ประเด็นร้อน

เฝ้าระวังอย่างไรให้ได้ผล

โดย ACT โพสเมื่อ Jul 05,2017

  - - สำนักข่าว แนวหน้า วันที่ 5/07/60 - -


รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค

ต่อตระกูล : ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปร่วมประชุมกับกลุ่มภาคประชาสังคมที่มีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทยหลายกลุ่ม ผมได้รับทราบโครงการดีๆหลายโครงการที่เน้นการให้ประชาชนมาช่วยกันสอดส่อง ดูแลผลประโยชน์ส่วนรวมด้วยกัน หรือที่เรามักได้ยินกันว่า การสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชน
ผมชอบและเห็นด้วยในหลักการโครงการลักษณะนี้มาก เพราะถ้าวางแผนดำเนินการโครงการให้ดีและวางระบบการทำงานอย่างรอบคอบ เพื่อดึงดูดประชาชนทั่วไปมาเข้าร่วมและช่วยงานได้โดยสะดวกแล้ว นอกจากจะมีประสิทธิผลอย่างมากในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันแล้ว โครงการประเภทนี้ยังสามารถขยายผลได้กว้างและรวดเร็วมากด้วย ไม่ต้องรอเกณฑ์คนมาฝึกอบรมกันได้ปีละไม่กี่ร้อยคน แต่สามารถเพิ่มสมาชิกเป็นล้านคนได้ภายในไม่กี่ปี

ต่อภัสสร์: โครงการสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนที่พ่อพูดถึงนี้คืออะไรบ้างหรือครับ
          
ต่อตระกูล: ขอเริ่มจากโครงการแรกคือ โครงการหมาเฝ้าบ้าน เป็นกลุ่มประชาชนที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน เพื่อสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังภาคประชาชน ร่วมกันเฝ้าดู รักษาผลประโยชน์ ทรัพย์สมบัติส่วนรวม และเงินภาษีของชาติ
          
โครงการหมาเฝ้าบ้านนี้เขาวางแผนและดำเนินการกันอย่างเป็นระบบ มีการแบ่งงานกันเป็นหลายฝ่าย ตั้งแต่การดมกลิ่นคือการขุดคุ้ยข้อมูล วิเคราะห์ประเด็น เห่าคือการส่งเสียงเปิดโปงพฤติกรรมการทุจริตหรือสุ่มเสี่ยงคอร์รัปชันต่อสาธารณะ ผ่านทางช่องทางต่างๆ เช่น เฟซบุ๊คของกลุ่ม เพื่อให้สื่อมวลชนเอาไปกัด หรือการหาข้อมูลเชิงลึกเพื่อพิสูจน์การวิเคราะห์ในเบื้องต้น และสืบสาวเรื่องราวต่อเนื่อง สุดท้ายก็มีการเปิดสมัครอาสาสมัครเข้ามาร่วมกลุ่ม คนที่สนใจเข้าร่วมต้องผ่านการฝึกอบรมวิธีการขุดคุ้ยข้อมูล การวิเคราะห์ราคากลาง วิเคราะห์หน่วยงานเข้าร่วมประมูล ตลอดจนการเขียนข่าว เพื่อให้สามารถทำหน้าที่เป็นหมาเฝ้าบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ปัจจุบันนี้มีการอบรมไปทั่วประเทศไทยแล้วถึง 31 รุ่น มีสามาชิกที่เรียกตัวเองว่า "หมา" ด้วยความภาคภูมิใจกว่า 500 คน
          
ต่อภัสสร์: โครงการหมาเฝ้าบ้านนี้ ผมเคยได้ยินมานานแล้วครับ เขาสามารถเปิดโปงเรื่องการทุจริตของข้าราชการ นักการเมือง นักธุรกิจ ได้หลายกรณีแล้ว แต่ละกรณีที่เปิดโปงออกมาก็มีหลักฐานสนับสนุนที่ชัดเจน ไม่ใช่นั่งเทียนเขียนขึ้นมาเอง ตัวเนื้อเรื่องก็สามารถเรียบเรียงได้ดี อ่านเข้าใจได้ง่าย ที่สำคัญเขามีกลยุทธ์ในการเผยแพร่เรื่องราวที่ดี มีการใช้กราฟฟิกมาทำให้การนำเสนอน่าสนใจมากขึ้น ล่าสุดก็มีกรณีงานก่อสร้างในท้องถิ่นที่ราคาสูงมาก แต่ผลงานออกมาไม่มีคุณภาพเลย ก็เห็นมีการแชร์ในเฟซบุ๊คเยอะพอสมควร แสดงว่าประชาชนทั่วไปเมื่อได้รับข้อมูลมากขึ้น ก็จะสนใจเรื่องส่วนรวมมากขึ้น น่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการขยายผลโครงการนี้ต่อไป
          
สิ่งที่ต้องคำนึงต่อไปสำหรับโครงการ หมาเฝ้าบ้าน คือการขยายขนาดและขยายผลกระทบของโครงการ เนื่องจากการเปิดโปงข้อมูลทุจริต จำเป็นต้องมีการทำงานอย่างเป็นระบบและรอบคอบ เพื่อคุณภาพของการวิเคราะห์ และความน่าเชื่อถือของข้อมูล ทำให้กว่าโครงการจะได้ "หมา" เพิ่มขึ้นมาหนึ่งตัว ต้องใช้เวลาและทรัพยากรในการฝึกอบรมอย่างมาก และหลังจากฝึกอบรมแล้ว ก็ต้องหวังให้หมาแต่ละตัวขยันทำงานอย่างต่อเนื่องด้วย ทำให้การขยายขนาดโครงการจากสมาชิกหลักร้อย ไปเป็นหมื่นเป็นแสน ทำได้ไม่ง่ายนัก จึงเป็นคำถามที่ต้องระดมความคิดกันต่อไปว่า จะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อขยายขนาดและผลกระทบของโครงการ โดยไม่ลดทอนคุณภาพและความน่าเชื่อถือของข้อมูลและการวิเคราะห์
          
ต่อตระกูล: ใช่แล้ว เมื่อกี้เป็นโครงการที่เน้นฝั่งภาคประชาสังคมแล้ว มาลองดูโครงการที่เน้นภาคราชการบ้าง อีกโครงการหนึ่งที่เพิ่มไปร่วมประชุมระดมความคิดกันมาคือ โครงการอาสาเฝ้าไทยใสสะอาด โดยมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด ที่จะระดมอาสาสมัครมาจากกลุ่มคนที่รู้เรื่องระบบราชการดีที่สุดและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนมาเกี่ยวข้อง นั่นคือกลุ่มอดีตข้าราชการ ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในกระบวนการทำงานตามระบบราชการ รู้ว่า จะติดตาม เฝ้าระวังการทำงานตามกระบวนการราชการอย่างไร ที่เรื่องล่าช้าเพราะระเบียบไม่ดี หรือ ตัวข้าราชการตั้งใจจะทุจริต เมื่อรู้สาเหตุที่แท้จริงของความขาดประสิทธิภาพในการทำงานแล้ว ก็จะนำไปสู่แนวทางการพัฒนาระบบเพื่อป้องกันการคอร์รัปชัน
         
โครงการนี้จะสนับสนุนประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ข้อ 14 ที่กำหนดให้สำนักงานข้าราชการพลเรือน โดยข้อเสนอของหัวหน้าส่วนราชการ แต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรมประจำส่วนราชการขึ้น เพื่อควบคุม กำกับให้มีการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม ของ ก.พ. โดยคณะกรรมการนี้จะสามารถพิจารณาข้อสงสัยหรือข้อร้องเรียนเรื่องการฝ่าฝืนจริยธรรม เพื่อส่งผลการพิจารณานั้นให้ ก.พ. ประเมินการปฏิบัติงานของข้าราชการต่อไป
          
ต่อภัสสร์: โครงการนี้ก็น่าสนใจนะครับ เพราะปัญหาหนึ่งของการขุดคุ้ยข้อมูลโดยภาคประชาชนคือ การไม่เข้าใจระบบและระเบียบทางราชการ ไม่รู้ว่ามันมีช่องโหว่ตรงไหนให้นักการเมืองมาสั่งการข้าราชการให้ไปทุจริตหรือข้าราชการทุจริตเองได้ คนที่รู้เรื่องนี้ดีที่สุดก็คือคนที่ผ่านงานมาแล้ว รู้ระบบ ระเบียบ วิธีการทำงานอย่างถ่องแท้ และอาจจะเคยได้เห็นพฤติกรรมการทุจริตด้วยตัวเองมาแล้วด้วย ทำให้สามารถติดตาม ตรวจสอบ เฝ้าระวังการคอร์รัปชันในหน่วยงานราชการได้อย่างมีประสิทธิผล
          
สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือความสัมพันธ์เดิมที่อดีตข้าราชการนั้นๆเคยมีต่อข้าราชการปัจจุบันและหน่วยงาน ความสัมพันธ์นี้อาจเป็นประโยชน์ในการขอและขุดคุ้ยข้อมูลหลักฐานได้ แต่ก็อาจมีผลร้ายได้ หากมันไปบิดเบือนความเป็นกลางในการพิจารณาของอดีตข้าราชการคนนั้น เช่น ไม่อยากเอาเรื่องลูกน้องเก่า หรือ ไม่อยากให้หน่วยงานที่ตนเคยทำงานมาเป็นสิบๆปีต้องหมองหม่นจากคดีทุจริต
          
ต่อตระกูล: เห็นด้วยเลย จึงเกริ่นไว้ตั้งแต่เริ่มต้นว่าโครงการต่างๆเหล่านี้จำเป็นต้องมีการวางแผนการดำเนินงานที่รอบคอบ ไม่อย่างนั้น สิ่งที่จะเป็นประโยชน์อาจกลับเป็นโทษได้ ประเด็นนี้จึงนำมาสู่มาตรการหนึ่งที่ได้รับการผลักดันเพื่อสนับสนุนให้โครงการความร่วมมือจากประชาชนประสบความสำเร็จ นั่นคือระเบียบการให้เงินรางวัลแก่ผู้ที่ให้ข้อมูลทุจริตของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยระบุไว้ว่า ป.ป.ช. สามารถจ่ายเงินรางวัลให้แก่ผู้ที่ให้ข้อมูลคดีนักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูงว่าร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ โดยรางวัลนี้สูงถึง 15% ของมูลค่าทรัพย์สินที่ยึดแล้วนำส่งคือแก่รัฐบาลได้ เงินรางวัลนี้สามารถสูงได้ถึง 100 ล้านบาทเลยทีเดียว
รู้แบบนี้แล้ว โครงการสร้างความร่วมมือของประชาชนต่างๆ น่าจะใช้ประโยชน์จากมาตรการนี้ ในการหาทุนสนับสนุนการทำงานของกลุ่มตัวเองได้ เพื่อพัฒนาโครงการให้มีระบบที่สะดวกต่อการร่วมมือของประชาชนมากขึ้น และมีประสิทธิผลในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันมากขึ้นด้วย