ประเด็นร้อน

พัฒนาการ'แป๊ะเจี๊ยะ'สู่ระบบ'นายหน้า'

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 28,2017

 - - สำนักข่าว คม ชัด ลึก วันที่ 28/06/60 - -


นลิน สิงหพุทธางกูร NOW26

"ปัญหาแป๊ะเจี๊ยะ ถ้าไม่แก้ไขอย่างเอาจริงเอาจัง จำนวนเงินจะสูงขึ้นทุกปีๆ เป็นความได้เปรียบเสียเปรียบทางการศึกษา และทำให้มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้น"

เสียงเตือนจากนักวิชาการด้านการศึกษา ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนปัญหาการเรียกรับเงิน กินเปล่า หรือ "แป๊ะเจี๊ยะ" ในระบบการศึกษาไทย ที่หากปล่อยไว้จะส่งผลให้เกิดวิกฤติด้านอื่นๆ ที่ร้ายแรงตามมา

"แป๊ะเจี๊ยะ" เป็นคำในภาษาจีนใช้ในระบบการค้า หมายถึง การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เพื่ออำนวยความสะดวก เดิมใช้ในระบบโรงเรียนเอกชน แต่ตอนหลังลุกลามเข้าสู่โรงเรียนรัฐบาล

"มันกลายพันธุ์จนเป็นวัฒนธรรมย่อยของตัวโครงสร้างและตัวระบบการศึกษา แก้อย่างไรก็ไม่หมด ตราบใดที่โรงเรียนยังมีความเหลื่อมล้ำสูงต่ำกัน 20 กว่าเท่า คุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในเมืองกับชนบทต่างกัน 3 ชั้นปี นี่เป็นรายงานการศึกษาของธนาคาร โลก สมมุติว่าเด็กจบ ม.6 ด้วยกัน เด็กต่างจังหวัดจะมีความรู้แค่ ม.3 แต่เด็ก ม.6 โรงเรียนในเมืองหรือในกรุงเทพฯ จะมีเนื่อหาความรู้เทียบเท่า ม.6 จริงๆ"

"ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงเหล่านี้ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องการคุณภาพการศึกษาให้แก่บุตรหลานของตัวเอง เพื่ออนาคตที่ดีกว่า เพื่อสังคมที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในอนาคต และตอบโจทย์การสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ทั้งยังป้องกันลูกหลานของตนเองให้พ้นจากปัญหายาเสพติด และเรื่องเพศ โรงเรียนพวกนี้มีสิ่งแวดล้อมดีมาก ถ้าเป็นแบบนี้พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนจะบอกว่าเท่าไหร่เท่ากัน" ศ.ดร.สมพงษ์ ระบุ

ว่ากันว่าบางทีระเบียบสำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เรื่อง "หลักการและแนวปฏิบัติในการรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ" ที่ประกาศใช้เมื่อปี 2554 กลายเป็นช่องโหว่ให้เกิดการขอรับบริจาคแลกกับ "ที่นั่งในโรงเรียน" แบบวิธีพิเศษ

ระเบียบนี้มี 7 ข้อ หลายๆ ข้อสมเหตุสมผลและยอมรับได้ เช่น การรับบุตรของบุคคลที่เสียสละเพื่อชาติ การรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษตามข้อตกลงการจัดตั้งโรงเรียน แต่ปัญหาอยู่ที่ข้อ 7 ระบุถึงการรับนักเรียนของผู้ทำคุณประโยชน์ให้โรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ศ.ดร.สมพงษ์ มองว่า "ระเบียบนี้เป็น ดาบสองคม เงินบำรุงการศึกษา ทำถูกตามหลักเกณฑ์ก็จะเป็นเงินบริจาคและมีใบเสร็จ ดังนั้นข้อ 7 ต้องนิยามใหม่ ตีความให้ชัด ไม่ให้มันดิ้นได้ เพราะเมืองไทยเป็นเมืองศรีธนญชัย"

คลุกคลีในแวดวงการศึกษามานาน ศ.ดร.สมพงษ์ให้ข้อมูลว่า การบริจาคเงิน ให้ลูกหลานได้เข้าเรียน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของขบวนการนี้เท่านั้น ปัจจุบันวงจรนี้พัฒนาไปสู่ระบบ "นายหน้า" แล้ว
          
"จริงๆ การฝากเด็กมีหลายวิธี เริ่มจากใช้อำนาจทางการเมือง ใช้ระบบอุปถัมภ์ไม่ต้องจ่ายเงิน แต่ถ้าไม่มีอำนาจการเมืองก็ต้องวัดอำนาจทางการเงิน จ่ายในลักษณะกรอกตัวเลข แจ้งความจำนงมากน้อย ระบบนี้จะมีนายหน้า เช่น ตัวเลขกลางๆ 3 แสน คุณกล้ามากกว่า 3 แสนมั้ย จ่ายได้ก็ติด เงินจะเข้าใครก็ไม่รู้ แต่ต้องจ่ายก่อน อีกประเภท ยึดตามระเบียบกฎเกณฑ์แต่เลี่ยงข้อ 7 อย่าเพิ่งจ่ายเงินเปิดเรียนไปอาทิตย์หนึ่งค่อยจ่าย ยังมีระบบผ่อนจ่าย เก็บแต้ม ผู้ปกครองของเด็กจะแจ้งสมาคมครูและผู้ปกครอง ร่วมกิจกรรม จ่ายไปเรื่อยๆ จนครบก็เข้าสู่การพิจารณาได้ วิธีการมีเยอะไปหมด ทั้งถูกระเบียบและผิดระเบียบ"
          
ทางออกของปัญหานี้ต้องใช้ยาแรง ศ.ดร.สมพงษ์ บอกว่า "ผู้อำนวยการโรงเรียนใหญ่ๆ ดีเด่นดังต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินว่าก่อนเข้าบริหารโรงเรียนมีทรัพย์สิน เงินสด บ้าน รถ เท่าไหร่ ต้องกล้าทำ เพราะ ในมหาวิทยาลัยรองอธิการบดียังต้องแสดง ตรงนี้จะแก้ปัญหาที่ต้นทางพอสมควร อย่างน้อยถ้าแจ้ง บัญชีไม่เหมาะสม ติดคุก ถูกไล่ออกจากระบบราชการ อีกแนวทางหนึ่งคือตั้งคณะกรรมการระดับประเทศ มีรองนายกรัฐมนตรี หรือรมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน ภาคเอกชนที่ทำเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. สตง. นักวิชาการ เอ็นจีโอ ร่วมตรวจสอบ ถ้าผิดจริงมีบทลงโทษที่ชัดเจน หากทำได้ปัญหานี้หมดแน่ ขึ้นอยู่กับว่าเอาจริงหรือเปล่า แต่ถ้าบอกว่ามีนโยบายไม่ให้มีแป๊ะเจี๊ยะแล้วไม่มีมาตรการตรวจสอบจริงจัง ไม่มีมาตรการลงโทษแน่นอน ก็เหมือนปากว่าตาขยิบ"
          
ข้อเสนอสุดท้ายของ ศ.ดร.สมพงษ์ คือ การแก้ปัญหาระยะยาว ด้วยการให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล บริหารจัดการด้วยตัวเอง แต่ต้องมีบัญชีรายรับรายจ่ายที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาไม่ต่างกับบัญชีเงินวัดที่กำลังกลายเป็นข่าวฉาวเรื่องเงินทอน ไม่แพ้เงินแป๊ะเจี๊ยะของระบบโรงเรียนเช่นกัน
          
ฟาก..ประธานเครือข่ายพ่อแม่ลูกเพื่อการปฏิรูปการศึกษา พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี แนะขั้นตอนสกัดแป๊ะเจี๊ยะว่า 1.ทุกโรงเรียนต้องประกาศรายชื่อของนักเรียนทุกคนก่อนสอบ 2.หลังสอบเสร็จและมีรายละเอียดคะแนนสอบตามมาด้วย ประกาศรายชื่อนักเรียนที่ได้ทั้งหมดและที่สำรอง รวมทั้งคะแนนที่ได้ของแต่ละคน และ 3.ระดับขั้นสุดท้าย ประกาศรายชื่อเด็กที่เข้าเรียนจริงในแต่ละชั้นปีของแต่ละโรงเรียน ขณะที่ "สัดส่วน" ของผู้รับอุปการคุณ ต้องจัดตั้ง "ทีมงาน" กำหนด "หลักเกณฑ์" และ "แนวทางในการรับเด็กโควตา" หรือ "ผู้อุปการคุณ" ซึ่ง "โควตา" ก็จัดสรรตามพื้นที่ หรือความสามารถของเด็กเฉพาะทางที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ไม่ใช่โรงเรียนกำหนดเอง ก็จะ "จบ" เรื่องของการเรียกรับ "แป๊ะเจี๊ยะ" ได้
          
เช่นเดียวกับ "มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์" เลขาธิการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของ ชาติ (ภตช.) ที่ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ 1.ขอให้ยกเลิกการรับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษ 6 ข้อ จาก 7 ข้อ ยกเว้นนักเรียนที่ได้คะแนนสอบเท่ากันในลำดับสุดท้าย ในปีการศึกษา 2560 เพื่อนำยอดการรับนักเรียนนี้ไปอยู่ในส่วนของการสอบทั่วไปเพื่อความเท่าเทียมกันของทุกชนชั้น 2.ขอให้ตรวจสอบ-เปิดเผยรายชื่อการรับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษปีการศึกษา 2560 ของโรงเรียนที่มีอัตราแข่งขันสูงตั้งแต่อนุบาล-ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ใน 357 โรงเรียน เมื่อตรวจสอบแล้วว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐใดประสานมา ให้ดำเนินการทางวินัย-อาญา-แพ่ง ทั้งผู้ประสานขอมา และผู้อำนวยการโรงเรียนนั้น ให้ดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายกับผู้รับ, ผู้ให้การสนับสนุน-ผู้ให้ ถอดถอนรายชื่อนักเรียนผู้นั้นออกจากการเป็นนักเรียนโรงเรียนนั้นๆ ด้วยจะแก้ปัญหาได้
          
"การฝากเด็กมีหลายวิธี  เริ่มจากใช้อำนาจทางการเมือง ใช้ระบบอุปถัมภ์ไม่ต้องจ่ายเงิน แต่ถ้าไม่มีอำนาจการเมืองก็ต้องวัดอำนาจทางการเงิน"