ประเด็นร้อน

โจทย์วิจัยเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

โดย ACT โพสเมื่อ Jul 22,2019

- - ขอบคุณข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ - -

 

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต : โดย ดร.บัณฑิต นิจถาวร

 

เมื่อสองอาทิตย์ก่อน ผมได้ไปร่วมเป็นวิทยากรในการประชุมวิชาการระดับชาติประจำปี 2562 ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)


ในหัวข้อ “ภารกิจต่อต้านการทุจริตและงานวิจัย” ซึ่งได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับความสำคัญของงานวิจัยว่าสามารถสร้างความเข้าใจและชี้ทางให้กับการแก้ไขปัญหาได้ วันนี้จึงอยากจะแชร์ความเห็นผมในเรื่องนี้ให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ


งานวิจัยและการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันมีความสัมพันธ์กันโดยตรง เพราะการศึกษาวิจัยคือ จุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา เห็นได้ในทุกวงการ เช่น การแพทย์ ที่การรักษาโรคต่างๆ จะเริ่มจากการวิจัย ค้นคว้า เพื่อให้เข้าใจถึงสมมติฐานของโรค หรือสาเหตุที่ทำให้ปัญหาเกิดขึ้น ศึกษาแนวทางที่จะใช้แก้ปัญหา ทดลองและทบทวนการแก้ไขปัญหาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะประสบความสำเร็จ นี่คือขั้นตอนของการแก้ไขปัญหาที่ทำกันเป็นปรกติ ตรงกันข้าม การแก้ไขปัญหาโดยไม่มีการศึกษาปัญหา จะทำให้เราไม่เข้าใจปัญหาที่ต้องแก้อย่างถ่องแท้ การแก้ไขจึงเหมือนการเหวี่ยงแห แก้ไขแบบลองผิดลองถูก ไปตามอารมณ์ เหมือนคนอยู่ในที่มืดที่ไม่รู้ชัดเจนว่าจะไปต่ออย่างไร การศึกษาวิจัยจึงเหมือนการสร้างความเข้าใจ สร้างทางสว่าง นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างมีเหตุมีผล


ปัญหาคอร์รัปชันก็เช่นกัน เพราะคอร์รัปชันเป็นพฤติกรรมของสังคม และพฤติกรรมสังคมก็เปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นจุดเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหา ต้องมาจากการศึกษาให้เข้าใจถึงสาเหตุที่ทำให้สังคมมีคอร์รัปชัน เพื่อนำไปสู่การออกมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา ทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และถ้ามาตรการที่ออกมาไม่ประสบความสำเร็จก็ต้องศึกษาวิจัยต่อไป เพื่อปรับปรุงมาตรการแก้ไขให้ดีขึ้น จนสามารถลดทอนหรือเอาชนะการทุจริตคอร์รัปชันได้ ซึ่งหลายสังคมหลายประเทศในเอเชียทำใด้ สามารถแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นได้อย่างสำเร็จ และส่วนใหญ่ก็ให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัย


เมื่อแปดปีก่อนที่ผมเริ่มขับเคลื่อนโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต หรือโครงการ CAC ผมเองก็ติดปัญหานี้ เพราะในบ้านเราไม่มีการศึกษาชัดเจนว่า อะไรคือสาเหตุของคอร์รัปชั่น ทำให้ต้องศึกษาจากความสำเร็จของประเทศในภูมิภาคว่า แนวทางไหนที่ทำให้ประเทศเช่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน


ในทางวิชาการ รูปแบบในการอธิบายปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย จะมีสี่รูปแบบหลัก คือ หนึ่งคอร์รัปชันเป็นปัญหาวัฒนธรรมหรือประเพณีของสังคม (Cultural Problem)

 

สอง เป็นปัญหาแรงจูงใจในระบบเศรษฐกิจที่ผิดพลาด (Incentives Problem) ที่ทำให้คนในสังคมเลือกที่จะโกง เพราะผลที่จะได้จากการโกงและโอกาสที่ถูกลงโทษจับกุมดูแล้วคุ้มกว่าการไม่โกง

 

สาม เป็นปัญหาความอ่อนแอของระบบสถาบันต่างๆ ในประเทศ (Institutional Problem) ที่เอื้อให้เกิดการโกง เช่น ระบบตรวจสอบ ความไม่โปร่งใส และการบังคับใช้กฎหมายอ่อนแอ สี่ เป็นปัญหาที่มาจากการไม่มีส่วนร่วมของสังคม (Collective Action Problem) ที่ประชาชนไม่สนใจและไม่พร้อมที่จะร่วมมือแก้ไขปัญหา ต่างคนต่างอยู่ นี่คือสี่แนวคิดหลักของสาเหตุหรือที่มาของการทุจริตคอร์รัปชันที่เราต้องแยกแยะ เพื่อให้สามารถหามาตรการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมต่อประเทศ คิดอย่างเป็นระบบและทำอย่างมีเหตุมีผล ซึ่งถ้าทำได้ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้


จากประสบการณ์ของประเทศในภูมิภาคเอเชีย ดูเหมือนว่า รูปแบบที่สาม คือ ความอ่อนแอของระบบสถาบันในประเทศได้เป็นแนวทางที่หลายประเทศในเอเชียให้ความสำคัญในการแก้คอร์รัปชัน นำไปสู่การสร้างมาตรการแก้ไขที่สามารถทำได้อย่างสำเร็จตามแนวคิดนี้ เช่น กรณีสิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ และฮ่องกง และถ้าเราศึกษามาตรการที่ทั้งสี่ประเทศนี้ทำในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน เราจะเห็นว่า ทั้งสี่ประเทศจะใช้วิธีเหมือนๆ กันในการแก้ปัญหา


หนึ่ง จับปลาใหญ่ หมายถึงเอาคนที่ทุจริตคอร์รัปชันในระดับสูงสุดของประเทศ ไม่ว่าจะฝ่ายการเมือง ภาคธุรกิจ หรือข้าราชการประจำ มาลงโทษให้เป็นตัวอย่าง เห็นได้จากกรณีประธานาธิบดี เกาหลีใต้ และไต้หวัน หลายคนติดคุก

 

สอง ระบบเศรษฐกิจต้องปลอดจากการผูกขาดตัดตอน การจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจต้องอยู่ภายใต้กลไกตลาดที่มีการแข่งขันอย่างเสรี

 

สาม การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐเป็นระบบที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีส่วนร่วมจากบุคคลภายนอก

 

สี่ ภาคธุรกิจทำธุรกิจอย่างมีธรรมภิบาล มีจริยธรรม ไม่รับ ไม่จ่ายสินบน ห้า ภาคประชาสังคมเข้มแข็ง ทำหน้าที่สอดส่องและตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน สนับสนุนโดยระบบการศึกษาที่มีคุณภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชน


นี่คือ ห้ามาตรการที่ทั้ง เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ ใช้ภายใต้แนวคิดของการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสถาบันของประเทศเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งสามารถทำได้อย่างสำเร็จ และแนวคิดนี้ก็เป็นกรอบความคิด ให้ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมของประเทศเรานำมาปรับใช้เพื่อต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชันในช่วงแปดปีที่ผ่านมา ที่นำไปสู่การปรับปรุงเชิงระบบและการผลักดันกฎหมายใหม่ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งศาลเร่งรัดเพื่อพิจารณาคดีความทุจริตคอร์รัปชัน การออก พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง โครงการสัญญาคุณธรรม โครงการ CAC การแก้ไขกฎหมายป.ป.ช.ให้สามารถเอาผิดบริษัทเอกชนที่ให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ ในกรณีที่บริษัทไม่มีแนวทางป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันที่เหมาะสม และการจัดตั้งองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแห่งประเทศไทยให้เป็นพื้นที่ของภาคประชาสังคมที่จะผลักดันการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันโดยภาคประชาชน


เหล่านี้ คือ ความก้าวหน้าในการพัฒนากลไกแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในประเทศที่มีมากในช่วงแปดปีที่ผ่านมา ทำให้ความตระหนักรู้ของสังคมเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมก็ไม่ลดลง แต่กลับรุนแรงขึ้น และจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้การทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไม่ลดลงก็คือ ความอ่อนแอของการบังคับใช้กฎหมายที่ระบบยุติธรรมของประเทศเราไม่สามารถจับปลาใหญ่ ไม่สามารถนำคนระดับบนของสังคมไทยที่ทุจริตคอร์รัปชันมาลงโทษได้ตามกฎหมาย ต่างกับ กรณีของสี่ประเทศที่พูดถึง ทำให้การเปลี่ยนพฤติกรรมในสังคมจึงไม่เกิดขึ้น เพราะประชาชนทั้งประเทศไม่เชื่อว่าปัญหาคอร์รัปชันจะแก้ไขได้ เพราะคนใหญ่คนโตในสังคม ทั้งในภาครัฐ เอกชน และภาคการเมือง ที่ประชาชนแคลงใจในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ยังลอยหน้าลอยตาและมีบทบาทอยู่ในสังคมและในการเมืองของประเทศ


ทำไมการบังคับใช้กฎหมายของประเทศจึงอ่อนแอ? คำตอบส่วนหนึ่งสามารถถอดรหัสได้จากผลงานวิจัย ซึ่งในเรื่องนี้มีงานศึกษาวิจัยที่เริ่มเจาะลึกพฤติกรรมของสังคมไทย และงานวิจัยชุดหนึ่งที่เด่นก็คือ การศึกษาของ ดร.ธานี ชัยวัฒน์ และกลุ่มจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่ศึกษาในเชิงเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม และมีข้อสรุปที่น่าสนใจเกี่ยวกับสังคมไทยว่า


หนึ่ง สังคมไทยเป็นสังคมคู่ขนานระหว่างระบบที่เคารพกฎหมาย (Rules – based) และระบบวงศาคณาญาติ(Kinship)

 

สอง Kinship คือ ระบบการให้ความช่วยเหลือกันระหว่างคนในกลุ่ม ซึ่งมีมานานในสังคมไทยจนเป็นวัฒนธรรมสำคัญของสังคม

 

สาม การทุจริตคอร์รัปรัปชัน หรือการโกง เป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างพวกพ้องภายใต้ Kinship – based ซึ่งมีความสำคัญกว่า Rules – based

 

สี่ ระบบ Kinship มีพลัง หรือทรงอิทธิพลกว่าระบบ Rules – based ​​​


นี่คือพฤติกรรมของสังคมไทย ที่สะท้อนจากงานวิจัย ช่วยให้คำตอบว่า ทำไมปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทยจึงลดยากและกลับรุนแรงขึ้น เพราะการทำงานของระบบอุปถัมภ์ภายใต้ Kinship – based นับวันจะมีอิทธิพลและมีพลังกว่าระบบ Rules – based ทำให้คนในสังคมมองหา Kinship ด้วยการสร้างเครือข่ายในรูปแบบต่างๆ เพื่อดูแลตัวเองและรักษาความอยู่รอดมากกว่าจะอาศัยความเข้มแข็งของระบบกฎหมาย หรือ Rules – based เหมือนในประเทศอื่นๆ นี่คือแก่นของปัญหาคอร์รัปชั่นของประเทศเราที่ไม่ต่างกับปัญหาการเมืองที่ประเทศมีขณะนี้


ในที่ประชุม ผมได้ฝากการบ้านไว้กับนักวิจัยที่มาร่วมการสัมมนากับป.ป.ช.ว่า โจทย์วิจัยที่สำคัญจากนี้ไปที่จะช่วยการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศได้อย่างตรงจุด คือ การสร้างความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างระบบอุปถัมภ์กับการทุจริตคอร์รัปชันและหามาตรการที่จะลดอิทธิพลของระบบอุปถัมภ์ในแง่ความสัมพันธ์ของภาครัฐกับธุรกิจเอกชนที่นำไปสู่ประเด็นผลประโยชน์ขัดแย้งและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ที่เป็นสาเหตุหลักและเป็นตัวสนับสนุนให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันเชิงนโยบาย


นี่คือความสำคัญของงานวิจัย

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw