ประเด็นร้อน

วิวัฒนาการคอร์รัปชันในไทย

โดย ACT โพสเมื่อ Apr 26,2017

 รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค

          
ต่อภัสสร์ :พ่อครับ ผมสงสัย จากที่เรา สามารถนั่งคุยนั่งเขียนบทความเรื่องการคอร์รัปชันได้ทุกสัปดาห์แบบนี้ แสดงว่า คอร์รัปชันในปัจจุบันมันมีเยอะมากเลย เหรอครับ ถ้าเทียบกับการคอร์รัปชันในอดีตของประเทศไทย มันมีความเปลี่ยนแปลงบ้างหรือเปล่า
          
ต่อตระกูล : มีการเปลี่ยนแปลงแน่นอนและเปลี่ยนมากด้วย ทั้งจำนวน คดีที่เกิด ลักษณะการทุจริตและกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในช่วงนั้นๆ โดยปัจจัยหลักๆ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คือลักษณะโครงสร้างทางการเมืองและทัศนคติสังคมที่เปลี่ยนไปในแต่ละยุคสมัยของบ้านเมือง
          
ต่อภัสสร์ : น่าสนใจมากนะครับ ผมคิดว่าการเข้าใจวิวัฒนาการของคอร์รัปชันได้ เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก ต่อการต่อต้านคอร์รัปชัน เพราะถ้าแนวนโยบายการแก้ไขปัญหา มันไม่ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว นอกจากจะไม่ช่วยแก้ไขปัญหาอะไร ยังจะเป็นภาระให้แก่ผู้ที่ต้องปฏิบัติตามเสียด้วยซ้ำ
          
นอกจากนี้ที่ผมเห็นว่าน่าสนใจมากๆ คือ หากเราศึกษาวิวัฒนาการคอร์รัปชัน เข้าใจอย่างถ่องแท้ รู้สาเหตุปัจจัยที่ส่งผล กระทบต่อลักษณะและรูปแบบการคอร์รัปชัน อย่างแน่นอน เราจะสามารถทำนายแนวโน้ม รูปแบบการคอร์รัปชันในอนาคต เพื่อออกแบบมาตรการ นโยบายป้องกันก่อน ที่ทรัพย์สินของแผ่นดินจะโดนโกงไป แทนที่จะมัวแต่ตามจับซึ่งยากและใช้เวลานาน พ่อเล่าให้ฟังหน่อยสิครับว่า การคอร์รัปชันมันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างตลอดเวลาที่ผ่านมา
          
ต่อตระกูล : ให้พ่อคิดคนเดียวคงเล่าได้ไม่ครอบคลุม ต้องขออาศัยตัวช่วยเป็นรายงานการสัมมนาของกลุ่มผู้ที่ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชันจากภาค ส่วนต่างๆ ได้แก่ องค์กรภาคประชาสังคม หน่วยงานวิจัย องค์กรสื่อ ผู้ผลิตสื่อ องค์กรภาคเอกชน และตัวแทนกลุ่มผู้ผลักดันนโยบายองค์กรกำกับดูแลต่างๆ ที่เขาเคยนัดมาระดมความคิดต่อสู้กับคอร์รัปชันกัน
          
ในช่วงหนึ่งของการสัมมนา ผู้ดำเนินรายการได้ใช้กรอบความคิดเรื่องการมองเห็นและความเป็นจริงของภูเขาน้ำแข็งกลางมหาสมุทรมาวิเคราะห์ปัญหา โดยเขาบอกว่าเวลาเราเห็นภูเขาน้ำแข็งนั้น เรามักเห็นว่ามันใหญ่มากและมีอยู่แค่นั้น แต่จริงๆ มันเป็นเพียงส่วนยอดภูเขาเท่านั้น ส่วนใหญ่จริงๆ มันจมอยู่ใต้น้ำ และที่สำคัญยิ่งลึกลงไป ส่วนของภูเขามันยิ่งใหญ่ขึ้น เหมือนกับที่เราเห็นปัญหาคอร์รัปชันตามคดีที่เกิดขึ้นเต็มไปหมด แต่มักไม่ได้มองลึกลงไปถึงรากฐานของคดีต่างๆ เหล่านั้น เมื่อเห็นเพียงผิวเผิน แล้วจู่โจมหาวิธีแก้ปัญหาเลย ปัญหาใหญ่กว่าที่จมอยู่ใต้น้ำ จึงค่อยๆ ลอยขึ้นมาเรื่อยๆ
          
จากกรอบความคิดดังกล่าว ผู้ร่วมสัมมนาจึงแบ่งยุคสมัยต่างๆ ที่จะศึกษาเป็น 5 ยุค ได้แก่ ยุคก่อน พ.ศ.2523 ยุค 2524-2533, ยุค 2534-2543, ยุค 2544-2553 และ ยุค 2554-ปัจจุบัน
          
เริ่มต้นที่ยุคแรกก่อนปี 2523 ให้ชื่อ ว่ายุคเผด็จการและประชาธิปไตยครึ่งใบ ช่วงนี้ มีข่าวทุจริตที่โด่งดังคือ กรณีทุ่งใหญ่นเรศวร ปี 2516 ที่นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาหลักจากนั้นก็มีโครงการเงินผันที่มีทั้งด้านดี และด้านเสีย ก่อนจะเข้าสู่ช่วงการบริหารประเทศ แบบ "คุณพ่อรู้ดี" ที่รัฐบาลรู้ไปเสียทุกเรื่อง จนไม่ปล่อยให้มีการวิจารณ์เรื่องการทุจริตของภาครัฐ รูปแบบที่เห็นได้เป็นการโกง งบประมาณแบบโบราณ คือ การสั่งอนุมัติงบประมาณไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว และการเข้าไปดำรงตำแหน่งที่สำคัญให้หน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ
          
จากรูปแบบปัญหาที่เกิดขึ้น นำไปสู่การ วิเคราะห์โครงสร้างได้ว่าคือการผูกขาดอำนาจและการรวมศูนย์อำนาจ นำไปสู่การถ่วงดุลที่ไม่สมดุล และเปิดโอกาสธุรกิจเข้ามาผูกพันกับการเมืองเพิ่มขึ้น ในช่วงนี้กรอบแนวคิดของประชาชนยังเกรงกลัวอำนาจรัฐอยู่มาก จึงไม่ค่อยกล้าพูดเรื่องการโกงและปล่อยให้ผู้มีอำนาจรัฐแสวงหาผลประโยชน์โดยง่าย
          
ในยุคที่สอง ระหว่าง พ.ศ.2524-2533 เรียกว่ายุครอยต่อประชาธิปไตย ช่วงต้นของยุคนี้ไม่ค่อยมีข่าวทุจริตฉาวมากเท่ายุคอื่นๆ เหตุผลน่าจะมาจากการที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดี ไม่ค่อยมีเงินอัดฉีดจากรัฐบาลมาลงทุนโครงการ ขนาดใหญ่มากเท่าไหร่ และมีการใช้กลุ่มคนที่มี การศึกษาสมัยใหม่หรือที่เรียกกันว่า "เทคโนเครต"มาบริหารประเทศแทนข้าราชการยุคเก่า นั่นเป็น การโอนอำนาจการตัดสินใจจากข้าราชการไปสู่รัฐมนตรีประจำกระทรวงมากขึ้น อย่างไรก็ตามก็ยังมีข่าวทุจริตให้เห็นอยู่บ้าง เช่น ทุจริตข้าว การให้สัมปทานป่าไม้ กรณีสัมปทานเหมืองแร่ สังกะสีดอยผาแดง และที่สำคัญคือ การ เริ่มซื้อเสียงด้วยเงินแทนการแจกจ่ายข้าวของที่ร้อยเอ็ด
          
อย่างไรก็ตามช่วงหลังที่เศรษฐกิจเริ่มขยายตัวและพรรคการเมืองมีบทบาทมากขึ้น เกิดการลงทุนโครงการรัฐขนาดใหญ่มากมาย มีการทุจริตครึกโครมจนรัฐบาลยุคนั้นได้รับขนานนามว่า "บุฟเฟ่คาบิเนท" โครงการต่างๆ เช่น การซื้อที่ดินก่อสร้างสนามบินหนองงูเห่า โครงการโฮปเวลล์ และโครงการสัมปทานโทรศัพท์สามล้านเลขหมาย ชื่อเสียงจากการทุจริตที่รุนแรงในโครงการเหล่านี้ นำไปสู่ข้ออ้างในการทำรัฐประหารในเวลาต่อมา
          
วิเคราะห์ปัญหาเชิงโครงสร้างในยุคนี้ คือความอ่อนแอของระบบรัฐบาลผสม ทำให้เกิดการต่อรองตำแหน่งการเมืองและราชการแลกกับผลประโยชน์ต่างๆ บวกกับความอ่อนแอ ของราชการ เป็นการเปิดโอกาสให้นักการเมืองกับนักธุรกิจเข้ามาเอาผลประโยชน์ได้โดยง่าย
          
ยุคที่สาม ระหว่าง พ.ศ.2534-2543 ยุคประชาธิปไตยอ่อนแอ เริ่มต้นยุคด้วยนายก รัฐมนตรีน้ำดี คือคุณอานันท์ ปันยารชุนผู้ริเริ่มใช้แนวทางความโปร่งใสมาใช้ในการบริหาร ประเทศในช่วงสั้นๆ ข่าวทุจริตจึงจางๆ ลงไปใน ช่วงแรก หลังจากช่วงนั้น คดีฉาวต่างๆ เริ่มกลับมา เช่น ส.ป.ก.4-01  ที่ทำให้ต้องยุบสภาฯ และโครงการทุจริตการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียคลองด่านอันอื้อฉาว ต่อจากนั้นประเทศไทยก็ผจญวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2540 เกิดกรณีล้มละลายของธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ พ้นวิกฤติไปเจอมีการทุจริตยาและเวชภัณฑ์โดยนายรักเกียรติ สุขธนะ รมว.สาธารณสุขในขณะนั้น กรณีทุจริตอื่นๆ ก็ยังโผล่ มาเรื่อยๆ เช่น โครงการผักสวนครัวรั้วกินได้ที่กระทรวงเกษตรฯซื้อเมล็ดผักแจกประชาชนแพงกว่าต้นทุนมาก
          
ในช่วงท้ายยุคนี้ประเทศไทยเราได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ.2540 ที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งพรรคการเมือง และมีการก่อตั้ง องค์กรอิสระขึ้นมาตรวจสอบการทำงานหน่วยงาน รัฐต่างๆ เช่น ป.ป.ช. สตง.และผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งผลจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กระทบส่งมาถึงช่วงต่อๆ ไปอย่างมาก
          
รูปแบบการทุจริตในช่วงนี้มากระจุกตัวอยู่ที่การจัดซื้อจัดจ้างมาก มีการใช้อำนาจโดยมิชอบของนักการเมือง ทำให้เปลี่ยนจาก
          
"การทุจริตรายโครงการ" เป็น "การทุจริต อย่างเป็นระบบ" รวมไปถึง "การทุจริตทาง การเมือง" อย่างรุนแรงด้วยปัญหาเชิงโครงสร้างยุคนี้คือ การร่วมมือ นักการเมืองและข้าราชการอย่างแน่นแฟ้นโดยมีนักธุรกิจอยู่เบื้องหลัง แม้จะมีบทบาทลดลงไปบ้างกว่าในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็พร้อมจะผงาดขึ้นในช่วงต่อไป เนื่องจากโครงสร้างทางการเมืองต้องพึ่งพิงการเงินอย่างมหาศาล ทำให้เกิดแนวคิดใหญ่ในสังคมว่าเงินซื้อ ได้ทุกอย่าง และเงินสามารถจัดการกับการปราบปรามของหน่วยงานต่อต้านทุจริต ทั้งหลายได้ด้วย
          
ต่อภัสสร์ : กำลังตื่นเต้นเลย แต่ถ้า คุยกันต่อในตอนนี้จะยาวเกินไปแล้ว คิดว่าจะขอให้พ่อช่วยเล่าต่อในตอนหน้านะครับ
          
ต่อตระกูล : ดีๆ อยากทิ้งท้ายตอนนี้ ไว้ว่า ที่ต้องคุยเรื่องวิวัฒนาการคอร์รัปชันเช่นนี้เป็นการเดินตามหลักในตำราพิชัยสงครามเลยว่า "รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง" ในอดีตที่ผ่านมาฝ่ายต่อต้านการโกง นอกจากจะไม่รู้เขาแล้ว ยังไม่ค่อยจะรู้เราเสีย ด้วยซ้ำ นโยบายต่างๆ มักออกมาซ้ำๆ กัน ทั้งๆ ที่ก็มีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า แก้ไขปัญหาไม่ได้ งานวิจัยต่างๆ ในปัจจุบันจึงมุ่งเน้น ให้ "รู้เรา" มากขึ้น โดยศึกษาผลกระทบของกฎหมายและมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันต่างๆ แต่ต่อไปเราจะต้อง "รู้เขา" ด้วยการศึกษาวัฒนาการแบบนี้ละครับ แล้วนี่รู้ก่อนด้วยซ้ำว่าคนโกงจะเดินต่อไปทางไหนเพื่อไปดักโจมตีได้ก่อนเลย แล้วพบกันในตอนต่อไปครับ

- - สำนักข่าว แนวหน้า วันที่ 26 เมษายน 2560 - -