ประเด็นร้อน

เมื่อความเป็นผู้นำของประธานาธิบดีถูกตั้งคำถาม

โดย ACT โพสเมื่อ May 29,2017

 คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต: เมื่อความเป็นผู้นำของประธานาธิบดีถูกตั้งคำถาม


- - สำนักข่าว กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 29 พฤษภาคม 2560 - -
          
ดร.บัณฑิต นิจถาวร

หลังพ้นร้อยวันการรับตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อ วันที่ 29 เม.ย. ข่าวและความเห็นต่างๆ ก็เริ่มรุมกระหน่ำวิจารณ์การทำงานของนายโดนัลด์ ทรัมป์ในฐานะประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และประเด็นธรรมาภิบาลส่วนตัว ซึ่งทั้งหมดมาจากสไตล์การทำงานและพื้นเพความเป็นนักธุรกิจของเขาที่ยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับ คนอเมริกันได้ โดยเฉพาะประเด็นผลประโยชน์ ขัดแย้งระหว่างประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ กับประโยชน์ส่วนตนในฐานะเจ้าของธุรกิจ ล่าสุด ผลสำรวจการยอมรับประธานาธิบดีทรัมป์ (Approval Rating) ได้ลดลงต่ำกว่า 40% ซึ่งก็ถือว่าต่ำ
          
ประเด็นแรก เรื่องการเมือง ประเด็นที่เป็นที่สงสัย และท้าทายความเป็นผู้นำของประธานาธิบดีทรัมป์ก็คือ ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างทีมงานของเขากับรัฐบาลรัสเซีย ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง ซึ่งมี 2 เรื่อง 
          1. รัสเซียมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรหรือไม่กับการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะท่วมท้น
          2. ความเกี่ยวข้องระหว่างบุคคลที่ประธานาธิบดีทรัมป์แต่งตั้งเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลรัสเซีย เช่น กรณีนายไมเคิล ฟลินน์ 
(Michael Flynn) อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีทรัมป์ (US National Security Advisor) ที่เพิ่งลาออกหลังรับตำแหน่งเพียง 28 วัน จากข้อสงสัยเกี่ยวกับความใกล้ชิดระหว่างเขากับเจ้าหน้าที่รัสเซียทั้งในช่วงก่อนนายโดนัลด์ ทรัมป์จะชนะการเลือกตั้ง ซึ่งนายฟลินน์เป็นทีมงานของนายทรัมป์ช่วงหาเสียง และหลังจากนายฟลินน์เข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคงที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับสิ่งที่เข้าอาจได้พูดกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลรัสเซียช่วงอยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษาทำให้ได้ตัดสินใจลาออก
          
ทั้งสองประเด็นได้นำไปสู่การสอบสวนโดยสำนักงานสืบสวนกลางแห่งชาติ (FBI) แต่ต้นเดือนนี้นายเจมส์ โคมีย์ (James Comey) ผู้อำนวยการสำนักงานสืบสวนกลาง แห่งชาติซึ่งเป็นผู้ดูแลสูงสุดของหน่วยงานที่กำลังทำการสอบสวนก็ถูกประธานาธิบดีสหรัฐปลดออกจากตำแหน่ง ทำให้การสอบสวน ต้องหยุดลงโดยปริยาย การปลดนายโคมีย์ทำให้ ประธานาธิบดีทรัมป์ถูกโจมตีว่าใช้อำนาจทางการเมืองแทรงแซงการทำหน้าที่ของหน่วยงาน ด้านความยุติธรรมของประเทศ ล่าสุดแม้จะมีการตั้งคณะที่ปรึกษาพิเศษเพื่อสอบสวนเรื่องนี้ โดยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ แต่ความเป็นอิสระของที่ปรึกษาชุดใหม่ก็ยังเป็นประเด็น
          
สอง เรื่องเศรษฐกิจ นโยบายเศรษฐกิจ ของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ แม้ได้รับการตอบรับดีในช่วงแรกจากตลาดการเงิน แต่ มาตรการเศรษฐกิจต่างๆที่ออกมาช่วง 100 วันแรก ก็ชี้ว่านโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์มีความขัดแย้งในตัวมาก และอาจเป็นเพียงนโยบายที่สะท้อนวิธีคิดแบบนักธุรกิจ โดยนักธุรกิจ เพื่อหาประโยชน์ให้กับ ภาคธุรกิจ มากกว่าจะสร้างประโยชน์หรือแก้ไขปัญหาของประเทศที่คนจำนวนมากจะได้ประโยชน์ โดยตัวนโยบายถูกมองจากนักเศรษฐศาสตร์ว่าไม่มีหลัก หรือกรอบแนวคิดที่ชัดเจน เป็นเพียงความคิดแบบนักธุรกิจเพื่อประโยชน์ของธุรกิจ กล่าวคือ
          
เป้าหมายของรัฐบาลทรัมป์ ต้องการสร้าง การเติบโตให้กับเศรษฐกิจสหรัฐ เพื่อให้เกิด การจ้างงานให้คนอเมริกันมีงานทำ โดยตาม นโยบายของทรัมป์การเติบโตจะมาจาก
          1.การลดภาษี เพื่อให้ภาคธุรกิจมีรายได้ หลังเสียภาษีมากขึ้นและนำไปสู่การลงทุน ซึ่งผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการลดภาษีก็คือ นิติบุคคลหรือบริษัทธุรกิจ กับผู้มีรายได้สูงที่จะเสียภาษีน้อยลง
          2.การเติบโตจะมาจากการลดกฎระเบียบ และข้อบังคับต่างๆ ของภาคทางการ (Deregulation) ให้ภาคธุรกิจมีข้อจำกัด น้อยลงในการทำธุรกิจ โดยมองว่า กฎระเบียบ ที่มีอยู่ (มาก) เป็นต้นทุน และสร้างข้อจำกัดให้กับการเติบโตของธุรกิจ ถ้ากฎระเบียบลดลง ก็จะดีต่อธุรกิจ ทำให้ภาคธุรกิจสามารถใช้ทรัพยากรการเงินที่มีอยู่ ทำอะไรได้มากขึ้น เพราะการควบคุมมีน้อยลง อันนี้คือการให้ประโยชน์เต็มๆ กับภาคธุรกิจที่การกำกับดูแล จากภาคทางการจะน้อยลงกว่าเดิม
          3.การเติบโตจะมาจากนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่มุ่งรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐ เป็นนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยม ที่จะ กีดกันการค้า การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ลดการลงทุนของบริษัทสหรัฐในต่างประเทศ ให้บริษัทสหรัฐมาลงทุนในประเทศสหรัฐแทน เพื่อสร้างงานให้คนอเมริกัน มองว่าการค้า ระหว่างประเทศที่เสรี เป็นสาเหตุทำให้เศรษฐกิจสหรัฐขาดดุลการค้ามาก สินค้าสหรัฐ ขายไม่ออก เพราะการเข้าครองตลาดของสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศ ทำให้คนสหรัฐ ตกงานและประเทศขาดดุลการค้า ดังนั้น การเข้าไปกีดกันหรือแทรงแซง เพื่อให้การแข่งขัน ทางการค้ามีความเป็นเสรีน้อยลง จะช่วยลดการ ขาดดุลการค้าและสร้างงานให้คนอเมริกันทำ
          
แนวคิดแบบนี้เป็นสิ่งที่นักธุรกิจชอบ เพราะนักธุรกิจไม่ชอบเสียภาษี ไม่ชอบกฎเกณฑ์ หรือกฎระเบียบของทางการ และไม่ชอบการ แข่งขัน ดังนั้นสิ่งที่ประธานาธิบดีสหรัฐกำลังทำอยู่ในแง่นโยบายเศรษฐกิจต้องถือว่าถูกใจนักธุรกิจเป็นที่สุด แต่นโยบายดังกล่าวจะไม่ดี กับเศรษฐกิจสหรัฐอย่างแน่นอน เพราะจะทำให้ ฐานะการคลังของประเทศแย่ลงจากรายได้ภาษีที่ลดลง เกิดความไม่เป็นธรรม เกิดการ เอารัดเอาเปรียบ และสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศจากที่การ ทำธุรกิจจากนี้ไปจะมีการควบคุมดูแลโดยภาคทางการน้อยลง นอกจากนี้นโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมก็จะลดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพราะสินค้าที่ผลิตในสหรัฐ จะมีต้นทุนสูง แข่งขันกับสินค้าจากต่างประเทศ ไม่ได้ ผู้บริโภคสหรัฐจะต้องซื้อสินค้าในราคา ที่แพงขึ้น กระทบความเป็นอยู่ในที่สุด
          
สาม เรื่องธรรมาภิบาลจากการทำหน้าที่ประธานาธิบดีในฐานะบุคคลสาธารณะ จุดอ่อนของนักธุรกิจที่เข้ามาเล่นการเมืองที่พบบ่อย ก็คือ ยังเป็นนักธุรกิจอยู่แม้จะมี ตำแหน่งการเมือง ทำให้ในที่สุดมักเกิดปัญหา ผลประโยชน์ขัดแย้ง เพราะไม่สามารถแยกแยะ ได้ระหว่างประโยชน์ของประเทศ และประโยชน์ ของตนเองในฐานะเจ้าของกิจการ ซึ่งในกรณีของทรัมป์ อาณาจักรธุรกิจของเขาใหญ่มากมีเครือข่ายธุรกิจมากถึง 140 บริษัท ลงทุนใน 25 ประเทศทั่วโลก
          
ในเรื่องนี้ประธานาธิบดีสหรัฐเคยให้ความเห็นว่า จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจของเขาอีกต่อไป เมื่อเป็นประธานาธิบดี จะมอบการ บริหารธุรกิจทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบ ของลูกชาย โดยตัวเขาจะไม่ไปยุ่งเกี่ยวหรือ ให้คำปรึกษาใดๆ ในประเด็นนี้สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญ ด้านธรรมาภิบาลต้องการเห็นก็คือนายทรัมป์ แยกตัวออกจากธุรกิจของเขาอย่างชัดเจน เช่น ขาย หรือมอบให้ผู้จัดการอิสระ (Trust) เป็นผู้ดูแลหรือบริหารธุรกิจของเขาแทน ไม่ใช่บุคคลในครอบครัว นอกจากนี้ประธานาธิบดีทรัมป์เองก็ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลการเสียภาษีของตนเอง ขณะที่ลูกชายที่บริหารธุรกิจก็ได้รับการต้อนรับจากรัฐบาลต่างประเทศและบริษัทต่างๆ ในฐานะลูกชายประธานาธิบดีสหรัฐ ยังมีการออกโครงการลงทุนใหม่ๆ ในต่างประเทศทำให้หมิ่นเหม่ในเรื่อง ผลประโยชน์ขัดแย้งและธรรมาภิบาล
          
นี่คือข้อสังเกตและคำวิจารณ์ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องก้าวข้ามให้ได้ในฐานะ ผู้นำประเทศ เพื่อสร้างความไว้วางใจ หรือ Trust ให้เกิดขึ้นระหว่างตัวเขากับประชาชนสหรัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้นำประเทศ เพราะถ้า Trust ไม่มี การอยู่ต่อของ เขาในฐานะนักการเมืองก็จะยาก เรื่องนี้จึงสำคัญ ต่อเศรษฐกิจโลกและเป็นเรื่องที่นักลงทุนให้ความสนใจและติดตาม