ประเด็นร้อน

ติดดาบสตง.ไล่บี้ประชานิยม

โดย ACT โพสเมื่อ May 11,2017

 "มีชัย" ดันติดดาบสตง. ผนึก "กกต.-ป.ป.ช." ตรวจสอบประชานิยม-ใช้จ่ายงบประมาณที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ก่อนชง "รัฐสภา-ครม." ยับยั้ง

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวตอนหนึ่งว่า ถ้าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไม่เข้มงวดเงินหลวง เงินแผ่นดินก็จะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด ไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน กรณีการใช้เงินโดยไม่สุจริตก็ต้องไปว่ากัน แต่กรณีใช้โดยสุจริตแล้วเกิดผิดพลาด จะวางกติกาให้ต้องทำอย่างไร ไม่ให้ต้องรับผิดชอบภายหลัง ตรงนี้ทางกรธ.กำลังคิดหาวิธีกันอยู่ เพื่อไม่ให้คนเหล่านี้ได้รับความผิดหรือผลกระทบที่ไม่เหมาะสม ขณะเดียวกัน กรธ.ยังคิดว่า จะทำกฎหมายออกมาในลักษณะใดที่ให้การตรวจสอบงบประมานของภาครัฐ ไม่ซ้ำซ้อนหน้าที่ของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพราะจะเป็นอันตรายกับระบบราชการได้ในอนาคต

เบื้องต้นจะให้สตง.มีหน้าที่ในการตรวจสอบงบประมาณภาครัฐว่ามีความถูกต้องหรือไม่ เพื่อให้ ป.ป.ช.ยึดรายงานจาก สตง.เป็นหลักเพื่อดำเนินการสอบสวนเชิงลึกต่อ และต้องมีการประสานงานทางข้อมูลต่างๆ ร่วมกันระหว่าง สตง.และ ป.ป.ช.

ส่วนการตรวจสอบการใช้งบประมาณของสตง.คือ กรมบัญชีกลาง แต่มักเป็นการตรวจสอบเบื้องต้นแบบผ่านๆ ไม่เห็นมีการทักท้วงอะไร กรธ.จึงมองว่า ถ้าให้กรมบัญชีกลางทำหน้าที่บนพื้นฐานที่ สตง.เคยทำจะเหมาะสมหรือไม่ เพื่อให้เกิดเป็นมาตรฐานในการตรวจสอบและใช้ระบบแบบเดียวกัน และเมื่อไหร่ที่ สตง.พบการใช้จ่ายเงินของรัฐไม่ถูกต้องตามวินัยการเงินการคลัง ก็สามารถประชุมร่วมกับองค์กรอิสระอื่น เพื่อท้วงติงรัฐบาลได้

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง. กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด เพิ่มบทบาทหน้าที่สตง.นอกเหนือจากตรวจสอบทางกฎหมาย แต่ยังเพิ่มเติมสาระสำคัญจากเดิม เช่น ให้สตง. เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ที่อาจพบว่าจะใช้จ่ายเงินที่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือประชานิยม ลดแลกแจกแถม

หากเห็นว่าการใช้เงินนั้นมีลักษณะหาเสียง ก็ไม่ใช่เพียงแค่ส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช. แต่ยังต้องส่งไปยัง กกต.ด้วย เพื่อวินิจฉัยตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เมื่อคตง.เห็นว่าเข้าข่ายก็จะไปหารือร่วมกับป.ป.ช. และกกต. หากเห็นพ้องกันว่าการใช้จ่ายเงินเหล่านั้นจะก่อให้เกิดความเสียหาย ก็ต้องแจ้งไปยัง รัฐสภา และครม. โดยไม่ชักช้า แต่ควรมีมาตรการกำหนดให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง

- - สำนักข่าว ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 11 พฤษภาคม 2560 - -
อ่านเพิ่มเติมที่ : http://www.thansettakij.com/content/148103