ประเด็นร้อน

หนุน พรบ.ปราบโกง สอยนักการเมืองทุจริต

โดย ACT โพสเมื่อ Jul 17,2017

  - - สำนักข่าว โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 17/07/60 - -


ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์
          
กลายเป็นประเด็นขึ้นมาทันที ภายหลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในวาระ 3 ด้วยคะแนน 176 เสียง จนถูกตั้งคำถามถึงตัวกฎหมายนี้หวังเจาะจงเล่นงานเฉพาะนักการเมือง
          
จักษ์ พันธ์ชูเพชร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการศึกษาต่อเนื่อง และรักษาการผู้อำนวยการสถานการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยนเรศวร อธิบายว่า กฎหมายนี้ต้องการให้เป็นยาแรง เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ามีข้อบกพร่องเยอะมาก และยาแรงที่ออกมาคงไม่ได้พุ่งเป้าไปยังใครคนใดคนหนึ่ง ทว่าเหตุผลน่าสนใจตรงร่างดังกล่าวนั้นใช้กับนักการเมือง แต่เมื่อนักการเมืองจะโกงหรือทำผิด มันมีอำนาจหรือเครือข่ายเยอะมาก ฉะนั้นถ้ายังใช้รูปแบบเดิมๆ ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้
          
"ยกตัวอย่างเช่นพอมีปัญหาแล้ว หนีออกไป รอจนกว่าหมดอายุความ แล้วกลับมาเชิดหน้าชูตาในสังคมแบบเดิม มันไม่ถูก เมื่อออกกฎหมายนี้ คุณออกไปแล้วแต่อายุความไม่ได้หยุดลง ผมเห็นด้วย และที่ผมคิดว่ามันก็เปิดช่องทางให้กับฝ่ายที่เขาหนี คุณไม่กลับมา และสามารถพิจารณาลับหลังได้ เขาให้ตั้งทนายได้ถ้าคุณไม่กล้า กลับมารูปแบบแบบนี้มันน่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรที่เกิดขึ้นในสังคมไทยพอสมควร"
          
ทั้งนี้ ส่วนตัวเชื่อว่าถ้าประชาชนไทยได้อ่านและเข้าใจถึงเหตุผล เป้าหมาย เปรียบเทียบกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้น จะโดนใจประชาชน เพราะกฎหมายนี้ไม่ได้ใช้กับประชาชน แต่ตัวนักการเมืองอาจไม่ชอบ อีกทั้งในตัวบทเฉพาะกาลที่บอกว่าคดีไหนยังไม่สิ้นสุดก็ให้ใช้อันนี้เป็นเครื่องมือต่อไป
          
"ตรงนี้จะกลายเป็นประเด็นที่ทำให้คนอยู่ในกระบวนการอย่างนักการเมืองรุ่นเก่าๆ เช่น ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ต้องออกมาโจมตีว่ากระบวนการนี้เจาะจงใช้กับเขาหรือไม่ ตรงนี้จะกลายเป็นการบิดข้อมูล บิดสาระ จนอาจทำให้คนที่เป็นแฟนคลับเพื่อไทย แฟนคลับนักการเมืองกลุ่มก้อนนั้น เข้าใจไปอีกแบบ ซึ่งสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งยวด ภาครัฐที่รับผิดชอบต้องชี้แจงเรื่องนี้ให้เป็นภาษาง่ายๆ ให้ประชาชนเข้าใจว่าจะได้อะไร แบบนี้จะเกิดผลดีอย่างไร และไม่จงใจลงโทษใคร สุดท้ายยังยอมให้มีการอุทธรณ์ได้ ซึ่งเป็นการเปิดช่องกว้างขึ้นมาอีกด้วย"
          
ขณะที่ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าวที่ออกมา ซึ่งต้องตั้งหลักว่าประเทศไทยนั้นมีปัญหาเรื่องการทุจริต ดังนั้น กฎหมายในระบบธรรมดามันแก้ปัญหาการทุจริตได้ยาก ก็เข้าลักษณะที่ว่าเมื่อเป็นโรคร้ายแรง จำเป็นต้องใช้ยาแรงในการรักษา
          
"กฎหมายที่ สนช.ให้ความเห็นชอบนั้นถือเป็นยาแรง แต่ถ้ายอมรับความจริงว่าการทุจริตเป็นปัญหาของประเทศ มันก็ต้องแก้แบบนี้ แต่ที่เรามองกันเป็นการเจาะจงใช้บังคับกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือเปล่า ก็อย่าไปคิดถึงหน้าคน หน้าใคร คิดเสียว่ากฎหมายนี้ใช้กับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต และผมเห็นด้วยที่ออกมาบังคับใช้ ไม่เกี่ยวกับว่าใครจะถูกดำเนินคดีบ้าง"
          
อย่างไรก็ตาม ที่มองว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่เล่นงานคนทุจริตในส่วนอื่นนั้น เพราะกฎหมายดังกล่าวเป็นการดำเนินคดีอาญาของนักการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ถ้าเป็นการทุจริตบุคคลอื่น เช่น ข้าราชการ ก็ต้องเป็นกฎหมายอีกชุดหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าต่อไปในอนาคตต้องมีการแก้ ถ้ามีการทุจริตต้องใช้กฎหมายในลักษณะเดียวกันหมด
          
ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวเมื่อประกาศใช้แล้ว อย่าคิดว่าสร้างปัญหาให้กับนักการเมือง แต่สร้างปัญหาให้กับผู้ที่ทุจริต ถ้านักการเมืองทุจริต นักการเมืองก็ควรโดนกฎหมายนี้ หรือข้าราชการเองก็ควร แต่ถ้าชาวบ้านทุจริตก็เป็นเพียงผู้สนับสนุน แต่ก็ควรโดนเช่นกัน
          
ด้าน สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า นักการเมืองนั้นเป็นบุคคลสาธารณะ และเป็นอาชีพเดียวที่ทุกคนสมัครใจเข้ามา ไม่มีใครบังคับหรือร้องขอ ดังนั้นเมื่อตั้งใจอาสาสมัครเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้แล้วก็ต้องยอมรับ
          
ทั้งนี้ นักการเมืองถูกเพ่งเล็งจากสังคม ถูกจับตามองจากสังคม ฉะนั้นต้องทำตัวให้สมกับคนที่คาดหวัง และสายตาที่มองดูนักการเมืองด้วยความเคลือบแคลงสงสัย ฉะนั้น กฎ กติกาใดก็แล้วแต่ที่ออกมา คนที่ตัดสินใจจะเดินบนเส้นทางทางการเมืองต้องยอมรับกับสิ่งนั้น จะมาอ้างหรือปฏิเสธไม่ได้ เพราะทุกคนรู้อยู่แล้ว
          
"ถ้าจะไม่เป็นนักการเมืองก็ไม่มีใครว่า เมื่อสมัครเข้ามาเอง และสังคมเคลือบแคลง มองด้วยสายตาไม่ไว้วางใจ จึงตั้งกติกามาสูงขนาดนี้ ถ้าหากคิดว่ารับไม่ได้ก็ไม่ต้องเข้ามาเล่นการเมือง เมื่อคิดเข้ามาแล้วก็ต้องทำตัวให้สอดรับกับกฎหมายที่จะออกมา ดังนั้นนักการเมืองควรพึงสังวร กติกาและบทลงโทษแบบนี้ ต้องระมัดระวังตัวในข้อที่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย"
          
อย่างไรก็ดี แม้ส่วนตัวจะเห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว แต่ก็ไม่อยากให้มีผลย้อนหลัง เพราะกฎหมายที่ออกมาต้องใช้กับอนาคต ใช้กับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น การออกกฎหมายแล้วมาย้อนหลังว่าเมื่อไหร่ถึงเมื่อไหร่ นั่นแสดงให้เห็นถึงเจตนาไม่สุจริต แม้วางกฎหมายออกมาให้สุจริต