บทความ

คอร์รัปชันในการซื้อขายตำแหน่งราชการ

โดย ดร.มานะ นิมิตรมงคล โพสเมื่อ Jan 08,2023

ประหลาดใจกันไหมครับ! ทั้งๆ ที่สังคมไทยรับรู้กันมานานเรื่องการซื้อขายตำแหน่งในวงการตำรวจ ข้าราชการและเกือบทุกหน่วยงานของรัฐ แต่ทำไมถึงไม่เคยมีใครโดน ป.ป.ช. เล่นงานหรือถูกศาลลงโทษด้วยความผิดนี้เลย ทุกวันนี้การซื้อขายตำแหน่ง เขาทำกันอย่างไรจึงแพร่ระบาดและจับผิดยาก
แน่นอนว่า ในตลาดซื้อขายตำแหน่งมีทั้งเรื่องจริงและต้มตุ๋น ทั้งการซื้อและการฝาก (คนฝากจะได้อะไร?) มีทั้งจ่ายเป็นเงินและเกิดบุญคุณต้อง
ตอบแทน กลายเป็นเครือข่ายคนรู้กันที่ง่ายต่อการจับมือช่วยกันโกงต่อไป ทั้งหมดเป็นเรื่องสมประโยชน์ของคู่กรณีที่ต่างรับราชการมานาน หากถูกเปิดโปงหรือจับได้ย่อมมีความผิดไปด้วยกัน ดังนั้นพยานหลักฐานจึงหายาก
ข้อมูลเท่าที่ผมทราบจากคำบอกเล่าและเรื่องร้องเรียนของข้าราชการ ตำรวจ ทหาร และพนักงานรัฐวิสาหกิจ มีดังนี้

1. ตำแหน่งที่ซื้อขาย
1.1 มักเป็นตำแหน่งสำคัญที่มีอำนาจและผลประโยชน์มาก เช่น ปลัดฯ อธิบดี ผู้อำนวยการ ผู้ว่าฯ เลขาธิการ ผู้บัญชาการ ผู้กำกับ ฯลฯ
1.2 ตำแหน่งที่เปิดให้ซื้อขาย อาจเป็นตำแหน่งที่ว่างจากการโยกย้ายตามฤดูกาลหรือนอกฤดูกาล เพื่อทดแทนคนเกษียณ ลาออกหรือถูกย้าย หลายปีก่อนในวงการตำรวจมีเทคนิคทำให้ตำแหน่งสำคัญว่างลง หรือที่เรียกว่าเกิด “หลุม” แล้วเปิดขายให้ใครก็ตามที่ต้องการลงหลุมนั้นเช่น จ้างให้คนเดิมลาออกจากราชการ จ้างให้ Early Retire จ้างให้ขอย้ายตัวเอง เป็นต้น

2. ผู้มีอำนาจ
2.1 ผู้มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายคือ รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดีโดยความเห็นชอบของปลัดฯ และตัวอธิบดีเอง ขึ้นอยู่กับตำแหน่งหรือ “ซี” ของผู้ถูกย้าย ในบางองค์กรอาจมีอำนาจของคณะกรรมการด้วย แต่ในชีวิตจริงเป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐมนตรีมักล้วงลูกเสมอ
2.2 กรณีกรมอุทยานฯ มีวิธีที่โหดร้ายโดยอาศัยช่องว่างของกฎหมาย คือ ย้ายไปดำรงตำแหน่ง กับการย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นอำนาจของอธิบดีที่จะออกคำสั่งเมื่อใดก็ได้ ดังที่เกิดในกรณีกรมอุทยานฯ ตามที่เป็นข่าว

3. ราคาที่ต้องจ่าย
3.1 มีตั้งแต่หลักแสนบาทถึงหลายร้อยล้านบาท ราคาซื้อขายจะสูงมากหรือต่ำไม่เกี่ยวกับระดับชั้นของตำแหน่ง เช่น ปลัดกระทรวงอาจซื้อ 200 ล้านบาท แต่อธิบดีกรมหลักในกระทรวงนั้นอาจแพงมากถึง 400 ล้านบาทก็มีมาแล้ว ราคาจึงขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ที่จะได้รับจากตำแหน่ง ซึ่งโดยมากเป็นหน่วยงานที่มีงบลงทุนหรืองบก่อสร้างมากๆ เช่น สร้างถนน สร้างเขื่อน หรือเป็นหน่วยงานที่ใช้งบแล้วโอกาสถูกตรวจสอบหาหลักฐานยาก เช่น กรมเกี่ยวกับฝนเทียม ขุดน้ำบาดาล งบแก้ปัญหาภัยพิบัติ หรือมีอำนาจจัดเก็บหรือหารายได้ เช่น ค่าเข้าอุทยาน เปิดสัมปทาน ประเมินเก็บภาษี หรือหน่วยงานที่มีเขตอำนาจในทำเลทอง เช่น มีโรงงานหรือมีธุรกิจผิดกฎหมายตั้งอยู่มาก ฯลฯ
3.2 ล่าสุด กรณีกรมอุทยานฯ ทำให้เราได้ยินคำว่า “ค่ารักษาตำแหน่ง” และการประมูลตำแหน่ง

4. เงินมาจากไหน
เงินที่เอามาจ่ายกันอาจเป็นของครอบครัว เงินสะสมจากการทำงานสุจริตหรือเงินที่คดโกงเขามาหรือเงินที่พ่อค้าลงขันให้

5. วิธีจ่าย ขึ้นอยู่กับขนาดของหน่วยงานและความใกล้ชิดของคู่กรณี
5.1 จ่ายตรงผู้มีอำนาจทั้งนักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูง จ่ายให้ผู้ทำหน้าที่ศูนย์กลาง จ่ายผ่านนายหน้าที่ได้รับมอบหมาย จ่ายผ่านผู้ใหญ่หรือผู้มีอิทธิพลเพื่อให้เขาไป “ฝาก” ผู้มีอำนาจตัวจริง
5.2 ผ่อนส่งเป็นงวดหรือรายเดือน หรือคนที่นายเชื่อมือแต่ไม่มีเงินก้อนก็สามารถรับเป้าหาเงินส่งนายเมื่อได้ตำแหน่งแล้ว
คนที่ซื้อตำแหน่งบ้างหวังร่ำรวยหรือโอกาสเติบโตในหน้าที่ บ้างก็อยากสบายหรืออยู่ใกล้ครอบครัว โดยรู้ดีว่าแม้จ่ายเงินแล้วก็ไม่แน่ว่าจะได้ตำแหน่งที่ต้องการและจะได้ครองตำแหน่งนั้นนานแค่ไหน

อีกมุมหนึ่ง ยังมีคนโชคร้ายจำนวนมากที่จำยอมจ่ายเงินเพียงขอให้มีงานทำ แม้ตำแหน่งเล็กๆ รายได้ไม่มาก เช่น คนติดรถเก็บขยะ ครูช่วยสอน ผู้ดูแลคนชรา นายสิบตำรวจ ฯลฯ

คอร์รัปชันในการซื้อขายตำแหน่งราชการ ทำลายศักดิ์ศรีข้าราชการ ทำร้ายคน ทำลายระบบ ทำลายชาติ หากทนยอมปล่อยไว้ สักวันเหล่าคนโกงจะครองเมืองได้อย่างย่ามใจ

ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
8 มกราคม 2566