ประเด็นร้อน

ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันไทยปี 2561 บอกอะไรเรา?

โดย ACT โพสเมื่อ Feb 07,2019

- - ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า - -

 

คอลัมน์ ต่อต้านคอร์รัปชัน โดย : รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค

 

เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา องค์กรเพื่อความโปร่งใส นานาชาติ (Transparency International : TI) ได้ประกาศผลดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันปี 2561 ของ 180 ประเทศและอาณาเขต รวมถึงผลของประเทศไทยด้วย โดยในปีนี้ประเทศไทยได้รับคะแนน 36 จากคะแนนเต็ม 100 ลดลงมา 1 คะแนนจากปีก่อน ทำให้อันดับขยับลดลงจากที่ 96 เป็นที่ 99 ทำให้มีการตีความกันไปต่างๆ นานา บางคนก็บอกว่าแย่แล้ว สถานการณ์คอร์รัปชันไทยกำลังดำดิ่งลงไปจากเดิมอีก ส่วนบางคนก็บอกว่าอย่าเพิ่งตีโพยตีพายไป เพราะ 1 คะแนนที่ลดลงนี้น้อยมากจนแทบจะไม่แสดงผลการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ดังนั้น บทความนี้จึงจะอธิบายว่าคะแนนที่ไทยได้รับมาในปีนี้มาจากอะไร เพื่อผู้อ่านจะได้สามารถนำไปตีความเองได้อย่างถูกต้อง

 

ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน หรือ Corruption Perception Index (CPI) เป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดอัตราการคอร์รัปชันที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลก โดยวัดจากภาพลักษณ์ที่กลุ่มคนต่างๆ มองไปที่แต่ละประเทศ ทั้งนักลงทุนต่างชาติที่เคยหรือกำลังทำธุรกิจในประเทศนั้นๆ อยู่ นักธุรกิจในประเทศนั้นเอง รวมถึงข้าราชการ และประชาชนในประเทศนั้น ทีนี้ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของ CPI นี้คือการที่ดัชนีนี้ไม่ได้เพียงส่งคนไปถามกลุ่มคนเหล่านี้เองโดยตรงเท่านั้น แต่ยังรวบรวมดัชนีที่เกี่ยวข้องกับระดับคอร์รัปชันอื่นๆ มาถ่วงน้ำหนักแล้วหาค่าเฉลี่ยอีก จนทำให้ CPI ได้รับสมญานามว่า โพลแห่งโพล (Poll of Polls) ทำให้ดัชนีนี้สามารถสะท้อนความเป็นจริงได้มากขึ้นกว่าโพลเดี่ยวอื่นๆ

 

ทั้งนี้ดัชนีอื่นๆ ที่ CPI รวมเข้ามาในการคิดคำนวณด้วยในปีนี้ประกอบด้วยทั้งหมด 13 ดัชนีย่อย โดยเป็นดัชนีย่อยที่มีการวัดผลของประเทศไทยด้วย 9 ดัชนีย่อย โดยทุกดัชนีปรับฐานคะแนนเต็ม 100 เท่ากัน ได้แก่ Bertelsmann Stiftung Transformation Index ซึ่งวัดประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายของรัฐ ให้ไทยเท่าเดิม 37 คะแนน Economist Intelligence Unit Country Risk Service วัดระบบการป้องกันการทุจริต ให้ไทยเท่าเดิม 37 คะแนน Global Insight Country Risk Ratings วัดโอกาสการต้องจ่ายสินบนในการทำธุรกิจ ให้ไทยเท่าเดิม 35 คะแนน IMD World Competitiveness Center World Competitiveness Yearbook Executive Opinion Survey ถามกลุ่ม ผู้บริหารว่าการคอร์รัปชันมีอยู่ในประเทศนั้นหรือไม่ ลดลง 2 คะแนน เหลือ 41 คะแนน The PRS Group International Country Risk Guide วัดระดับคอร์รัปชันทางการเมือง ให้ไทยเท่าเดิม 32 คะแนน World Economic Forum Executive Opinion Survey วัดความปกติของการจ่ายสินบนเพื่อขอใบอนุญาตและเอกสารราชการต่างๆ ให้ไทยเท่าเดิม 42 คะแนน World Justice Project Rule of Law Index วัดการใช้อำนาจโดยมิชอบของข้าราชการ ให้ไทยเท่าเดิม 40 คะแนน และ Expert Survey Varieties of Democracy (V-Dem) วัดการคอร์รัปชันทางการเมือง ลดลง 2 คะแนนเหลือ 21 คะแนน สรุปได้ว่าที่คะแนน CPI เราลดลงนั้นเป็น ผลมาจากดัชนีย่อย 3 ดัชนี ได้แก่ IMD World Competitiveness และ Expert Survey Varieties of Democracy ซึ่งวัดภาพลักษณ์สถานการณ์คอร์รัปชันจากกลุ่มผู้บริหารบริษัทเอกชน และ การคอร์รัปชันทางการเมือง

 

อย่างไรก็ตาม การที่ CPI วัดระดับการคอร์รัปชันจากภาพลักษณ์ ทำให้เกิดปัญหาหลายประการตามมา เช่น การที่ภาพลักษณ์อาจจะไม่สามารถสะท้อนความเป็นจริงได้ดีที่สุด คนอาจจะมองว่าระดับการคอร์รัปชันในประเทศหนึ่งสูงมากทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง คอร์รัปชันน้อยก็เป็นไปได้ หรือการที่ภาพลักษณ์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทันสถานการณ์ ปัญหานี้เรียกว่า ผลกระทบ ของห้องสะท้อนเสียง (Ecco Chamber Effect) คือการที่ผู้ตอบคำถามมักจะนึกถึงผลของดัชนีในปีก่อนแล้วก็อ้างอิงคำตอบตามผลนั้น แม้ว่าในความเป็นจริงสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปมากแล้วก็ตาม

 

แต่กระนั้น หากจะวัดคอร์รัปชันโดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุนก็ทำได้ยาก เพราะการคอร์รัปชันนั้นมักเป็นการกระทำโดยลับอยู่แล้ว บางหน่วยงานจึงเลือกที่จะวัดจากการป้องกันโดยดูระบบธรรมาภิบาลของหน่วยงาน นั้นๆ การตีพิมพ์เอกสารเรื่องการป้องกันการทุจริตเผยแพร่กับเจ้าหน้าที่ การมีมาตรการป้องกันการทุจริต เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผลที่วัดได้จากดัชนีในรูปแบบนี้ก็ยังไม่สามารถสะท้อนการคอร์รัปชันจริงๆ ได้อยู่ดี และในบางกรณีกลับกลายเป็นว่าในหน่วยงานที่มีการทุจริตสูง ก็มีโอกาสสูงที่จะปลอมแปลงเอกสารเหล่านี้มาเพื่อบิดเบือนผลการวัดระดับอีกด้วย

 

สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าบางคนจะบอกว่าสถานการณ์คอร์รัปชันไทยแย่ลง หรือบางคนบอกว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง สถานการณ์ที่แท้จริงคือ ระดับการคอร์รัปชันในไทยยังคงรุนแรงอยู่และยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง แม้จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหานี้โดยหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ด้วยวิธีการ มาตรการ และนโยบายต่างๆ นานา มาโดยตลอดก็ตาม สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีช่องโหว่ในเรื่องการป้องกันการทุจริตอยู่ ซึ่ง TI หน่วยงานผู้พัฒนา CPI นี้ก็ช่วยชี้ช่องมาว่าหากจะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้จำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบอบประชาธิปไตย ที่มีสถาบันตรวจสอบที่แข็งแรง การบังคับใช้กฎหมายที่จริงจังและเท่าเทียม การปกป้องอิสระภาพของสื่อ และที่สำคัญที่สุดคือการ รับฟังเสียงจากประชาชนและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

 

เป็นเรื่องดีที่สิ่งที่ดัชนี CPI นี้สะท้อนสภาพของประเทศไทย และช่องที่ TI ช่วยชี้ทางออกให้ สอดคล้องกับแนวทางการทำงานในปีนี้ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT และศูนย์วิจัย SIAM lab ของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สำนักงาน กองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งจะได้มีโอกาสนำเสนอในบทความต่อไปครับ

 

 

 

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw