ประเด็นร้อน

หนุนแสดงบัญชีทรัพย์สิน

โดย ACT โพสเมื่อ Apr 12,2017

 จากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)มีมติเห็นชอบกำหนดเพิ่มเติมเจ้าหน้าที่จะต้องมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 จากเดิมที่มีเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

          
โดยประกาศฉบับใหม่ กำหนดให้บุคคลในตำแหน่ง เช่น รองอธิการบดี ปลัดเทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล องค์กรปกครองส่วนจังหวัด รวมถึง บุคคลในระดับผู้บริหารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เช่น จเรตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ช่วย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ ต้องแสดงรายการทรัพย์และหนี้สินต่อ ป.ป.ช.ด้วย
         
กรณีดังกล่าวมีทั้งผู้เห็นด้วยและคัดค้าน และยังรวมไปถึงการลาออกจากตำแหน่งของ 13 รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยความไม่เห็นด้วยต่อเรื่องดังกล่าว
          
นายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าเข้าใจได้ว่าที่รองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยมหิดล ทั้ง 13 คน ลาออกนั้น เกิดจากความคับข้องใจ เพราะกฎหมายให้แสดงทรัพย์สิน ออกมาหลังจากการแต่งตั้งรองอธิการบดีเรียบร้อยแล้ว อาจมีความจำเป็น เช่น ไม่สะดวก หรือไม่สบายใจที่ต้องมีการยื่นแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน
          
อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของ นายไชยันต์ เชื่อว่าการแสดงบัญชีทรัพย์สิน ไม่น่าเสียหาย ตรงไหน และยังเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ สร้างความมั่นใจโปร่งใสให้แก่ประชาชนได้ และจะทำให้ประชาชนรู้สึกพอใจเสียด้วยซ้ำ
         
"ผมว่าการที่รองอธิการบดีทั้ง 13 คนลาออก แล้วมีการแต่งตั้งรักษาการรองอธิการบดี โดยใช้คนที่ลาออกไปมารักษาการ ทำให้แย่ ต่อภาพลักษณ์ของมหิดล อาจทำให้คนสงสัย หรือเปล่าว่าคนที่ลาออกไป ลาออกเพราะ ต้องการเลี่ยงบาลี ไม่อยากแสดงทรัพย์สิน การทำแบบนี้ยิ่งทำให้สังคมตั้งข้อสงสัย และ สรรพากรก็สามารถสืบย้อนหลังได้อยู่ดี"
          
นายไชยันต์ กล่าวว่าขั้นตอนการแสดงทรัพย์สินไม่ได้เป็นขั้นตอนที่ยุ่งยาก หรือเสียเวลามาก มีข้อมูลจากเว็บไซต์ของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่าผู้ที่มีหน้าที่ต้องแสดงทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ต้องแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุ นิติภาวะ ที่มีอยู่จริงทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งทรัพย์สินที่อยู่ในความครอบครองของบุคคลอื่น หรือที่ให้บุคคลอื่นถือแทน
          
"ผมคิดว่าคนที่ทำงานฝ่ายบริหาร ควร โปร่งใส ยิ่งคนที่ต้องดูแลงบประมาณ หรือมี ความเกี่ยวข้องกับงบประมาณ ก็ควรมีการ ตรวจสอบ มีปัญหาก็ดูก่อน-หลังทำงาน ถ้าพบว่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นและอธิบายไม่ได้ ก็คงถูกยึด ไปตามขั้นตอนตรวจสอบของ ป.ป.ช."
          
ทั้งนี้ในส่วนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการพูดคุยกับรองอธิการบดีทั้ง 9 คนเรียบร้อยแล้ว และไม่มีใครต้องการลาออก แต่สิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือการเตรียมการเอกสารภายใน 30 วัน เพราะที่ผ่านมาไม่ได้มีการจัดระเบียบเอกสาร แต่อธิการบดีของจุฬาฯ จะเข้ามาให้คำแนะนำและช่วยจัดการให้บางส่วน
          
อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่ นายไชยันต์ ย้ำคือการออกกฎหมายให้มีการแสดงทรัพย์สิน ควรทำอย่างมีมาตรฐานและครอบคลุมทุกฝ่าย ยิ่งในรัฐบาลที่มีทหารดำรงตำแหน่งสำคัญ รวมถึงฝ่ายบริหารของกองทัพ ก็ควรมีการแสดงบัญชี และแจกแจงรายละเอียดทรัพย์สินด้วย
         
"มันควรจะเป็นกฎหมายที่ต้องให้ทุกคน อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน เช่น เป็นทหาร ที่มีการจัดซื้อจัดจ้าง หรือฝ่ายบริหารของ กองทัพ ก็ควรมีส่วนนี้เข้ามาควบคุม"
          
ทั้งนี้ คงต้องดูท่าทีของ ป.ป.ช. ต่อไป ว่าจะมีแถลงการณ์หรือประกาศอะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีของการแสดงทรัพย์สินในฝ่ายกองทัพด้วยหรือไม่

- - สำนักข่าว กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 12 เมษาบน 2560 - -