ประเด็นร้อน

อย่าให้ใครว่า..ทหารฉลาดเกมโกง

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 12,2017

- - สำนักข่าว ไทยโพสต์ วันที่ 12/06/60 - -
          
ทุกองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติประกอบ (พ.ร.ป.) รัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.... ยังมีโอกาสที่จะแสดงความเห็นคัดค้าน หรือเห็นแตกต่าง อันเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ต่อไป ถึงแม้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการล้างไพ่หรือเซตซีโร กกต.ทั้ง 5 คน จะผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช.ไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 177 มีคนไม่เห็นด้วย 1 และงดออกเสียง 5 ก็ตาม
          
พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ....ที่เพิ่งผ่านการลงมติของ สนช.เมื่อวันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน 2560 สาระสำคัญที่มีข้อถกเถียงกันมากที่สุด คือมาตรา 70 ที่ระบุว่า "ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งและกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ แต่ให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าประธานกรรมการการเลือกตั้งและกรรมการการเลือกตั้งที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่"
          
มี สนช.ที่ยกมือเห็นด้วยตามมาตรา 70 นี้ จำนวน 161 คน ไม่เห็นด้วย 15 คน งดออกเสียง 12 คน ด้วยความรู้สึกว่า ไม่เป็นธรรมกับ กกต.ทั้ง 5 คนซึ่งอุตส่าห์เสียสละลาออกจากราชการและหน่วยงานต่างๆ มารับใช้ชาติบ้านเมือง นอกจากนั้นยังเห็นว่า อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ที่น่าสนใจเห็นจะเป็นเหตุผลในการเซตซีโร กกต.ดังกล่าว ก่อให้เกิดคำถามขึ้นมากมาย ว่า นี่ใช่เป็นการปฏิรูประบบการเลือกตั้ง เพื่อการปฏิรูปการเมืองอย่างที่มีความพยายามกล่าวอ้างจริง หรือว่าเป็นหนทางการจัดระเบียบทางการเมือง วางแผนอนาคตให้กับรัฐบาลทหาร ซึ่งจำเป็นต้องลงจากหลังเสือตามโรดแมปประเทศไทยที่ได้สัญญาไว้กับประชาชนกันแน่??
          
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ และการแสดงความสงสัย ความกังขา หากออกจากปากของ กกต. ซึ่งถือว่ามีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับการเซตซีโรอันจะเกิดหลังจาก พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.บังคับใช้นั้น อาจจะปราศจากน้ำหนักหรือสามารถมีเหตุผลเพียงพอที่ประชาชนจะรับฟัง เพราะว่าโดยข้อเท็จจริงแล้ว ผลงานหรือการบริหารจัดการงานของ กกต.ชุดปัจจุบันมิได้สร้างความประทับใจให้กับชาวบ้านสักเท่าไรนัก พิสูจน์ได้จากการสำรวจความคิดเห็นของสำนักโพลที่ระบุว่า ประชาชนเข้าข้าง สนช.นั่นคือเห็นด้วยกับการเซตซีโร กกต.
          
แต่อย่างไรก็ตาม มีหลากหลายความคิดเห็นที่ สนช.โดยเฉพาะรัฐบาลมองข้ามหรือทำเป็นไม่ใส่ใจไม่ได้เหมือนกัน นั่นคือ มาตรฐานการเซตซีโรหรือล้างไพ่องค์กรอิสระตาม รัฐธรรมนูญนั้น ควรจะยึดถือและดำเนินการตามมาตรา 70 ของ พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.... เฉกเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการผู้ตรวจการแผ่น ดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ประเทศไทย) หรือแม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
          
ถ้า สนช.หรือรัฐบาลยึดสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อการปฏิรูปประ เทศชาติบ้านเมืองเป็นสรณะ ทุกองค์กรอิสระที่มีอยู่หลังจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันนี้ สมควรต้องมีการล้างไพ่ เซตซีโรแบบเดียวกับที่กำลังเริ่มต้นกับ กกต. ซึ่งกล่าวได้ว่า ความเห็นของนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย ต่อกรณีเซตซีโร กกต. อธิบายได้อย่างมีเหตุมีผลและชัดเจนที่สุด ว่า สิ่งที่ต้องทำให้ถูกต้อง หลังจากนี้ก็คือการเซตซีโรองค์กรอิสระที่เหลืออยู่ทั้งหมด รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลักการและเหตุผลที่ถูกต้องเรื่องนี้คือ กรรมการองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาจากการสรรหาและการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2550 บ้าง รัฐธรรมนูญชั่วคราวบ้าง หรือตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บ้างก็มี จึงต้องถือว่าผู้ดำรงตำแหน่งระหว่างนี้มาจากระบบกติกาอย่างอื่นที่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญปัจจุบันทั้งสิ้น
          
หากมีการเลือกปฏิบัติเซตซีโรเฉพาะ กกต. สิ่งที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ได้โพสต์บนเฟซบุ๊กชื่อหัวข้อ "ด้านมืดของการปฏิรูปการเลือกตั้ง" คงต้องมีการยกนิ้วกด "ไลค์" และถูกแชร์ต่อขยายไปเป็นปมทางการเมืองอย่างไม่ต้องสงสัย กับเนื้อหาที่ระบุว่า...การลงมติของ สนช.ในการเซตซีโร กกต. คือตราบาปสำคัญกับการเมืองไทยที่ไม่ต่างอะไรกับการลงมตินิรโทษสุดซอยที่อาศัยอำนาจ และเสียงข้างมากที่ฝ่ายตนมีกระทำการเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน
          
คำอธิบายใดๆ ของ สนช. หรือแม้แต่คณะกรรมาธิการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการเจ็บเพื่อชาติ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม ย่อมต้องมีข้อสงสัย ตามด้วยข้อกังขา ตามด้วยข้อกล่าวหามากมายว่า ใคร? ผู้ใด?? หรือองค์กรไหน??? จะเป็นผู้พิจารณารัฐธรรมนูญโดยรวม หรือตัดสินใจในแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศว่า อะไรต้องถูกเซตซีโร องค์กรไหนไม่ต้องถูกเซตซีโร กระบวนการวิธีพิจารณา หรือแนวคิด ว่า แบบไหน อะไรที่ดีที่สุดสำหรับบ้านเมือง หรือเซตซีโรอย่างไรที่จะเป็นการปฏิรูปอย่างแท้จริงนั้น ใครเป็นผู้กำหนด
          
ถ้าคำตอบคือ สนช. ก็คงปฏิเสธมิได้ว่า รัฐบาลภายใต้การกุมบังเหียนของ สช. หรือทหาร เป็นผู้ชี้นิ้ว ซึ่งย่อมหนีไม่พ้นข้อสังเกตว่า การเซตซีโร กกต.ครั้งนี้มีวาระซ่อนเร้น และปมทางการเมืองว่าด้วยการเลือกตั้งในอนาคตตาม โรดแมปเป็นคำตอบสุดท้าย ซึ่งไม่แตกต่างจากการวางหมาก วางเกมพร้อมพรรคสมัครสมานโกงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ถึงจะมีเสียงยี้น้อยกว่าบรรดาพรรคการเมืองน้ำเน่าหน้าเก่าหน้าเดิม แต่มันไม่สง่างาม ไม่สมเป็นชายชาติทหาร..จริงไหม.