Hot Topic!

จัดอันดับความโปร่งใสไทยมีปัญหาหรือนานาชาติอคติ?

โดย ACT โพสเมื่อ Jan 29,2018

- - สำนักข่าวแนวหน้า - -

 

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2536 ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี มีภารกิจรณรงค์ให้ผู้คนทุกมุมโลก "ไม่ยอมรับการคอร์รัปชั่น" ผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการ "จัดอันดับ" ความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดินของประเทศต่างๆ ที่เริ่มทำกันมาตั้งแต่ปี 2538 และเป็นสิ่งที่คนแต่ละชาติรอคอย "ลุ้น" กันทุกปีว่าประเทศของตนจะอยู่ในอันดับใด

 

สำหรับประเทศไทย ดูจะกลายเป็นที่ "ชินชา"ไปเสียแล้ว กับการ "ติดกับดักเลขสาม" เพราะหากไม่นับการจัดอันดับครั้งแรกในปี 2538 ที่ไทยได้คะแนน 2.79 จากคะแนนเต็ม 10 ตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา คะแนนประเทศไทยค่อนข้าง "คงที่" มาตลอด ไล่ตั้งแต่ ปี 2539 ได้ 3.33 จาก 10 คะแนน, ปี 2540 ได้ 3.06 จาก 10 คะแนน, ปี 2541 ได้ 3 จาก 10 คะแนน, ปี 2542 ได้ 3.2 จาก 10 คะแนน, ปี 2543 ได้ 3.2 จาก 10 คะแนน

 

ปี 2544 ได้ 3.2 จาก 10 คะแนน, ปี 2545 ได้ 3.2 จาก 10 คะแนน, ปี 2546 ได้ 3.3 จาก 10 คะแนน, ปี 2547 ได้ 3.6 จาก 10 คะแนน, ปี 2548 ได้ 3.8 จาก 10 คะแนน, ปี 2549 ได้ 3.6 จาก 10 คะแนน, ปี 2550 ได้ 3.3 จาก 10 คะแนน, ปี 2551 ได้ 3.5 จาก 10 คะแนน, ปี 2552 ได้ 3.4 จาก 10 คะแนน, ปี 2553 ได้ 3.5 จาก 10 คะแนน, ปี 2554 ได้ 3.4 จาก 10 คะแนน

 

ต่อมาในปี 2555 ที่เปลี่ยนการให้คะแนนจากเต็ม 10 เป็นเต็ม 100 ทว่าประเทศไทยก็ยังได้คะแนนไม่ต่างไปจากเดิม อาทิ ในปี 2555 ที่ไทยได้คะแนน 37 จากคะแนนเต็ม 100 ต่อมา ปี 2556 ได้ 35 จาก 100 คะแนน, ปี 2557 ได้ 38 จาก 100 คะแนน, ปี 2558 ได้ 38 จาก 100 คะแนน และปี 2559 ได้ 35 จาก 100 คะแนน ชี้ให้เห็นว่า "ตลอด 2 ทศวรรษที่ไทยมีรัฐบาลมาแล้วทุกรูปแบบ" ทั้งประชาธิปไตยแบบรัฐบาลผสมหลายพรรค ประชาธิปไตยแบบรัฐบาลพรรคเดียวได้เสียงข้างมาก รวมถึงรัฐบาลเผด็จการทหาร แต่ "คะแนนทุกยุคสมัยก็ไม่ได้ดีไปกว่ากัน" เท่าใดนักล่าสุดกลายเป็นข่าว "ฮือฮา" เมื่อภาคีเครือข่ายของ TI ในไทยอย่าง มูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย ประกาศ "ถอนตัว"จากการเป็นพันธมิตรกับ TI โดยเรื่องนี้ได้รับการเปิดเผยจากเลขาธิการมูลนิธิฯ จุรี วิจิตรวาทการเมื่อ 23 ม.ค. 2561 ซึ่งให้เหตุผลว่า ยืนยันไม่ใช่การ "ประท้วง" ที่ประเทศไทยได้อันดับต่ำลง แต่เป็นเพราะ "ตัวชี้วัด" ที่ TI ใช้จัดอันดับนั้นไม่สอดคล้องกับบริบทจริงของสังคมไทย

 

แม้จะไม่ได้กล่าวอย่างชัดเจน แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์หลังจากข่าวนี้ถูกเผยแพร่ก็มีการตั้งข้อสังเกตไปที่ "ความเป็นประชาธิปไตย" (Varieties of Democracy Project-VDEM)อันเป็น "ตัวชี้วัดใหม่" ที่ถูกนับรวมเข้ามาในการจัดอันดับครั้งล่าสุดเมื่อปี 2559 เป็นครั้งแรก "จากเดิมที่ก่อนหน้านั้นมี 8 ตัวชี้วัด" ประกอบด้วย

 

1.World Justice Project (WJP) ดูความเป็น "นิติรัฐ" กฎหมายบังคับใช้ได้อย่างเป็นธรรม

 

2.International Institute Management Development (IMD) ดูศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ

 

3. International Country Risk Guide (ICRG) หรือ Political Risk Services (PRS)ฟังเสียงสะท้อนของภาคธุรกิจว่าเคยถูกผู้มีอำนาจ "เรียกรับสินบน" เพื่อให้ทำธุรกิจได้อย่างสะดวกหรือไม่ หรือใช้ "ระบบอุปถัมภ์" ใช้เส้นสายเล่นพรรคเล่นพวกหรือไม่? เป็นต้น

 

4.Bertelsmann Foundation Transformation Index (BFTI) ดูการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยและตลาดเสรี ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และการบริหารจัดการของรัฐบาล

 

5.Economist intelligence Unit (EIU)ดูความโปร่งใสในการจัดสรรและใช้จ่ายงบประมาณ และการมีหน่วยงานที่เป็นอิสระเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้มีอำนาจ

 

6.Political and Economic Risk Consultancy (PERC) สอบถามนักธุรกิจทั้งในท้องถิ่นและต่างชาติที่เข้าไปลงทุนว่าประเทศนั้นๆสถานการณ์การทุจริตดีขึ้น เท่าเดิมหรือแย่ลง

 

7.World Economic Forum (WEF)สอบถามนักลงทุนต่างชาติว่าประเทศที่เข้าไปลงทุนมีความเสี่ยงใดบ้างจาก 5 ด้านคือ การทุจริต ความไม่มั่นคงของรัฐบาล ความไม่แน่นอนด้านนโยบาย ระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ และโครงสร้าง พื้นฐานและสาธารณูปโภคที่ไม่เพียงพอ และ

 

8.Global Insight Country Risk Rating (GI ) ว่าด้วยความเสี่ยงในการทำธุรกิจที่อาจเข้าไปข้องเกี่ยวกับการทุจริต อาทิ การให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อแลกกับสัญญาสัมปทานหรือใบอนุญาตประกอบกิจการ

 

ย้อนไปเมื่อต้นปี 2560 สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ในงานเสวนา "ปัญหาและทางออกกรณีดัชนีการรับรู้ด้านคอร์รัปชั่น (CPI) ของไทย" ที่ TDRI จัดร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ไว้ 2 ส่วนคือ

 

1.สมมุติฐานเชื่อมโยงระหว่างประชาธิปไตย กับคอร์รัปชั่น "ไม่ใช่เรื่องแปลก" เพราะการ ไม่มีประชาธิปไตย "ใครจะตรวจสอบการใช้ อำนาจรัฐ?" และในความเป็นจริง "มีน้อยมาก"ที่ประเทศซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตยจะมีอัตราการทุจริตต่ำ

 

โดยเท่าที่นึกออกคือ สิงคโปร์ ที่แม้จะถูกชาวโลกมองว่าการเลือกตั้งไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม ฝ่ายค้านถูกสกัดกั้นทุกทางและเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของประชาชนก็น้อย แต่ "ได้ผู้นำดี" ที่กล้าจัดการคนที่ทุจริต "แม้คนทำผิดจะเป็นคนใกล้ตัวก็ไม่ละเว้น" กับอีกส่วนคือ

 

2.ต่อให้ไม่มีเกณฑ์ความเป็นประชาธิปไตย ก็ไม่ได้หมายความว่าคะแนนประเทศไทยจะดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด เรื่องนี้พิสูจน์ได้จากการจัดอันดับในทุกๆ ปีก่อนหน้า ("ทรุดลง...ทรงตัว "ปราบโกง" ฝันอันเลือนราง" นสพ.แนวหน้า ฉบับ วันที่ 10 ก.พ. 2560)

 

กลับมาที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์การถอนตัวออกจาก TI ของมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย ในมุมหนึ่ง มานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊คส่วนตัว เมื่อ 25 ม.ค. 2561 ว่าการถอนตัวจาก TI "ไม่ใช่การถอนตัวจากการจัดอันดับความโปร่งใส" และเชื่อว่าหลังจากนี้ประเทศไทยก็จะยังถูกจัดอันดับดัชนีความโปร่งใสต่อไปเช่นเดิม

 

แต่ในอีกมุมหนึ่ง รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (กรุงเทพมหานคร) เขียนบทความ "การปราบปรามคอร์รัปชั่นต้องเป็นเจตจำนงทางการเมือง" ลงบนเฟซบุ๊คส่วนตัวในวันเดียวกัน ตั้งข้อสังเกตว่า ข่าวการถอนตัวครั้งนี้ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกนำไป "เชื่อมโยง" กับกรณีอื้อฉาวของ "ผู้นำหมายเลข 2 แห่งรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)" หรือก็คือ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่สังคมไทยรวมถึงสื่อทั่วโลกจับตามองประเด็น "นาฬิกาหรูนับสิบเรือน" ว่าจะมีบทสรุปอย่างไร?

 

 

ด้าน ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวกับทีมงาน "แนวหน้าออนไลน์" ถึงเกณฑ์ดัชนีความโปร่งใสที่เกี่ยวข้องกับความเป็นประชาธิปไตย ว่าต้องยอมรับความจริงที่รัฐบาลซึ่งมีที่มาไม่เป็นประชาธิปไตยจะถูก "เพ่งเล็ง" เพราะรัฐบาลแนวนี้จำนวนมากทั่วโลก "มักไม่สนับสนุนการมีส่วนร่วม" ไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน จึงถูกมองไปแล้วว่ามีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจเผื่อ ผลประโยชน์ส่วนตน แต่หาก "พิสูจน์" ให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ นานาชาติก็พร้อมจะ "ชื่นชม" เช่นกัน"ถึงแม้รัฐบาลจะไม่ได้มาจากประชาธิปไตย แต่ถ้าเปิดรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน อย่างโปร่งใสเต็มที่ เปิดให้ประชาชนร่วม ตรวจสอบ ให้สอบถามข้อมูลอย่างชัดเจน แบบนี้ถึงจะไม่ได้มาจากประชาธิปไตยมันก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ของบ้านเรา รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากประชาธิปไตย ส่วนใหญ่มักจะปิดกั้นการแสดงความเห็น เช่น เชิญไปปรับทัศนคติ มันก็เลย ออกมาเป็นการไม่เปิดให้แลกเปลี่ยนความเห็น หรือข้อมูลอย่างเต็มที่ ฉะนั้นจะไปบอกว่า เขามีอคติเพราะเราเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อาจจะดูเข้าข้างตัวเองไปสักหน่อย"อดีต รมว. คลัง กล่าวทิ้งท้าย

 

สำหรับการจัดอันดับดัชนีความโปร่งใสประจำปี 2560 จะมีการเผยแพร่รายงานในวันที่ 21 ก.พ. 2561 นี้ ถึงวันนั้นก็จะได้ทราบกันว่าประเทศไทยจะยังคงถูกจัดอันดับหรือไม่? และหากยังถูกจัดอันดับจะอยู่ในอันดับใด? ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมายทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ

 

ที่พุ่งตรงไปหารัฐบาลและ คสช. อยู่ในขณะนี้!!!

 
 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw