ประเด็นร้อน

ปราบคอร์รัปชันต้องเด็ดขาด

โดย ACT โพสเมื่อ Jul 23,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก โพสต์ทูเดย์ - -

 

กรณีที่สำนักงานสืบสวนพิเศษของอัยการกรุงโตเกียว กำลังสืบสวน บริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ (เอ็มเอชพีเอส) ที่ได้จ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ไทยมูลค่า 60 ล้านเยน หรือประมาณ 20 ล้านบาท ให้แก่เจ้าหน้าที่ในกระทรวงคมนาคมของไทย เพื่อแลกกับการอำนวยความสะดวกต่อการปล่อยคาร์โกเครื่องจักรที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนในประเทศไทยในปี 2556 โดยหากไม่มีการจ่ายเงินสินบนอาจจะต้องใช้เวลาถึง 4-5 เดือนในการนำเข้า

 

นี่ไม่ใช่คดีแรกที่มีการเปิดเผยว่ามีการรับสินบนข้ามชาติ ซึ่งถูกเปิดเผยโดยหน่วยงานปราบปรามทุจริตในต่างประเทศ และทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ของไทย รับเรื่องมา สอบสวนต่อว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไร

 

ก่อนหน้านี้ก็มีคดีสินบนโรลส์-รอยซ์ ที่ระบุว่าจ่ายใต้โต๊ะพนักงานการบินไทย สำหรับการจัดซื้อเครื่องยนต์ พนักงาน ปตท.และ ปตท.สผ. สำหรับการจัดซื้อเครื่องจักรอุตสาหกรรม โดยโรลส์-รอยซ์ ยอมถูกปรับ 671 ล้านปอนด์ การบินไทยตั้งกรรมการสอบภายในด้วย

 

นอกจากนี้ มีสินบนบริษัท ไทโก้ อินเตอร์ฯ จ่ายที่ปรึกษาในการประมูลรับงาน ทั้งการติดตั้งซีซีทีวีของรัฐสภา ซึ่งรัฐสภาตั้งกรรมการสอบภายในอยู่ การออกแบบเมืองพัทยา และโครงการ NBIA สนามบินสุวรรณภูมิ สินบนยาสูบ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากบริษัท อลิแอนซ์ วันฯ แลกสัญญาขายใบยาสูบ 540 ล้านบาท ป.ป.ช.ตั้งอนุฯ ไต่สวนอดีต ผอ.ยาสูบไปแล้ว เป็นต้น

 

หลายกรณีที่ ป.ป.ช.ไต่สวนคดีมีมูลและสามารถลงโทษผู้ที่ทำผิดได้แล้ว เช่น กรณีสินบนบางกอกฟิล์ม แลกให้สิทธินักธุรกิจสหรัฐอเมริกาได้งาน คดีนี้ส่งฟ้องศาลอาญา ซึ่งได้มีคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำคุกนางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) 50 ปี และลูกสาว 44 ปี ริบเงิน 64 ล้านบาท หรือกรณีคดีทุจริตรถเรือดับเพลิง กทม. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ จำคุกนายประชา มาลีนนท์ 12 ปี และ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ 10 ปี

 

กรณีของเอ็มเอชพีเอสนั้น ทาง ป.ป.ช.ญี่ปุ่นได้ยกเว้นจากการดำเนินคดีกับบริษัท แต่อดีตผู้บริหารของบริษัทจำนวน 3 ราย ยังถูกกล่าวหาเกี่ยวกับการติดสินบนเจ้าหน้าที่ของไทย ดังนั้นเรื่องนี้ทาง ป.ป.ช.ไทยก็ควรจะสอบสวนเรื่องนี้ต่อไป อย่าหยุด และหากพบผู้กระทำผิดก็จะต้องลงโทษเหมือนกรณีที่เคยพบในอดีต

 

น่าแปลกใจที่กรณีสินบนข้ามชาตินั้น ส่วนใหญ่ทางฝ่ายรัฐบาลของประเทศที่จ่ายสินบนเป็นผู้พบการกระทำผิด ในขณะที่ทางฝ่ายไทยไม่เคยตรวจพบมาก่อนเลย การสอบสวนก็กระทำยากเพราะไม่ได้รับความร่วมมือในการให้ข้อมูล ทำให้ยากที่จะดำเนินคดี โดยเฉพาะคดีที่อาจมีนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง

 

ที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือ การเปิดเผยของ พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ซึ่งทาง ป.ป.ท.ได้ตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจแล้วถูกเรียกรับผลประโยชน์ หรือต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ผ่านมาพบว่ามีการรับเรื่องร้องทุกข์จากนักธุรกิจต่างชาติประมาณ 30 เรื่อง

 

ปัญหาของการคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นไม่หยุดหย่อนนี้ บั่นทอนความเจริญของชาติอย่างยิ่ง และบางส่วนก็เป็นคดีใหม่ แต่ก็ยังเกิดในช่วงที่รัฐบาลทำสงครามกับการคอร์รัปชั่น จึงขอเรียกร้องให้รัฐจัดการเรื่องเหล่านี้อย่างเด็ดขาด

 

 

 

 

 

 

 

 
 
 
 

#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw