เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นแล้วกับกรรมการการเลือกตั้ง และ กรรมการสิทธิมนุษยชน แต่วันนี้กล่าวกันว่า มีความพยายามจากผู้มีอำนาจที่ต้องการให้กรรมชุดนี้ยังคงทำงานได้ต่อไป 


จะสำเร็จหรือไม่ต้องดูว่าพวกเขาสามารถเขียนเพิ่มลงในบทเฉพาะกาลของกฎหมายได้หรือไม่


คำถามที่ 4 : การที่สองนายพลผู้ถูก ป.ป.ช. สอบสวนคดีอยู่ มาร่วมเป็น กมธ. ที่สามารถให้คุณให้โทษต่อกฎหมายนี้ได้ ถือว่าเหมาะสมหรือไม่ และทำไมเขาต้องมาคู่กัน เขาจะมาเอาคืน ป.ป.ช. ใช่หรือไม่


ตอบ: นอกจากไม่สง่างามและสร้างความคลางแคลงใจให้สังคมต่อเหตุการณ์และต่อตัวกฎหมายเองแล้ว ยังผิดหลักจริยธรรมและเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เรื่องแบบนี้ถ้าเป็นประเทศในยุโรปหรือญี่ปุ่นเพื่อนบ้านเราเขาไม่ทำแน่นอน และหากว่ากฎหมายการขัดกันแห่งผลประโยชน์ส่วนรวมและผลประโยชน์ส่วนตนฯ ที่เคยผ่าน สนช. ชุดปี 2552 หรือฉบับร่างใหม่ที่ผ่านความเห็นชอบของ ครม. ชุดนี้ไปแล้ว สามารถประกาศใช้ออกมาได้ การกระทำเช่นนี้ย่อมถือเป็นความผิด 


ส่วนเรื่องทำไมทั้งสองท่านต้องมาพร้อมกันและจะมาเอาคืนใช่หรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้และคงไม่เป็นธรรมหากจะรีบกล่าวหากันในขณะนี้


คำถามที่ 5 : ยกตัวอย่างบทบาท อำนาจที่เห็นต่างกัน


ตอบ: ในร่างกฎหมายใหม่ ประเด็น อำนาจและระยะเวลาการไต่สวนคดียังเป็นปัญหา เช่นมีการตัดเรื่อง “การป้องกัน” และ “การต่างประเทศ” ออกไปจาก ป.ป.ช. แล้วหลังจากนี้จะให้เป็นอำนาจของใคร โดยต้องไม่ลืมว่าชื่อ ป.ป.ช. นี้ ย่อมาจาก ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 


ดังนั้นเมื่อตัดการป้องกันออกไปแล้วจะต้องเปลี่ยนชื่อองค์กรแห่งนี้ด้วยหรือไม่


คำถามที่ 6 : ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ กมธ. 


ตอบ: กรรมาธิการชุดนี้มีมากถึง 35 คน มีที่ปรึกษาฯ อีก 3 คน นับว่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ของ สนช. ในจำนวนนี้เป็นนายตำรวจ 5 คน ผู้แทนจาก ป.ป.ช. 3 คน ผู้แทน กรธ. 3 คน ผู้แทนอัยการสูงสุด 1 คน มี พล.ต.อ. ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ เป็นประธาน

 

การต่อต้านคอร์รัปชันจะดีหรือไม่ดี สำเร็จหรือล้มเหลวอยู่ที่รากฐานและการเริ่มต้น กฎหมาย ป.ป.ช. หรือ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉบนี้ จึงมีความสำคัญมาก จำเป็นที่คนไทยทุกคนต้องได้รับรู้ถึงเหตุการณ์และการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่จะเกิดขึ้น

 

ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ

 

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw