ประเด็นร้อน

'ผู้ลงคะแนนเลือกตั้งไม่สนใจนโยบายต้านโกงแล้วจริงหรือ'

โดย ACT โพสเมื่อ Nov 30,-1

- - ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า - -

 

คอลัมน์ ต่อต้านคอร์รัปชัน : โดย รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค

 

ตระกูล ภัสสร์

ผลจาก "โครงการสำรวจความคิดเห็นประชาชน ต่อนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันของพรรคการเมืองและนักการเมืองไทยในการเลือกตั้ง 2562" ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่สำรวจความคิดเห็นคนไทยทั่วประเทศจำนวน 3,054 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 16 พ.ย.-15 ธ.ค. 2561 พบว่า นโยบายต่อต้านคอร์รัปชันของพรรคการเมือง มีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเลือกตั้ง ไม่มากนัก โดยมีผู้ตอบว่า มีผลน้อย 25 ไม่มีผลเลย 21% รวมเป็นตัวเลขถึง 46% หรือเกือบครึ่งของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดที่ตอบว่า "ไม่มีผลหรือมีผลก็มีน้อย"

 

ยิ่งไปดูตัวเลขผู้ที่เห็นว่านโยบายต่อต้านคอร์รัปชันมีผลในการตัดสินใจลงคะแนนมากหรือไม่ ยิ่งมีน้อยเพียง 24% เท่านั้น ซึ่งผลของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยก็สอดคล้องกับกับผลดุสิตโพล ซึ่งสำรวจต่อมาในระหว่างวันที่ 1-5 ม.ค. 2562 ที่ถามกลุ่มตัวอย่างผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่า "นโยบายพรรคการเมือง" เรื่องอะไรที่โดนใจประชาชน ก็ได้พบว่า

 

อันดับ 1 คือ นโยบายแก้ปัญหาความยากจน ขึ้นเงินเดือน เพิ่มค่าแรง เน้นกินดีอยู่ดี 40.12%

อันดับ 2  กระตุ้นเศรษฐกิจ พัฒนาการค้า การ ส่งออกและอุตสาหกรรม 33.35%

อันดับ 3 ช่วยเหลือเกษตรกร แก้ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ ดูแลที่ดินทำกิน 26.71%

อันดับ 4 ปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชัน ผู้มีอิทธิพล สิ่งผิดกฎหมาย 23.23%

อันดับ 5 ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ลดค่าครองชีพ 18.98%

อันดับ 6  พัฒนาระบบการศึกษา ดูแลครู นักเรียน มีนโยบายเรียนฟรี 18.62%

อันดับ 7 มีสวัสดิการดูแลรักษาพยาบาลประชาชนฟรี 16.41%

อันดับ 8 รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการพลังงาน ขยะ 15.03%

อันดับ 9 มีธรรมาภิบาลในการบริหารบ้านเมือง ปฏิรูปการเมือง ลดความขัดแย้ง 10.90% และ

อันดับ 10 ลงทุนด้านการคมนาคม การขนส่ง แก้ปัญหาจราจร  7.66%

 

จะเห็นได้ว่า นโยบายของพรรคการเมืองที่โดนใจผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งนั้น เรื่องนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันลงไปอยู่ที่อันดับ 4 ด้วยคะแนนต่ำเพียง 23.23% และเรื่องธรรมาภิบาลในการบริหารบ้านเมือง ปฏิรูปการเมือง ยิ่งน้อยกว่าอยู่ในอันดับ 9 เลยทีเดียว ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ตรงกับความเป็นจริงที่จนถึงสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ยังมีเพียงไม่กี่พรรค และเป็นพรรค ขนาดเล็กๆ ด้วย ที่เน้นประกาศนโยบายต้านโกงต่อสาธารณะ

 

หรือนี่แปลว่านักการเมืองปัจจุบันไม่เชื่อว่า คนไทยจะตัดสินใจลงคะแนนโดยดูว่าพรรคการเมืองใดมีความโปร่งใส ไม่คอร์รัปชัน มากกว่ากัน แต่จะดูว่าพรรคใดมีนโยบาย แจก แถม ออกมาเป็นตัวเงินมากกว่ากัน ไม่ว่าจะใช้คำว่า ประชานิยม หรือ คำอื่นๆ ก็ออกมาแนวเดียวกันก็ตาม

 

น่าเสียดาย ที่ความพยายามขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่ตั้งโครงการที่จะผลักดันให้พรรคการเมืองต่างๆ แสดงความตั้งใจในการต่อสู้ ป้องกัน ปราบปรามภัยคอร์รัปชัน ให้ออกมาเป็นนโยบายหลักของแต่ละพรรค และเป็นคำมั่นสัญญาที่ให้กับประชาชน ว่าถ้าได้รับเลือก จะซื่อสัตย์ต่อผู้ลงคะแนนเสียง ไม่ทุจริต แสวงหาความร่ำรวยจากอำนาจที่ประชาชนมอบให้ แต่ความพยายามนี้กลับไม่เป็นผลมากเท่าที่คาดหวัง

 

น่าเสียดาย ที่ครั้งหนึ่ง ประชาชนคนไทยเคยนิยมชมชอบพรรคการเมือง ที่ถือเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นเรื่องสำคัญในการลงคะแนนเสียงสนับสนุน เช่น พรรคพลังธรรมในอดีต ที่ถือเอานโยบายความซื่อสัตย์สุจริตเป็นเรื่องสำคัญของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่อาสาจะมาทำงานเพื่อชาติ ใน ครั้งนั้นพรรคพลังธรรม ที่นำโดย พลตรีจำลอง ศรีเมือง ก็ใช้ภาพลักษณ์ความเป็นคนธรรมะธัมโม กวาดเสียงคน กทม. ไปได้อย่างท่วมท้น

 

หรือแม้แต่ในยุคแรกของพรรคไทยรักไทย ก็มีจุดเริ่ม มาจากกลุ่มคนในพรรคพลังธรรม ที่ประกาศนโยบายใหญ่ 3 ข้อ ซึ่ง 1 ใน 3 ข้อของนโยบายสำคัญนี้ก็คือ การปราบปราม คอร์รัปชัน โดยใช้คำว่า ประกาศสงครามกับความยากจน การคอร์รัปชัน และยาเสพติด ผมยังจำได้ว่าเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2544 ทักษิณ ชินวัตร ที่เพิ่งได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาไม่นาน ได้ไปเป็นประธานในการก่อตั้งเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.)ไปปราศรัยที่ศูนย์ประชุมนานาชาติไบเทค ต่อหน้าผู้ร่วมอุดมการณ์ ต่อต้านคอร์รัปชันจำนวนมาก ซึ่งรวมไปถึงผู้ใหญ่หลายท่านมาให้การสนับสนุน อาทิ นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว นพ.ประเวศ วะสี ตอนนั้นทักษิณประกาศถ้อยคำที่เป็นประวัติศาสตร์ว่า "...ถึงเวลาที่เราต้องประกาศสงครามกับคอร์รัปชัน ความยากจน และยาเสพติด...ถือว่าเป็นศัตรูของลูกหลาน ของเรา ถ้าวันนี้ใครไม่มาร่วมกันทำสงคราม ภาษานักรบ ภาษาสงครามของทหารเขาเรียกว่าเป็นพวกทรยศ...แล้ว วันนี้ใครที่บอกอาสามาเป็นรัฐบาล มาเป็นนายกรัฐมนตรี มาเป็นรัฐมนตรี มาเป็น สส. มาเป็นวุฒิสมาชิก แล้ว ยังไม่มาร่วมทำสงคราม อย่างนี้ก็ยิ่งกว่าพวกทรยศอีก..." พอพูดจบก็มีเสียงปรบมืออย่างกึกก้องจากผู้มาร่วมประชุมที่มากันถึงสองพันคน รวมทั้งผมซึ่งอยู่ที่นั่นด้วยคนหนึ่ง

 

มาถึงวันนี้ สิ่งดีๆ นโยบายดีๆ และคำพูดดีๆ เหล่านี้ กำลังเลือนลาง หายไปเกือบหมดแล้วจริงหรือ ทั้งๆ ที่จริงแล้ว คำว่าคอร์รัปชันถูกใช้อ้างเป็นเรื่องสำคัญประการหนึ่งที่ล้มรัฐบาลมาหลายต่อหลายรัฐบาล กระทั่งใช้เป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่การรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่มีพรรคการเมืองใดออกมาให้คำมั่นสัญญากับประชาชนอย่างจริงจังหรือมีการประกาศในการรณรงค์หาเสียงว่าจะต่อต้านคอร์รัปชันทุกรูปแบบอย่างเข้มข้นเป็นจริงเป็นจังและชัดเจนในกระบวนการ

 

ในประเด็นนี้ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้กล่าวว่า ต้องการให้ "พรรคการเมืองและนักการเมือง ได้มีแนวทาง มีนโยบายในเรื่องนี้อย่างชัดเจน โดยเรื่องทุจริตคอร์รัปชันอยู่ในกระบวนการการปฏิรูปในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะมีคนเข้าไปมีอำนาจ อยู่ในรัฐสภา รัฐบาล จึงมี ความจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้พรรคการเมืองและ นักการเมืองมีนโยบายเรื่องนี้อย่างชัดเจน ไม่เช่นนั้น ประชาชนจะไม่ได้อะไรเลย"

 

"เรื่องคอร์รัปชันเป็นเรื่องใหญ่ และไม่เคยลดน้อยลงเลย ที่สำคัญส่งผลกระทบกับชีวิตชาวบ้าน กระทบกับวิถีชีวิตประชาชน แต่ไม่เคยมีใครทำเรื่องนี้จริงจังเลย" วันนี้เราในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังพอจะมีเวลาที่จะส่งเสียงของเราไปถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มาขอคะแนนเสียงจากเราให้เขาเหล่านั้นให้ความสำคัญกับเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่ความสำเร็จของนโยบายด้านอื่นๆ และการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไปครับ

 

 

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw