ประเด็นร้อน

การแต่งตั้งตำรวจไม่ควรทำตามอำเภอใจ

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 02,2017

 คอลัมน์ ช่วยกันคิดเพื่อบ้านเมือง: การแต่งตั้งตำรวจ ไม่ควรทำตามอำเภอใจ


- - สำนักข่าว แนวหน้า วันที่ 2 มิถุนายน 2560 - -

พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ
          
๓ ปีที่ไม่มีแม้แต่แผนงานปฏิรูปตำรวจที่สะเด็ดน้ำ แล้วเมื่อวานนายกรัฐมนตรียังให้สัมภาษณ์ความเห็นส่วนตัวว่า ควรจะใช้ระบบตำรวจท้องถิ่นและตำรวจส่วนกลาง ข้าพเจ้าเห็นด้วย แต่การแต่งตั้งโยกย้าย ตำแหน่งระดับรองผู้บังคับการลงมาจนถึงตำแหน่งสารวัตร ทำไมไม่แต่งตั้งให้เสร็จสิ้นเสียในเดือนตุลาคมหรืออย่างช้าภายในเดือนพฤศจิกายน๒๕๕๙ เพราะมีตำแหน่งว่างอยู่แล้ว
          
จนถึงเวลานี้เป็นเวลา ๘ เดือนแล้ว ยังไม่เสร็จสิ้น ดูแค่ว่าเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐ เพิ่งจะมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการมาพิจารณา และแทนที่จะเร่งประชุม กลับนัดประชุมวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๐ อยากถามถึง พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่า เป็นเพราะเหตุใด
          
มันเป็นความล่าช้าที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่รอคอย แม้จะให้คำสั่งมีผลย้อนหลังไปถึงเดือนตุลาคม ๒๕๕๙ หากเกิดผิดพลาดเกี่ยวกับตำแหน่งหรือการสั่งคดี เหมือนคราวที่แล้ว ที่ตำแหน่งเดียวตั้งหลายคนซ้อนกันหรือแต่งตั้งคนตาย เป็นต้น มันเป็นความบกพร่องและอ่อนการบริหารจัดการ ท่านต้องบริหารราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย หากยังเป็นอยู่อย่างนี้ประชาชนก็อาจตำหนิรัฐบาลซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งท่าน
          
การแต่งตั้งตำรวจ ไม่ควรทำตามอำเภอใจ ความล่าช้านี้ ต้องมีเหตุผลสนับสนุน และหาคำตอบให้ได้ เพราะมันอาจเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันส่อไปในทางทุจริตและประพฤติมิชอบ ตำรวจที่เสียหายอาจร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดี ในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ อย่างนี้เสียงครหานินทาไปทั่วว่า กินกันทุกเม็ด ทุกตำแหน่งจนไม่เหลือความยุติธรรมไว้สักนิด สร้างระบบโควตาในตำแหน่งต่างๆ ที่มี โดยบอกว่า พิจารณาจากเกณฑ์อาวุโส ในร้อยตำแหน่งเลื่อนตำแหน่งได้ ๓๓ คน และพิจารณาจากเกณฑ์ความเหมาะสม ในร้อยตำแหน่งเลื่อนตำแหน่งได้ ๖๗ คน
          
นี่เป็นหลักฐานการเปิดช่องทางวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งกัน อย่างสะดวกสบาย อย่างหน้าด้านๆ
อย่าลืมว่า ความไม่เป็นธรรมต่างๆ ในการแต่งตั้งทุกตำแหน่ง ไม่สามารถนำมาฟ้องร้องดำเนินคดีได้เพราะเป็นการแต่งตั้งโยกย้ายด้วย มาตรา ๔๔ อันนี้ยิ่งเป็นการขีดเส้นทำลายหลักประกันความเป็นธรรมที่โหดร้ายกับตำรวจเกินกว่ายุคสมัยใดก่อนใช้มาตรา ๔๔ ยังพึ่งพาศาลปกครองได้ กรรมกรลูกจ้างแรงงานเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมยังสามารถฟ้องร้องต่อศาลแรงงานได้ แต่นี่ไม่สามารถไปฟ้องร้องดำเนินคดีที่ไหนได้
          
แต่ในความเห็นของข้าพเจ้า มาตรา ๔๔ ไม่ได้ครอบคลุมหรือห้ามฟ้องร้อง ถึงการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และถ้าข้าพเจ้ายังรับราชการเป็นตำรวจอยู่ การแต่งตั้งล่าช้า อย่างนี้ ข้าพเจ้าจะฟ้องคดี ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเอง เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป