ประเด็นร้อน
'อาคม' งัดกฤษฎีกา! มัดตราสังข์ 'ทอท.' ประมูลดิวตี้ฟรีเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุน
โดย ACT โพสเมื่อ Mar 22,2019
- - ขอบคุณข้อมูลจาก ฐานเศรษฐกิจ - -
'อาคม' ร่อนหนังสือถึงประธานบอร์ด ทอท. ร่ายยาว 4 ประเด็น แจงการดำเนินการของ ทอท. ยังขาดความชัดเจนในประเด็นข้อกฎหมายและความเหมาะสมของแนวทางการดำเนินการเรื่องดังกล่าว หากดำเนินการต่อไปอาจส่งผลให้เกิดข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนในอนาคต ขอให้บอร์ดพิจารณาชะลอการประมูล พร้อมพิจารณาทบทวนรูปแบบการเปิดสัมปทานให้เอกชนอย่างรอบคอบ เพื่อประโยชน์สูงสุด
เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2562 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ทำหนังสือถึงประธานกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เรื่อง : การดำเนินการประกาศเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลสิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ และประกาศเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลสิทธิประกอบกิจการการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยาน โดยมีข้อความว่า
ตามที่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ออกประกาศเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลสิทธิประกอบกิจการ ณ ท่าอากาศยานในกำกับของ ทอท. จำนวน 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2562 ได้แก่ 1.กิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ และ 2.กิจการการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยกำหนดเปิดขายเอกสารการยื่นข้อเสนอการดำเนินงานของแต่ละโครงการ ระหว่างวันที่ 19 มี.ค. - 1 เม.ย. 2562 ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น
กระทรวงคมนาคม ในฐานะกระทรวงเจ้าสังกัดของ ทอท. ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวภายใต้กฏหมายเฉพาะว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและการดำเนินการของกระทรวงการคลัง โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะผู้รักษาการตามกฎหมาย ภายใต้พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ) เห็นว่า
การดำเนินการของ ทอท. ยังขาดความชัดเจนในประเด็นข้อกฎหมายและความเหมาะสมของแนวทางการดำเนินการเรื่องดังกล่าว ซึ่งหากดำเนินการต่อไปอาจจะเป็นการขัดหรือแย้งกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และอาจส่งผลให้เกิดข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนในอนาคต ดังนั้น จึงเห็นควรที่คณะกรรมการ ทอท. จะพิจารณาชะลอการดำเนินการเรื่องดังกล่าว และเห็นควรพิจารณาดำเนินการเพื่อให้เกิดความรอบคอบและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ดังนี้
1. ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยมีคำวินิจฉัย เรื่อง : การให้เอกชนเข้าประกอบกิจการในพื้นที่ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพ แห่งที่ 2 (เรื่องเสร็จที่ 392/2543) โดยได้พิจารณาว่า ตามมาตรา 5 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 กำหนดให้ ทอท. มีวัตถุประสงค์ในการประกอบและส่งเสริมกิจการท่าอากาศยาน ซึ่งมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้มีความหมาย รวมถึงการให้บริการต่าง ๆ เกี่ยวกับอากาศยาน ผู้ประจำหน้าที่ สินค้า พัสดุภัณฑ์ และผู้โดยสาร ส่งผลให้กิจการคลังสินค้า ครัวการบิน อุปกรณ์ และบริการภาคพื้นดิน และระบบเติมเชื้อเพลิงอากาศยาน (ในส่วนของคลังเก็บน้ำมันอากาศยาน) จึงอยู่ในความหมายของคำว่า กิจการท่าอากาศยาน ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
ดังนั้น การที่พระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2545 ได้กำหนดนิยามคำว่า กิจการท่าอากาศยานในลักษณะเดียวกับที่กำหนดในพระราชบัญญัติการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 และ ทอท. ได้กำหนดวัตถุประสงค์ในหนังสือรับรองของบริษัทในข้อ 1 ในลักษณะเดียวกัน จึงอาจทำให้กิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยาน และกิจการการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสารของ ทอท. อยู่ในขอบข่ายของคำว่า กิจการท่าอากาศยาน ซึ่งเป็นกิจการตามมาตรา 7 (3) แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ กรณีดังกล่าว ทอท. ควรหารืออย่างเป็นทางการกับ สคร. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ว่า กิจการที่ ทอท. อยู่ระหว่างการประกาศเชิญชวนเอกชนทั้ง 2 โครงการ เข้าข่ายต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ หรือไม่
2. พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ มาตรา 7 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบ มาตรา 7 วรรคสอง ได้กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการที่จะจัดทำโครงการร่วมลงทุนในกิจการท่าอากาศยาน การขนส่งสินค้าทางอากาศ ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ รวมถึงกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการดังกล่าวด้วย โดยในส่วนของกิจการเกี่ยวเนื่องต้องเป็นไปตามที่คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนประกาศกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งในปัจจุบัน สคร. อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโครงการที่อาจเข้าข่ายกิจการโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง (1)-(11) รวมถึงกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินการกิจการดังกล่าวตามมาตรา 7 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ เพื่อประกอบการจัดทำประกาศดังกล่าว และกระทรวงคมนาคมได้มีหนังสือถึงหน่วยงานภายในสังกัดของกระทรวงคมนาคม รวมถึง ทอท. เพื่อดำเนินการรวบรวมและจัดส่งข้อมูลดังกล่าวให้กระทรวงคมนาคมแล้ว
ดังนั้น ทอท. จึงควรเร่งดำเนินการจัดส่งข้อมูลดังกล่าวให้กระทรวงคมนาคมโดยด่วน เพื่อที่กระทรวงคมนาคมจะได้รวบรวมและจัดส่งให้ สคร. พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ อันจะทำให้เกิดความชัดเจนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ต่อไป
3. ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการบังคับใช้ ร่าง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ต่อคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะในกรณีที่ร่าง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ มีผลทำให้กิจการที่จะต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือ ทรัพย์สินของหน่วยงานรัฐ ที่ไม่ใช่เพื่อจัดทำโครงการพื้นฐานและบริการสาธารณะไม่อยู่ภายใต้กฏหมายดังกล่าว จึงเห็นควรให้มีการกำหนดกลไกในการพิจารณาให้เอกชนเข้าใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินและกลไกการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินการอย่างเหมาะสมและเพียงพอ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานกลางที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณา เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2562 มอบหมายให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลัก รับข้อสังเกตดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเสนอผลการพิจารณาต่อคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน
ในปัจจุบัน กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ในกรณีที่ปรากฎว่า กิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยาน และกิจการการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ไม่เข้าข่ายโครงการร่วมลงทุนตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ และประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ที่ สคร. จักได้จัดทำขึ้นตามข้อ 2 ไม่รวมถึงกิจการดังกล่าว ทอท. จะต้องปฏิบัติตามกลไก หลักเกณฑ์ และขั้นตอน ที่กระทรวงการคลังจะได้จัดทำขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อให้การดำเนินงานของ ทอท. เป็นไปด้วยความเหมาะสม โปร่งใส และสอดคล้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ต่อไป
4. ในขณะที่ สคร. อยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ตามข้อ 1 และ 2 และกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีตามข้อ 3 เห็นควรที่คณะกรรมการ ทอท. จะได้พิจารณาทบทวนรูปแบบการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมประกอบกิจการทั้ง 2 โครงการ โดยนำข้อห่วงใยและข้อเสนอแนะของทุกภาคส่วนไปประกอบการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้การดำเนินการเรื่องดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้การดำเนินการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนเป็นไปด้วยความโปร่งใส มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน