ประเด็นร้อน

รายงานสาธารณะสถาบันไอโอดี

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 05,2017

 คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต: รายงานสาธารณะสถาบันไอโอดี 


- -สำนักข่าว กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 5 มิถุนายน 2560 - -
          
ดร.บัณฑิต นิจถาวร 
          
พันธกิจหลัก ของสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือไอโอดีคือ การพัฒนาและ ให้การสนับสนุนกรรมการบริษัทเพื่อการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ ซึ่งสถาบันทำหน้าที่นี้ผ่านงานของสถาบัน ใน 4 ด้าน คือ การพัฒนาและให้ความรู้กรรมการบริษัท การวิจัยประเมินผลและแสดงความเห็นด้านนโยบาย การจัดสัมมนาเผยแพร่ความรู้ด้านกำกับดูแลกิจการให้กับสมาชิก และขับเคลื่อนโครงการแนวร่วม ปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต ซึ่งในปีที่ผ่านมางานของสถาบัน มีความก้าวหน้าด้วยดี โดยเมื่อวันจันทร์ที่แล้วมีการประชุมสมาชิกประจำปีของสถาบัน เพื่อ รับทราบผลการดำเนินงานและเลือกกรรมการใหม่แทนกรรมการที่หมดวาระ วันนี้เลยจะนำรายงานของกรรมการผู้อำนวยการสถาบันไอโอดีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาสรุปให้ทราบในคอลัมน์ "เศรษฐศาสตร์บัณฑิต" นี้ การดำเนินงานของสถาบันกรรมการบริษัทไทยในปี 2559 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนงาน 3 ปีของสถาบันได้ผลอย่างน่าพอใจ สถาบันสามารถบรรลุเป้าหมายของแผนงานทั้ง 7 ด้านที่เป็นทิศทางหลักของกลยุทธ์สถาบันช่วงปี 2557 - 2559 ได้ครบถ้วน ทั้งด้านคุณภาพการฝึกอบรมกรรมการ การวิจัยศึกษาประเด็นนโยบายที่กระทบการทำงานของกรรมการและแนวปฏิบัติที่ดี การแสดงความคิดเห็นด้านนโยบาย (Advocacy) การสร้างเครือข่ายสมาชิกขับเคลื่อนงานของสถาบัน การสร้างกรรมการอาชีพ การขับเคลื่อนแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริต และ การขยาย ชื่อเสียงของสถาบันในระดับสากล ซึ่งทั้งหมดได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสถาบันในหลายด้าน โดยเฉพาะ
          
1.ความเป็นสถาบันของไอโอดีในฐานะสถาบันกรรมการบริษัทของประเทศได้เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ไอโอดีเป็นที่รู้จักของภาคธุรกิจ ไม่ใช่ในฐานะโรงเรียนฝึกอบรมหลักสูตรกรรมการ แต่ในฐานะสถาบันกรรมการที่มีพันธกิจครบถ้วนในการส่งเสริม การกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เกิดขึ้นในภาคธุรกิจของไทย ผ่านการพัฒนากรรมการ การออกแนวปฏิบัติที่ดี การประเมินคุณภาพการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท จดทะเบียน การเป็นเสียงให้กับกรรมการในประเด็นนโยบายที่กระทบการทำหน้าที่ของกรรมการ การเป็นแหล่งข้อมูลความรู้สนับสนุนการทำหน้าที่กรรมการ และการผลักดันการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของภาคเอกชน สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้สถาบันไอโอดีเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับว่า เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของภาคธุรกิจไทยในการขับเคลื่อนการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรม
          
2.บทบาทของสถาบันในฐานะสถาบันกรรมการเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สะท้อนจากกิจกรรมและผลงานของสถาบันที่เป็นที่รู้จัก และ สร้างชื่อเสียงให้กับสถาบันในฐานะ ผู้ขับเคลื่อนการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีกิจกรรมหลายด้านที่สถาบันได้รับเชิญ เข้าร่วมทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากล เพื่อส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงการขยายงานพัฒนากรรมการไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้สถาบันสามารถมีบทบาทได้ตรง ในการส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดีในภูมิภาค
          
3.ความมั่นคงทางการเงินของสถาบัน กิจกรรมของสถาบันในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ทำให้ฐานะการเงินของสถาบันเข้มแข็งขึ้นทำให้สถาบันมีทรัพยากรที่จะนำไปลงทุนและสร้างศักยภาพในการทำหน้าที่ของสถาบันต่อไปในอนาคต ที่สำคัญ ความมั่นคงทางการเงินทำให้บุคลากรของสถาบัน ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่สำคัญที่สุด มีความมั่นใจในอนาคตของสถาบัน สร้างแรงจูงใจให้สามารถจ้างและรักษาทรัพยากรที่มีคุณภาพให้อยู่กับสถาบันต่อไป นอกจากนี้ความมั่นคงทางการเงินได้ ช่วยให้เกิดความเป็นอิสระทางการเงินที่สถาบันไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือทางการเงิน เฉพาะจากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ทำให้สถาบันสามารถรักษาความเป็นกลางในการทำหน้าที่ ความสำเร็จทั้งสามด้านนี้จะเป็นฐานสำคัญให้กับก้าวต่อไปของสถาบันไอโอดีในการขับเคลื่อนธรรมาภิบาลหรือการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้กับประเทศ ในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว คณะกรรมการสถาบันได้อนุมัติกลยุทธ์ใหม่ของสถาบันสำหรับ 3 ปีข้างหน้า โดยเน้นให้การทำหน้าที่ของสถาบันสามารถสร้างผลในการกำกับดูแลกิจการในประเทศให้เกิดขึ้นได้จริง (Impactful) ที่จะนำไปสู่ การยกระดับการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมในภาคธุรกิจของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่อง ที่สำคัญและท้าทาย
          
นอกจากนี้ในแผน 3 ปีข้างหน้า (2560 - 2562) เป้าหมายสำคัญของงานของสถาบันจะอยู่ที่การขับเคลื่อนการกำกับดูแลกิจการ ที่ดีให้ขยายไปในส่วนอื่นของภาคธุรกิจ ไม่ใช่เฉพาะแต่บริษัทจดทะเบียนหรือบริษัทในกรุงเทพฯ โดยการเปิดช่องทางเข้าถึงข้อมูลทาง ด้านธรรมาภิบาลและแนวปฏิบัติที่ดีต่างๆของสถาบัน ด้วยระบบ on-line ที่จะเป็นประโยชน์ต่อทุกส่วนในภาคธุรกิจ รวมถึง มีการ เรียนการสอนในต่างจังหวัด เพื่อส่งเสริมให้การกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เกิดขึ้นได้กว้างขวาง สิ่งเหล่านี้จะทำให้ใน 3 ปีข้างหน้า สถาบันหวังที่จะสามารถขับเคลื่อนภาคธุรกิจ ในพฤติกรรมด้านธรรมาภิบาลที่ดีได้ กว้างขวางมากขึ้น โดยใช้ปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ที่สถาบันมี ทั้งในส่วนของบุคลากร เครือข่าย สมาชิก และระบบงานด้านดิจิทัล ที่ทางสถาบันกำลังลงทุนปรับปรุงอยู่ขณะนี้
          
นี่คือแผนของสถาบันไอโอดีใน ระยะต่อไป ซึ่งเป็นงานที่ท้าทายและสำคัญต่อการส่งเสริมให้เกิดธรรมาภิบาลที่ดีในภาคธุรกิจไทย นำไปสู่สังคมธุรกิจของประเทศที่โปร่งใส มีคุณภาพ ที่ทำธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมายตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งสำคัญต่อตัวธุรกิจเอง ต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และต่อความยั่งยืนของ ภาคธุรกิจ แต่พันธกิจเหล่านี้จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายหรือประสบความสำเร็จ ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจ หน่วยงานกำกับดูแล และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่มองเห็นความสำคัญของธรรมาภิบาลว่าเป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่ต้อง ช่วยกันแก้ไขปรับปรุงไปสู่ระดับที่สูงขึ้น โดยทุกภาคส่วนต้องมีบทบาท ต้องมีหน้าที่ ร่วมกัน เพื่ออนาคตของประเทศ
          
ข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับผลการดำเนินงาน ของสถาบันในปีที่ผ่านมาสามารถหา อ่านได้ในรายงานประจำปีของสถาบันปี 2559 ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ของสถาบัน www.thai-iod.com
          
การผลักดันการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของภาคเอกชน
ทำให้สถาบันไอโอดีเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับว่า เป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนการกำกับดูแลกิจการที่ดี
'กลยุทธ์ใหม่ของสถาบันสำหรับสามปีข้างหน้า เน้นให้การทำหน้าที่ ของสถาบันสามารถสร้างผลในการกำกับดูแลกิจการในประเทศให้เกิดขึ้นได้จริง'