ประเด็นร้อน

เครือข่ายทุจริตพูดง่ายปราบยาก

โดย ACT โพสเมื่อ May 31,2017

 บทบรรณาธิการ : เครือข่ายทุจริตพูดง่ายปราบยาก 


- - สำนักข่าว กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 31 พฤษภาคม 2560 - -

กรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กวาดล้างการนำเข้าและ โจรกรรมรถหรูจากต่างประเทศ เพื่อมาจำหน่ายในประเทศไทย รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งขณะนี้กำลังขยายผลไปเรื่อยๆ ถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง และยิ่งมีการเปิดเผยมากเท่าไร ก็ยิ่งเห็นกระบวนการและความซับซ้อนของ ธุรกิจรถหรูในประเทศไทยมากขึ้นเท่านั้น  โดยชี้ให้เห็นว่าธุรกิจดังกล่าวมีความซับซ้อนอย่างมากตั้งแต่ต้นทางจนถึงกระบวนการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างคนในวงการ และหากคิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจนับว่ามีมูลค่ามหาศาล
          
หลังจากมีการเปิดเผยมากขึ้นถึงบุคคลและขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง จากดีเอสไอ แม้ว่าไม่ได้เป็นความจริงทั้งหมดที่ต้องการเปิดเผย แต่ก็ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาสำคัญของสังคมไทย  ซึ่งไม่ว่าจะมีการปฏิรูปหน่วยงาน ออกกฎหมายใหม่ หรือการแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อป้องกันการทุจริต นั่นคือ การทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยเป็นกระบวนการที่ใหญ่โตมาก และสามารถอาศัยช่องว่างได้ทุกช่องทางเพื่อหลีกเลี่ยงกฏหมาย และ การตรวจสอบของหน่วยงานรัฐ  และหากไม่เป็นคดีโด่งดังก็เป็นเรื่องยากมากจะดำเนินการเอาผิดได้
          
หากย้อนกลับไปพิจารณาจากหลักฐานและการตรวจสอบต่างๆ ของดีเอสไอ จะเห็นได้ว่า ทุกขั้นตอนมีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องทั้งสิ้น ตั้งแต่ขั้นตอนการนำเข้าไปจนถึงการจดทะเบียนและการซื้อขาย เพราะหาก ไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเองเข้าไปเกี่ยวข้องแล้ว ขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้เป็นไปค่อนข้างยาก แต่หากย้อนกลับไปดูการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ที่มีคนของตัวเองไปเกี่ยวข้องก็จะเห็นได้ว่ามักจะระบุว่า มีการแก้ปัญหาการทุจริตได้ทั้งสิ้น แต่คดีนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่สามารถแก้ได้
          
จากกรณีนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการปฏิรูปของรัฐบาลที่กำลัง ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องการทุจริตในแวดวง เจ้าหน้าที่รัฐและผู้มีอิทธิที่ทำมาหากินกับการใช้อำนาจรัฐ ว่าการแก้ปัญหาไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะปัญหาเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ตรงที่ไม่มีข้อกฎหมาย หรือกฎระเบียบมาดูแล หรือไม่มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบ แต่ปัญหามาจาก เจ้าหน้าที่ของรัฐเอง รวมทั้งปัญหาการใช้อิทธิพลของคนภายนอกที่เข้าไป อาศัยอำนาจรัฐ กล่าวคือกระบวนการทุจริตถือเป็นเครือข่ายที่แก้ไขได้ค่อนข้างยากมาก
          
ดังนั้นความท้าทายสำหรับการปฏิรูปสังคมไทย ซึ่งรัฐบาลทุกรัฐบาล ประกาศในเรื่องของการปราบปรามการทุจริตกันทั้งสิ้น แต่ก็ปรากฏว่าปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นระยะ ซึ่งบางกรณีสร้างความเสียหายค่อนข้างมาก ในขณะที่บางกรณีเป็นเรื่องเล็กน้อย ส่งผลกระทบในวงจำกัด ชี้ให้เห็นถึง ความยากลำบากในการแก้ปัญหา เพราะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ และหากพิจารณาในแต่ละกรณี การทุจริตที่เกิดขึ้นนั้น ทุกคนพร้อมที่จะเข้าไปอยู่ในเครือข่ายเหล่านี้ เนื่องจากผลตอบแทน ทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูงหากเปรียบเทียบกับการดำเนินธุรกิจปกติ
          
คำถามสำคัญของการปราบปรามการทุจริตคือเราจะเริ่มกัน ตรงไหนในการปราบปราม  ซึ่งที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานเข้าไปแก้ปัญหา เริ่มตั้งแต่การรณรงค์ไปจนถึงการปราบปรามอย่างจริงจังและเด็ดขาด แต่ในที่สุดแล้วก็เกิดกระบวนการทุจริตใหม่ๆ ขึ้นมาอีก ไม่ว่าเราจะมี มาตรการป้องกันดีเพียงไร ดังที่กรรมการสำนักงานคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ท่านหนึ่งเคยกล่าว อย่างเหน็ดเหนื่อยว่า การแก้ปัญหายากมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำกันตลอดเวลาและอย่าหวังว่าจะแก้ไขได้โดยเร็ว
          
หากพิจารณาจากคดีรถหรู ก็จะพบคำตอบว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะกระบวนการทุจริต ยิ่งมีขนาดใหญ่เพียงไร ก็ยิ่งมีความซับซ้อนและมีผู้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายมากเท่านั้น ซึ่งสิ่งนี้เองทำให้คนเหล่านี้ มักรอดพ้นอยู่ได้ ดังนั้นหากรัฐบาลใดต้องการจะปราบปรามการทุจริต หรือปฏิรูปในเรื่องนี้ก็ต้องเจอกับงานใหญ่มากกว่าที่คิด เพราะกำลังเผชิญ กับเครือข่ายขนาดมหึมาในสังคมไทย และเป็นเครือข่ายที่พร้อมจะเกิดขึ้น เมื่อมีผลประโยชน์ล่อใจ