ประเด็นร้อน

ปิดช่องทุจริต

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 12,2017

- - สำนักข่าว โพสต์ทูเดย์ วันที่ 12/06/60 - -

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) ให้จัดทำโครงสร้างและกลไกการทำงาน รวมทั้งแนวทางแก้ไขกฎหมายและระเบียบในการบริหารแผนการใช้จ่ายงบประมาณทั้งในระดับชาติ ภาค กลุ่มจังหวัด จังหวัดและอำเภอใหม่ทั่งหมดภายใน 1 สัปดาห์
          
นายกรัฐมนตรี ยอมรับด้วยว่า ที่ผ่านมากระบวนการจัดทำงบประมาณมีปัญหา คือ ขาดความเชื่อมโยงในการวางแผนทุกระดับ เน้นการใช้จ่ายมากกว่ามุ่งผลสำเร็จของงาน ขาดความสอดคล้องกันระหว่างแผนการปฏิบัติกับการจัดสรรงบประมาณ จึงจำเป็นต้องปรับระบบใหม่เพื่อให้งบประมาณเป็นเครื่องมือการบริหารที่เน้นความสำเร็จของนโยบาย รวดเร็ว โปร่งใส และให้ประชาชนเห็นเป็นรูปธรรม
          
ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานในส่วนนี้ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งเป็นไปตามแผนการจัดสรรงบประมาณแบบใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับงบประมาณในกลุ่มจังหวัด ระดับภาค ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคและกลุ่มจังหวัด (Area Based) และต้องสอดรับกับยุทธศาสตร์เฉพาะด้าน (Agenda Based) และภารกิจของส่วนราชการ (Functional Based) ซึ่งจะต้องสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 12
          
การดำเนินงานของรัฐบาลครั้งนี้ ถือเป็นการปฏิรูประบบงบประมาณ และวางแผนการดำเนินงานให้สอดรับกับเป้าหมายในด้านต่างๆ โดยมียุทธศาสตร์ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 12 เป็นเป้าหมายสำคัญ เช่นเดียวกับองค์กรธุรกิจที่มีการวางเป้าหมายทุกปี ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้จริง จะทำให้การใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพ เกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ ช่วยลดปัญหาความซ้ำซ้อนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
          
ตัวอย่างเช่นร้านค้าประชารัฐ เป็นต้น ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำโครงการร้านค้าประชารัฐ ทั้งในส่วนของคณะทำงานประชารัฐ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ทุกหน่วยงานใช้ทั้งงบดำเนินการ งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ ที่ต่างคนต่างทำ เป็นโครงการแบบผักชีโรยหน้าที่ไม่มี เป้าหมายร่วมกัน หรือบูรณาการการดำเนินงาน ทำให้ไม่เกิดผล แถมยังเกิดรูรั่วไหล เปิดช่องให้เกิดการทุจริต คอร์รัปชั่นได้
          
ทั้งนี้ เมื่อรัฐบาลต้องการปฏิรูประบบงบประมาณ ควรสร้างความรู้ ความเข้าใจ และตอกย้ำข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ให้การบริหารงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญควรจะต้องมีการประเมินผล มีดัชนีชี้วัดความสำเร็จของโครงการ ไม่เช่นนั้นเหมือนกับเอางบไปละเลง ละลายไปโดยไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง
          
นอกจากนี้ ควรเปิดให้มีกระบวนการตรวจสอบการใช้งบประมาณจากประชาชน ซึ่งเป็นผู้จ่ายภาษี เพื่อให้เกิดความโปร่งใส โดยภาครัฐจะต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้เข้าถึง รวมถึงภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ควรสร้างระบบป้องกันการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้ทุจริตได้
          
และถึงแม้จะมีระบบจัดซื้อจัดจ้างแบบใหม่ ยังมีช่องให้ทุจริต ได้ เพราะฉะนั้นการรณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกในเรื่องธรรมาภิบาลและความโปร่งใสยังคงต้องดำเนินต่อไป ที่สำคัญต้องดำเนินการอย่างจริงจังกับผู้ทุจริต