ประเด็นร้อน

วิวัฒนาการคอร์รัปชันในไทย(2)

โดย ACT โพสเมื่อ May 03,2017

 รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค

          
ต่อภัสสร์ : ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว ที่ผมสงสัยว่าทำไมเรื่องคอร์รัปชันทุกวันนี้ เราได้ยินกันบ่อยจัง เลยถามพ่อว่าการคอร์รัปชันในประเทศไทยนี่มันมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือเปล่า ทั้งรูปแบบ โครงสร้าง และกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง
          
ผมจึงได้รับคำตอบว่า การคอร์รัปชันไม่ว่าในไทยหรือที่ไหนในโลก ล้วนมีการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวอยู่เสมอ เพราะวัฒนธรรม สังคม การเมืองแต่ละประเทศเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลานั้น มีส่วนในการหล่อหลอมลักษณะของการคอร์รัปชัน และคอร์รัปชันก็กลับมากระทบกับสังคมเช่นเดียวกัน
          
การเรียนรู้วิวัฒนาการของการคอร์รัปชันในประเทศไทยจะช่วยให้ได้เห็นว่า ปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลกระทบต่อลักษณะการคอร์รัปชันที่ผ่านมา ไม่ว่า จะเป็นโครงสร้างทางสังคม-การเมือง หรือทัศนคติของคนไทยแต่ละยุคสมัย เพื่อนำมาพิจารณาในการออกแบบแนวทางนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันที่มีประสิทธิผลต่อไป อย่างที่พ่อบอกว่า เป็นการคิดตามหลักในตำราพิชัยสงครามที่ว่า "รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง"
          
ในสัปดาห์ที่แล้ว อ้างอิงจากรายงานสรุปผลการจัดกระบวนการโครงการ "ร้อยพลังต่อต้านคอร์รัปชัน" เราแบ่งยุคสมัยประวัตศาสตร์สังคม-การเมืองไทยที่เชื่อมโยงกับการคอร์รัปชันเป็น 5 ยุค ได้แก่ ยุคก่อน พ.ศ.2523 ยุค 2524-2533, ยุค 2534-2543, ยุค 2544-2553 และยุค 2554-ปัจจุบัน และพ่ออธิบายไป 3 ยุคแล้ว ยังคงเหลือที่ต้องเล่าให้ผมฟังอีก 2 ยุค ซึ่งใกล้ตัวเรามากขึ้นมาเรื่อยๆ
          
ต่อตระกูล : อย่างนั้นเรามาต่อกันเลยดีกว่า ยุคที่สี่ คือช่วง 2544-2553  เราเรียกยุคนี้ได้ว่ายุคไทยรักไทยเลย เพราะเป็นช่วงที่ พรรคไทยรักไทยของนายทักษิณ ชินวัตรมีอำนาจทางการเมืองอย่างมาก และถึงแม้จะถูกรัฐประหารออกไป ก็ยังคงทิ้งร่องรอยอำนาจและอิทธิพลทางความคิดต่างๆ ไว้มากในสังคมการเมืองและหน่วยงานราชการไทย
          
ในช่วงแรกของยุครัฐบาลไทยรักไทยมีความเข้มแข็งทางการเมืองมากจนไปกัดกร่อนการทำงานของระบบราชการ เกิดรูปแบบการทุจริตที่ไม่ถูกเอาผิดทาง กฎหมายได้ ที่มักเรียกกันว่า "การทุจริตเชิงนโยบาย" เช่น บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น ซื้อหุ้น สถานีโทรทัศน์ ITV จากธนาคารไทยพาณิชย์ (2543) การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ กฟผ.โดยมีการ กล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์แก่เอกชน (2547) กรณีทุจริตกล้ายาง(2547-2549) ข่าวฉาว การก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิหลายกรณี ทั้งการสร้างอาคารผู้โดยสาร และจัดซื้อเครื่อง ตรวจจับระเบิด CTX 9000 (2548) การปล่อยกู้ ให้รัฐบาลเมียนมา 4.5 พันล้านบาท ผ่าน EXIM Bank เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์โทรคมนาคมจากบริษัทเครือชินคอร์ป (2549) โครงการ จัดซื้อรถเมล์ NGV 4,000 คัน (2549) คดีภาษี สรรพสามิตโทรคมนาคม (2549) การเอื้อประโยชน์ แก่ผู้รับเหมาในโครงการบ้านเอื้ออาทร (2549) นอกจากนี้ยังมีการแทรกแซงองค์กรกำกับดูแล และองค์กรตรวจสอบและยังมีข่าวการทุจริตในองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นอีกหลายกรณี
          
จะเห็นได้ว่า มีคดีและข่าวเกี่ยวกับการ ทุจริตโครงการใหญ่ๆ เกิดขึ้นมากในช่วงนี้ นั่นจึง เป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การประท้วงของกลุ่มพันธมิตร และเป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารในเวลาต่อมา แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นที่สิ้นสุดของคดีและข่าวฉาวเรื่องการทุจริตแต่อย่างใด
          
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนในช่วงนี้คือ การขยายขนาดของรัฐบาล ทั้งด้านงบประมาณการลงทุน และการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แทนที่จะปล่อยให้ตลาดทำงานอย่างเต็มที่ เป็นการสร้างการผูกขาดทั้งทาง การเมืองและทางการตลาด เพิ่มอำนาจการ ใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมือง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่เปิดโอกาสให้การคอร์รัปชัน เกิดขึ้นง่ายทั้งสิ้น นอกจากนี้การที่รัฐบาลเข้ามามีอำนาจเข้มแข็งมากทำให้สามารถหาผลประโยชน์จากการออกนโยบายได้อย่างเป็นระบบด้วย
          
ในด้านกรอบแนวคิดของประชาชน เมื่อคนไทยเห็นว่าคอร์รัปชันมีอยู่อย่างเปิดเผย และกว้างขวางขึ้นในยุคนี้ ทำให้เกิดแนวความคิด ที่เอื้อต่อการทุจริตขึ้นหลายแนวคิด เช่น "ตนเองจะอยู่ไม่ได้ หากไม่ร่วมมือทุจริตด้วย" หรือ "รัฐบาลโกงได้ ถ้าตนเองได้ประโยชน์ด้วย"
          
และในยุคสุดท้ายคือระหว่างปี 2554-ปัจจุบัน เราเรียกว่ายุควิกฤติการเมืองและรัฐประหาร เราเริ่มต้นยุคกันด้วยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และต่อด้วยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยในช่วงงรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้น มีการออกนโยบายสำคัญที่ถูกต่อต้านอย่างมาก คือ โครงการรับจำนำข้าว โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการบริหารจัดการน้ำ และโครงการลดภาษีรถคันแรก ซึ่งสาเหตุหลักหนึ่งในการแสดงความไม่เห็นด้วยนี้คือโอกาสในการทุจริตที่กว้างมากในแต่ละโครงการ
          
สาเหตุนี้จึงนำไปสู่เหตุการณ์ลักษณะคล้ายกับในยุคที่ผ่านมา คือการใช้เรื่องการทุจริตที่รุนแรงและกว้างขวางและการออกนโยบายที่ไม่เหมาะสมเป็นข้ออ้างหลักในการชุมนุมประท้วง และนำไปสู่การทำรัฐประหารโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
          
อย่างไรก็ตาม หลังรัฐประหารแล้ว การทุจริตก็ไม่ได้สิ้นสุดลง เนื่องจากระบบอุปถัมป์ ยังฝังรากลึกอยู่ในระบบสังคม-การเมือง และรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างนี้ อย่างมีประสิทธิผล ทำให้มีข่าวทุจริตกัน อยู่อย่างกว้างขวาง ทั้งที่เกี่ยวกับรัฐบาลและ ไม่เกี่ยวข้อง เช่น กรณีการสร้างอุทยานราชภักดิ์ (2558) และกรณีที่ทุจริตมาก่อนแต่พึ่งมา ถูกเปิดโปงในยุคปัจจุบันเช่นกรณีคดีของ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ยักยอกเงินค่าโฆษณาเกินเวลา (2559)
          
กรณีเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า การทุจริตในยุคนี้เริ่มมีการกระจายตัวออกอย่างกว้างขวาง "ทุกภาคส่วน" ไม่ใช่แค่เพียงรัฐ แต่เป็นภาคเอกชนด้วยโดยในช่วงรัฐบาล ยิ่งลักษณ์จะเป็นเรื่องการทุจริตเชิงนโยบาย ธุรกิจการเมือง เป็นส่วนมาก แต่ยุครัฐบาลประยุทธ์ มักจะเป็นเรื่องการใช้อำนาจผูกขาด แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ
          
ปัญหาโครงสร้างที่เห็นชัดเจนคือ ด้านเสีย ของระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคม- การเมืองไทย จนเรียกว่ากลายเป็นวัฒนธรรม ไปแล้วก็ได้ กลุ่มธุรกิจต่างๆ มีความใกล้ชิดผู้มีอำนาจตัดสินใจทางการเมืองมาก จนอาจทำให้การตัดสินใจนั้นๆ ไปเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนบางราย

กรอบความคิดของประชาชน มีการพัฒนาดีขึ้นในเรื่องทัศนคติต่อการ "โกง" หรือการ "ทุจริต คอร์รัปชัน" ว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี ส่งผลกระทบร้ายต่อสังคมและตนเอง อย่างไรก็ตาม ก็ยังติดกับความคิดที่ว่าการแก้ไข ปัญหาคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แม้วิพากษ์วิจารณ์กันหลากหลายและรุนแรง ในช่องทางสื่อสารใหม่ๆ เช่น โซเชียลเนตเวิร์ก แต่ยังไม่ค่อยมีการลงมือตรวจสอบเองอย่างจริงจัง และเนื่องจากการทุจริตมีการพัฒนาไปสู่การคอร์รัปชันเชิงนโยบายที่ซับซ้อนมากขึ้นกว่าการจ่ายสินบนแต่อย่างเดิม ทำให้ประชาชนมีความสับสนว่า อย่างไรจึงเป็นการโกง อย่างไรไม่เป็นการโกง
          
ต่อภัสสร์ : วิวัฒนาการของคอร์รัปชัน ในประเทศไทยน่าสนใจมาก และซับซ้อนมาก เมื่อเราพอจะรู้แบบนี้แล้ว จะสามารถไป ตั้งป้อมดักเพื่อป้องกันการทุจริตในอนาคตได้อย่างไรบ้างครับ
          
ต่อตระกูล : อย่างที่เราเห็นว่าสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตในยุคไหนๆ ก็มักจะ เป็นเรื่องที่มีการปิดบังข้อมูลสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปมิได้รับรู้ ดังนั้นในยุค ต่อไปที่เรามีเครื่องมือที่ทันสมัยต่างๆ มากขึ้น ประชาชนสามารถติดต่อสื่อสาร กันได้รวดเร็วผ่านทั้งภาพและเสียงด้วยโทรศัพท์มือถือที่อยู่ในมือประชาชนหลายสิบล้านเครื่อง เราต้องนำเทคโนโลยี เหล่านี้มาสร้างความสว่างโปร่งใสให้สังคมไทย เปิดเผยข้อมูลให้มากและกว้างที่สุด เพื่อข้าราชการ ประชาชน พ่อค้านักธุรกิจทั่วไปจะได้ช่วยกันติดตาม ดูแลเงินของแผ่นดินให้ถูกใช้เป็นประโยชน์ ต่อประเทศชาติและส่วนรวมมากที่สุด

- - สำนักข่าว แนวหน้า วันที่ 3 พฤษภาคม 2560 - -