ประเด็นร้อน

ศาลปราบทุจริตเริ่มทำงาน

โดย ACT โพสเมื่อ Mar 31,2017

เชื่อว่าหลายคนหากติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบแล้ว คงได้เห็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ และจับตามองว่า นี่อาจเป็นความหวังและอนาคตสำหรับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของข้าราชการและนักการเมืองในบ้านเราในอนาคต 

พิจารณาจากคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมา ถึงสองคดีรวด 

คดีแรก เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.1063/2558 ที่ นายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน อดีต ผอ.สำนักวิชาการป่าไม้ 9 และ อดีตรองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายปลอดประสพ สุรัสวดี อายุ 72 ปี อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2546 - 12 พ.ย. 2554 จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นพนักงานตามกฎหมาย ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีอำนาจสั่งการ อนุญาต อนุมัติ ได้ออกคำสั่งมอบหมายงานในหน้าที่ตามคำสั่งกระทรวงทรัพยากรฯ ที่ 287/2546 และให้ระงับการมอบหมายงานในหน้าที่ตามคำสั่ง 399/2546 ที่ให้เลื่อนและแต่งตั้งโจทก์ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนัก (นักวิชาการป่าไม้ 9) และให้ถือว่าเป็นการยกเลิกคำสั่งดังกล่าวไว้ก่อน ซึ่งเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ เนื่องจากจำเลยมีสาเหตุโกรธเคืองโจทก์เป็นการส่วนตัว ทำให้ได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียง ไม่ได้รับพิจารณาให้ได้รับเครื่องราชฯชั้นสูงกว่าที่ได้รับในปัจจุบัน และความก้าวหน้าทางราชการ เหตุเกิดที่แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. ขอให้ลงโทษตาม ป.อาญา มาตรา 157

ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายปลอดประสพ จำเลยกระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จริงให้จำคุกเป็นเวลา 1 ปี แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้มีกำหนด 2 ปี และปรับเงิน 20,000 บาท นอกจากนี้ ให้จำเลยชดใช้เงินทดแทนความเสียหายโจทก์ด้วย 1.4 ล้านบาท

อีกคดีหนึ่งในวันเดียวกัน ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อท.46/2559 ที่อัยการคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางจุฑามาศ ศิริวรรณ อายุ 70 ปี อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. และ น.ส.จิตติโสภา ศิริวรรณ อายุ 43 ปี บุตรสาว ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ฐานกระทำผิด พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ม.6, 11 พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคา ต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ม.12

โดยศาลพิพากษาว่า นางจุฑามาศ จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 และตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6 , 11 และ น.ส.จิตติโสภา จำเลยที่ 2 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6, 11 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท รวม 11 กระทง ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตาม พ.ร.บ.ความผิดของพนักงานในองค์การฯ ตามมาตรา 6 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุด ให้จำคุก จำเลยที่ 1 กระทงละ 6 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 66 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงคงจำคุกไม่เกิน 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) และจำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 4 ปี รวมจำคุก 44 ปี และริบเงินจำนวน 1,822,494 เหรียญสหรัฐฯ และดอกผลที่เกิดขึ้น ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งศาลให้กำหนดมูลค่าสิ่งที่สั่งริบดังกล่าว ตามมาตรการสำหรับคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ เพิ่มขึ้นอีกมาตรการหนึ่ง เป็นเงินจำนวน 62,724,776 บาท

ถือว่าเป็นกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจากการพิจารณาคดีแยกออกมาจากคดีอาญาทั่วไปของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ที่เกิดขึ้นหลังจาก พ.ร.บ. จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2559 และมีการเปิดที่ทำการศาลฯอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2559 เป็นต้นมา

แน่นอนว่า การก่อตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือที่เรียกว่า “ศาลปราบโกง” ดังกล่าวเป็นความหวังสำหรับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างได้ผลและให้ลดน้อยลงไป และเมื่อพิจารณาจากระยะเวลาในการพิจารณาทั้งสองคดี โดยคดีแรกเข้าใจว่าน่าจะเป็นการโอนคดีมาสู่การพิจารณาของศาลนี้ หลังจากที่มีการดำเนินการอย่างเป็นทางการแล้ว และคดีที่สองข้างต้น ถือว่าใช้เวลาไม่นานนัก ซึ่งนี่แหละคือ “หัวใจสำคัญ” ของกระบวนการยุติธรรมที่มีการกล่าวกันว่า “กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรม” เหมือนกับหลายคดีที่กว่าจะมีการตัดสินต้องใช้เวลานาน นานจนลืมไปแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมามีคดีอาญาที่เกิดขึ้นจำนวนมากไม่ได้แยกคดีออกมาเป็นการเฉพาะทำให้มีข้อจำกัด แต่เมื่อมีการแยกคดีเกี่ยวกับการทุจริตออกมาแบบนี้ทำให้มีความหวังกันมากขึ้นว่าจะเป็นกลไกสำคัญในการจัดการกับคนทุจริตประพฤติมิชอบได้อย่างรวดเร็วกว่าแต่ก่อน

นั่นคือ คดีที่จะมาสู่การพิจารณาของ “ศาลปราบโกง” ดังกล่าวส่วนใหญ่จะมาจากการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ซึ่งหากสองหน่วยงานทำงานเร็วคดีก็จะเข้ามาที่ศาลมาก โดยศาลอาญาคดีทุจริตฯจะพิจารณาเฉพาะคดีประเภทนี้อย่างเดียวโดยไม่พิจารณาคดีอื่นปะปน ทำให้การพิจารณาคดีทำได้รวดเร็ว เหมือนกับสองคดีที่มีการพิพากษาข้างต้นก็ล้วนเป็นการโอนคดีมาพิจารณา แม้ว่าตามขั้นตอนจะต้องมีศาลอุทธรณ์ (สิ้นสุดที่ศาลอุทธรณ์ยกเว้นได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาให้ฎีกาได้) แต่กระบวนการก็รวดเร็วแยกออกมาต่างหาก นั่นคือ ศาลปราบโกงใช้ระบบ “ไต่สวน” ซึ่งฉับไวกว่า และที่สำคัญสำหรับคดีทุจริตประพฤติมิชอบจะ “ไม่มีหมดอายุความ” หนีได้หนีไป หนีให้ตลอดชีวิต

ซึ่งนี่แหละจะเป็นตัวอย่างที่ทำให้คนที่คิดจะโกง คิดที่จะประพฤติมิชอบได้ยับยั้งชั่งใจได้บ้าง เนื่องจากเห็นกันอยู่ตรงหน้า

ดังนั้น เมื่อได้เห็นกระบวนการทำงานและขอบเขตอำนาจศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบกลางที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อตัดสินคดีทุจริตประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐที่แยกออกมาพิจารณาคดีเป็นการเฉพาะทำงานได้รวดเร็ว ดังที่มีการพิพากษาสองคดีข้างต้น ซึ่งเชื่อว่าทำให้เป็นการกำหราบคนที่คิดทุจริตฯมีความยับยั้งชั่งใจมากขึ้นกว่าเดิมแน่นอน !! 

-- สำนักข่าว ผู้จัดการรายวัน วันที่ 31 มีนาคม 2560 --
อ่านข่าวเพิ่มเติม : 
goo.gl/LTLB9u