ประเด็นร้อน

ธรรมาภิบาลที่เป็น

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 14,2017

 คอลัมน์ ไทยรัฐ: ธรรมาภิบาลที่เป็น


- - สำนักข่าว ไทยรัฐ วันที่ 14/06/60 - -
          
ขณะที่เกิดวิวาทะเรื่องการโละกรรมการ กกต.ทั้งคณะ และ กกต. ก็มีมติตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกรณีที่มีผู้ร้องเรียนรัฐมนตรี 9 คน ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป คนทั่วไปงุนงงว่า กกต.มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย หรือแม้แต่รัฐมนตรีที่ถูกร้องเรียนก็สงสัย ปัญหานี้มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญยืนยันว่า กกต.มีอำนาจ
          
นั่นก็คืออำนาจที่จะตรวจสอบและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินหากมีการร้องเรียนว่า รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากกระทำการต้องห้าม เช่น เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน หรือเข้าร่วมเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐเป็นต้นส่วนกรณี 9 รัฐมนตรี ไม่ทราบชัดเจนว่าถูกร้องเรียนเรื่องอะไรแน่รู้เพียงแต่ว่ามีเรื่องหุ้นเกี่ยวข้องด้วย
          
คณะรัฐมนตรีของรัฐบาล คสช.ทั้งคณะ ได้รับการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ซึ่งไม่ห้ามรัฐมนตรีถือหุ้นในบริษัทแต่รัฐธรรมนูญใหม่ 2560 บัญญัติลักษณะต้องห้ามสำหรับรัฐมนตรีไว้มากมายที่สำคัญคือเรื่องหุ้นและห้ามควบตำแหน่งข้าราชการ แต่มีบทเฉพาะกาลยกเว้นให้ควบตำแหน่งได้ แต่ไม่ได้ยกเว้นเรื่องการถือหุ้นต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญใหม่
          
การยกเว้นไม่ห้ามรัฐมนตรีควบตำแหน่งข้าราชการ หรือตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจเป็นเรื่องที่มีเหตุผลเนื่องจากเป็นรัฐบาลคณะรัฐประหารที่นักวิชาการหลายคนเรียกว่า "รัฐข้าราชการ" จึงต้องให้ข้าราชการควบรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีแต่การถือหุ้นบริษัทยกเว้นไม่ได้ เพราะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์เป็นการทุจริตรูปแบบสำคัญ
          
หุ้นเคยเป็นวิกฤติการเมืองครั้งใหญ่ นั่นก็คือกรณีการ "ซุกหุ้น" ที่โด่งดังรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันไม่ได้ห้ามแค่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีแต่ห้าม แม้แต่ข้าราชการรวมทั้ง ส.ส. และส.ว. ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องพ้นจากตำแหน่งและเข้มงวดกับนายกฯ และรัฐมนตรีมากกว่า ส.ส. คือ ห้ามถือหุ้นในบริษัทธุรกิจเด็ดขาดห้ามไปถึงคู่สมรสและบุตรที่ไม่บรรลุนิติภาวะ และห้ามซุกหุ้นไว้กับบุคคลใดๆ
          
เหตุผลสำคัญเพราะนายกฯ หรือรัฐมนตรีมีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินคุมงบประมาณรายจ่ายรัฐปีละหลายล้านล้านบาท สามารถเอื้อประโยชน์ให้ตนและพวกพ้องได้การถือหุ้นในบริษัทธุรกิจเข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อาจเป็นบ่อเกิดของการทุจริตคอร์รัปชันอย่างมโหฬารขัดต่อหลักการบริหารประเทศทุกหลักการ
          
คณะรัฐมนตรีปัจจุบันแม้จะเป็น "รัฐบาลชั่วคราว" เพราะมาจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวแต่อยู่ในตำแหน่งนานกว่ารัฐบาลเลือกตั้ง(ที่อยู่ได้คราวละไม่เกิน 4 ปี) และเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจครบถ้วนทุกประการ จึงต้องปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญตามหลักนิติธรรมหลักคุณธรรมความโปร่งใสและธรรมาภิบาลตามที่นายกรัฐมนตรีเรียกร้อง.